ศรีรามกฤษณะ ปรมหงส์ : พระเจ้านั่นหรือก็คือแม่! (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“สาวกผู้เรียกหาพระเจ้าในขณะที่ยังใช้ชีวิตทางโลก นั่นคือวีรชนโดยแท้… จงใช้ชีวิตในโลกดังเช่นมด โลกนี้มีส่วนผสมของทั้งสัจจะและความลวงดั่งเช่นทรายและน้ำตาล จงเป็นมดที่เลือกแต่น้ำตาล, เช่นเดียวกัน โลกนี้ก็ดุจนมผสมกับน้ำ ผสมกันระหว่างจิตสำนึกรู้พระเจ้าอันเป็นบรมสุขกับความสุขทางผัสสะ จงเป็นเช่นหงส์อันอาจแยกนมและน้ำออกจากกันได้”

ศรีรามกฤษณะ ปรมหงส์

 

ชาวอินเดียโบราณเชื่อว่าหงส์เป็นสัตว์พิเศษ สามารถแยกนมออกจากน้ำที่ผสมกัน

ดังนั้น หงส์จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณที่สามารถแยกความจริงออกจากความไม่จริง เป็นสัญลักษณ์แห่งผู้ตื่นรู้

นักบวชในลำดับสูงสุดของฮินดูจึงมีสมัญญานามห้อยท้ายว่า ปรมหงส์/บรมหงส์ บ้างก็เขียนว่า ปรมหังสา

คทาธร ฉัตโตปาธยาย (Gadadhar Chattopadhyaya) เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่ยากจนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1836 ในเขตฮุคลี (Hoogli) แคว้นพังคละหรือเบงกอลตะวันตก (West Bengal) ถิ่นฐานอันนิยมบูชาเจ้าแม่กาลีอย่างแพร่หลาย

เจ้าที่ดินผู้ไร้ยางอายโกรธแค้นที่บิดาของเขาไม่ยอมเบิกความเท็จเพื่อช่วยตน จึงยึดเอาที่ดินอันเป็นมรดกบรรพบุรุษไปสิ้น ครอบครัวของคทาธรจึงลำบากยากจนมาตั้งแต่นั้น

เหตุว่าครอบครัวของเขานับถือพระรามเป็นเทพประจำตระกูล บุตรชายของบ้านจึงมีนามเกี่ยวข้องกับพระรามทั้งสิ้น

พี่ชายทั้งสองของคทาธรมีชื่อว่ารามกุมารและราเมศวร

ส่วนตัวของเขามีอีกชื่อว่ารามกฤษณะ และจะได้รับการยกย่องเป็น “ศรีรามกฤษณะ ปรมหงส์” (Shri Ramakrishna Paramahansa) ในภายหลัง

 

แม้จะลำบากยากแค้น แต่รามกฤษณะก็ได้รับการศึกษาเท่าที่จะเป็นไปได้ในหมู่บ้านชนบท ทั้งจากบ้านและโรงเรียน รามกฤษณะไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์แต่สนุกกับการอ่านหนังสือทางศาสนาและวิชาศิลปะ

อีกทั้งเขารู้สึกเบื่อหน่ายโรงเรียนซึ่งมีแต่ครูผู้สนใจเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ จนท้ายที่สุดก็กลับมาอยู่บ้านเพื่อเรียนวิชาทางศาสนา เช่น การสวดท่องปุราณะและพิธีกรรมตามขนบพราหมณ์

เมื่ออายุเพียงเจ็ดขวบ รามกฤษณะได้รับประสบการณ์ทางจิตเป็นครั้งแรกขณะกำลังเดินอยู่บนคันนา ปากก็เคี้ยวข้าวพองเล่นไปด้วย เขาเดินข้ามทุ่งซึ่งทำให้ฝูงนกกระเรียนสีขาวตกใจและพากันทะยานไปบนท้องฟ้าอันปกคลุมด้วยเมฆฝนดำมืด ภาพอันงดงามนั้นทำให้รามกฤษณะรู้สึกดื่มด่ำมากเสียจนหมดสติไปทันที ชาวบ้านที่ผ่านมาเห็นต่างช่วยหามเขากลับบ้าน

ด้วยความยากจน รามกุมารพี่ชายต้องเข้าเมืองใหญ่ไปสอนภาษาสันสกฤตในกัลกาตาหรือโกลกาตา (Kolkata) และได้รับการชักชวนให้ไปเป็นพราหมณ์ประจำเทวาลัยทักษิเณศวรที่สร้างขึ้นใหม่โดยเศรษฐินีใจบุญรานี รัศโมนี (Rani Rashmoni) ผู้เป็นสาวกที่ศรัทธาในพระแม่กาลีเป็นอย่างยิ่ง

เขาจึงชักชวนให้รามกฤษณะมาเป็นพราหมณ์ประจำเทวาลัยนี้ด้วยกัน แต่รามกฤษณะโต้แย้งพี่ชายว่า “บิดาของเราไม่เคยประกอบพิธีกรรมให้ผู้มีวรรณะต่ำกว่า ก็รานีรัศโมนีเป็นคนวรรณะแพศย์ เราจึงไม่ควรมาเป็นพราหมณ์ประจำเทวาลัยของเธอ” ทว่าพี่ชายก็เอาชนะความคิดนี้ของรามกฤษณะได้

เหตุนี้แล เทวาลัยทักษิเณศวรจึงเปิดรับผู้คนทุกชนชั้นวรรณะและทุกชาติทุกภาษามาตั้งแต่นั้น

 

รามกุมารต้องการให้รามกฤษณะประกอบพิธีบูชาพระแม่กาลีอย่างเหมาะสมตามขนบแห่งผู้บูชาเจ้าแม่ จึงให้เกนะราม ภัฏฏาจารย์มาอภิเษกพิธีกรรมให้ ท่านเกิดประสบการณ์ลึกลับทางจิตอีกครั้งเมื่อได้รับการถ่ายทอดมนต์ และแม้จะกำเนิดในครอบครัวที่ศรัทธาพระราม แต่ความรักภักดีที่มีต่อเจ้าแม่กาลีก็ค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ

ชีวิตในเทวาลัยโดยมากก็ใช้ไปในการปรนนิบัติพระเป็นเจ้า ประกอบพิธีบูชาตามเวลา นอกนั้นก็ใช้ไปเพื่อการศึกษาเรียนรู้ ในขณะที่ปฏิบัติงานเป็นปูชารี ท่านยังได้เรียนวิชาความรู้ในทางจิตวิญญานกับครูอีกหลายท่าน เรียนเวทานตะจากนักบวชชื่อโตฏะ คิริ เรียนตันตระและการทำสมาธิจากนักบวชหญิงไภรวี พราหมณี เรียนหลักไวษณวะจากชฎาธรี และยังได้เรียนรู้ศาสนาอิสลามซูฟีรวมทั้งคริสต์ศาสนาซึ่งแพร่หลายโดยชาวตะวันตกในสมัยนั้นอีกด้วย

รามกฤษณะแต่งงานกับศรทามณี มุกโขปาธยาย (รู้จักกันในชื่อศรทาเทวี) เมื่อเธออายุได้เพียงห้าปี ซึ่งเป็นคตินิยมของชาวพังคลีในตอนนั้น แต่กว่าที่ทั้งคู่จะได้อยู่ด้วยกันจริงๆ ศรทาก็มีอายุได้สิบสี่ปีและรามกฤษณะมีอายุสามสิบสองปีแล้ว

ศรีรามกฤษณะ ปรมหงส์

ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่เข้มข้นทำให้รามกฤษณะดูประหลาดในสายตาคนทั่วไป ท่านมักมีนิมิตถึงเทพเจ้าซึ่งทำให้หมดสติหรือทำอะไรแปลกๆ ท่านเห็นภาวะของเทพปรากฏอยู่ในคนธรรมดาๆ แม้แต่กับตัวศรทาเอง ภายหลังจากที่ได้บรรลุสภาวะศักดิ์สิทธิ์บางอย่างแล้ว รามกฤษณะมักบูชาศรทาเฉกเช่นเดียวกับที่บูชาเทวรูปและเรียกเธอว่าแม่

เมื่อศรีรามกฤษณะสิ้นชีวิต ศรทาเทวีได้ทำหน้าที่ผู้นำทางจิตวิญญานต่อจากท่าน

ความศรัทธาภักดีที่เร่าร้อน ทำให้ท่านปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้พบกับพระแม่กาลี ได้ทอดทัศนาพระแม่เจ้าด้วยตาตนเอง ความโหยหานี้ช่างรุนแรงและทรมานจิตใจของรามกฤษณะอยู่ตลอดเวลา

ทุกวันหลังพิธีบูชาเสร็จสิ้นลง รามกฤษณะจะนั่งดื่มด่ำในศรัทธาภาวะอยู่ทั้งวัน พอตกกลางคืนก็จะออกไปยังป่าใกล้ๆ เทวาลัย นอนเกลือกกลิ้งที่พื้นร้องไห้คร่ำครวญขอให้พระแม่มาปรากฏต่อหน้า และกลับเทวาลัยในตอนเช้าด้วยดวงตาที่บวมเป่งจากการร้องไห้ตลอดคืน

บางครั้งรามกฤษณะก็ทำสมาธิระลึกถึงพระแม่เจ้า แต่แทนที่จะนุ่งห่มอย่างเรียบร้อย ท่านกลับถอดเสื้อผ้าจนเปลือยเปล่ารวมทั้งถอดสายยัชโญปวีตของพราหมณ์ออกด้วย หลานชายของรานี รัศโมนีผู้มาเห็นเข้าโดยบังเอิญจึงถามด้วยความสงสัยว่าเหตุใดจึงทำเช่นนั้น

รามกฤษณะตอบว่า การจะระลึกถึงพระเจ้าควรที่จะต้องละทิ้งการยึดมั่นถือมั่นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความโลภโกรธหลง หรือความทระนงตนในฐานะพราหมณ์ (สายยัชโญปวีตจึงถูกทอดออก) และดุจดั่งบุตรที่เรียกหาแม่ของตนอย่างจดจ่อโดยไม่ไยดีต่อสิ่งอื่นใด

แม้จะดูแปลกประหลาด แต่รานี รัศโมนี กลับเห็นว่า ปูชารีคนนี้แหละที่มีคุณสมบัติพิเศษ สักวันเขาจะต้องเข้าถึงพระเป็นเจ้าอย่างแน่นอน

 

แล้ววันที่รามกฤษณะรอคอยก็มาถึง การบำเพ็ญตนและคร่ำครวญอย่างยาวนานไม่มีผลใดๆ ท่านกำลังสิ้นหวังที่จะได้พบพระแม่เจ้า เมื่อหันไปเห็นดาบที่แขวนอยู่ในเทวาลัยก็รู้สึกอยากใช้ดาบนั้นฆ่าตัวตายให้พ้นไปจากความทุกข์ทรมานนี้เสียที

ขณะที่วิ่งไปเพื่อคว้าดาบนั้นมาบั่นคอตนเอง นิมิตแห่งพระแม่กาลีได้ปรากฏขึ้นในรูปกระแสธารแสงสว่างอันเจิดจ้าไร้ขอบเขต โลกและสรรพสิ่งมลายหายไปเหลือเพียงจิตสำนึกรู้บริสุทธิ์ ความปีติไม่มีใดเปรียบเกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