คุยกับทูต | แร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน การใช้ชีวิตอย่างสมดุลของนักการทูตดัตช์ (3)

ประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ ร่วมกันบริหารจัดการน้ำและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและการระบายน้ำในเขตเมือง อย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

“หลังการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทวิภาคีของเรายังคงเข้มข้นยิ่งขึ้นผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ เช่น การจับคู่ B2B (Business-to-Business) เป็นการทำธุรกิจระหว่างคู่ค้าธุรกิจด้วยกันเอง เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจในด้านต่าง ๆ การสัมมนาผ่านเว็บ การประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการเดินทางไปเยือนเนเธอร์แลนด์ของคณะผู้แทนไทยเพื่อเยี่ยมชมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และในทำนองเดียวกันกับเนเธอร์แลนด์”

นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย ชี้แจงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เราจัดชุดการสนทนาเกี่ยวกับน้ำโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเวทีสำหรับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำหรับการออกแบบและวางผังเมืองให้มีความยืดหยุ่นสูง สามารถใช้งานได้หลายประเภทและแนะนำเทคโนโลยีน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมของเนเธอร์แลนด์ให้แก่บริษัทน้ำในไทย”

“นอกจากนี้ เรายังจัดชุดการประชุมเกี่ยวกับปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยเมื่อสัปดาห์ก่อน สถานเอกอัครราชทูตได้ร่วมจัดการประชุมน้ำของสหประชาชาติปี 2023 (UN 2023 Water Conference) ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Resident Coordinator in Thailand) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ONWR)

“สำหรับความร่วมมือในอนาคต เราจะมุ่งเน้นไปที่การรับมือน้ำท่วมในเขตเมือง (ร่วมกับ กทม.) การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีน้ำเพื่ออุตสาหกรรม/โครงการนำร่องทดสอบ (กับสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) การวิจัยและการสกัดกั้นพลาสติกในแม่น้ำ (อำนวยความสะดวกในความร่วมมือที่แยกออกจากองค์กร The Ocean Cleanup กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ กทม.

นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย

ด้านการลงทุนโดยตรงจากประเทศเนเธอร์แลนด์

“เนเธอร์แลนด์ยังคงเป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรปในประเทศไทย ตามสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับสถานะการลงทุนสะสมของประเทศไทย การลงทุนโดยตรงจากเนเธอร์แลนด์มายังประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 (ข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่) อยู่ที่ 16.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 6.2% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด ในประเทศไทยและ 55.4% จากสหภาพยุโรป”

“จากข้อมูลที่เราทราบ บริษัทเนเธอร์แลนด์ที่ลงทุนในไทยอยู่ในภาคส่วนต่างๆ เช่น อาหาร-เกษตร เคมีภัณฑ์ เซมิคอนดักเตอร์ โลจิสติกส์ และพลังงาน รวมถึงธุรกิจบริการ เช่น การให้คำปรึกษา”

“บริษัทสัญชาติดัตช์ที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในประเทศไทย ได้แก่ AkzoNobel, Corbion Purac, DSM, East-West Seed, FrieslandCampina (แบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย), Heineken, NXP, Trouw Nutrition และ Vopak (บริษัทร่วมทุนของ Thai Tank Terminal ในประเทศไทย) ในภาคการเงิน ING ยังคงเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb)”

“โมเดลเศรษฐกิจเชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทยยังสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นความร่วมมือมากขึ้นในด้านยุทธศาสตร์ของ BCG เช่น เกษตรกรรมยั่งยืนและอาหารในอนาคต, การจัดการน้ำสำหรับเมืองที่ฟื้นตัวได้/เมืองสีเขียว, การจัดการขยะ และพลังงานหมุนเวียน”

นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย

ความสำเร็จของเนเธอร์แลนด์ในการเข้าร่วมงานวิฟ เอเชีย (VIV Asia 2023) ที่กรุงเทพฯ

หลังจากที่ห่างหายไปถึง 4 ปี งาน VIV Asia ก็ได้ถูกจัดขึ้นอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นครั้งแรกที่ร่วมกันกับงาน Meat Pro Asia ทำให้งานแสดงสินค้าครั้งนี้เป็นงานที่ครอบคลุมตั้งแต่อาหารสัตว์จนถึงอาหารเพื่อการบริโภคที่สมบูรณ์แบบที่สุดในเอเชีย โดยผู้เข้าร่วมงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากทั่วโลก มารวมตัวกันเพื่อพบปะและเจรจาธุรกิจกันในงาน ระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคมที่ผ่านมา

“ท่ามกลางผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า 1,200 ราย มีบริษัทเนเธอร์แลนด์ 70 แห่งจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ สัตวแพทย์และสุขภาพสัตว์ อุตสาหกรรมโปรตีนจากสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาจัดแสดงที่งาน VIV Asia 2023 ในกรุงเทพฯ”

“เนเธอร์แลนด์จัดแสดงนวัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับระบบโปรตีนจากสัตว์ที่คืนสภาพได้ภายใต้แรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก”

“ความรู้และประสบการณ์ของชาวดัตช์มีความสำคัญต่อความร่วมมือมากขึ้นในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในห่วงโซ่คุณค่าโปรตีนจากสัตว์ ผลที่ได้คือ ผู้เข้าชมกว่า 140 คนได้ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อเข้าร่วม Netherlands – Asia Inspiration Forum”

“ทั้งนี้ ภาคปศุสัตว์ของเนเธอร์แลนด์ยังคงร่วมมือและเชื่อมโยงพันธมิตรทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น ไม่เพียงแต่เพื่อระบบโปรตีนจากสัตว์ที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโปรตีนทางเลือกจากสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) คือสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เป็นความมั่นคงทางอาหารของโลก”

ตัวอย่างกิจกรรมที่จัดโดยสถานทูต

“ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ มีการจัดกิจกรรมมากมาย เช่น กิจกรรมทางสังคมสำหรับชุมชนชาวดัตช์ เราจัดงานให้กับชุมชนธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเกษตรโดยเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจทั้งชาวไทยและชาวดัตช์ กิจกรรมสำหรับศิษย์เก่าไทย งานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เช่น การประชุมโต๊ะกลมเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก และอื่นๆ”

ไทย-เนเธอร์แลนด์ เดินหน้าความสัมพันธ์ทุกระดับ เป็นการเพิ่มพูนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการค้าการลงทุน โลจิสติกส์ การเกษตร

“เรามีความสัมพันธ์ทวิภาคีมาอย่างยาวนานในทุกมิติ และจะครบรอบ 420 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้า 2024 แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้มีการตัดสินใจแนวทางการปฏิบัติที่จะมีความแตกต่างจากปกติในปีก่อนๆ หรือไม่ โดยยังจะต้องมีการปรึกษาหารือกับกรุงเฮก และกระทรวงการต่างประเทศไทยต่อไป”

สําหรับผู้ที่สนใจอยากมีอาชีพเป็นนักการทูต ท่านทูตมีคำแนะนำว่า

“ผมคิดว่าทุกอาชีพขึ้นอยู่กับแรงจูงใจและความสนใจของตนเองเป็นหลัก ผมมักจะแนะนำให้อยู่ใกล้ชิดกับนักการทูตและพัฒนาคุณสมบัติของตนเอง รู้จุดอ่อนและสร้างจุดแข็งของตน ซึ่งฟังดูง่ายมาก”

“แต่จากประสบการณ์ของผมคือ คนจำนวนมากยังคงให้ความสำคัญกับพื้นที่ปลอดภัยมากเกินไป จึงไม่มีความกล้าพอ อาจเรียกว่าเจียมเนื้อเจียมตัว”

“อีกมุมหนึ่งซึ่งยังคงยากที่จะมีอิทธิพลก็คือ การตระหนักถึงโอกาสในการไปสู่อาชีพที่เรามุ่งหวัง ผมจึงขอแนะนำให้สร้างความสัมพันธ์แบบเป็น Networking ที่เริ่มจากศึกษาตัวเองและผู้อื่นก่อนว่าเราสามารถเลือกเรื่องอะไรในการเข้าหาเขาได้บ้าง ในขณะเดียวกันก็พยายามมองหาพันธมิตรที่สามารถให้การสนับสนุน”

“และปฏิบัติแบบเดียวกัน เมื่อมีผู้ต้องการให้เราสนับสนุนช่วยเหลือ”

ความมุ่งมั่นของเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

“ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานทูตในงานด้านการเมือง เพราะจากมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในทวีปเอเชีย”

“ขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงแล้ว เราคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจะกลับมา โดยได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ในประเทศ และส่วนหนึ่งมาจากการผงาดขึ้นของจีนในฐานะมหาอำนาจโลก สถานการณ์ปัจจุบันในเมียนมา ทำให้ทุกคนกังวล รวมทั้งในเนเธอร์แลนด์ด้วย”

“นอกจากนี้ ผมต้องการแน่ใจว่า ได้ให้บริการด้านกงสุลที่ดีแก่ชุมชนชาวดัตช์ในประเทศไทย ทั้งทางดิจิทัลและด้วยตนเอง เช่น การขยายการใช้เคาน์เตอร์บริการเคลื่อนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวดัตช์ที่มีอายุมากไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพียงเพื่อเซ็นเอกสารอีกต่อไป”

“ที่แน่นอนคือ ผมต้องการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของเราทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อเรื่อง การจัดการอาหาร-เกษตร และน้ำ” •

 

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin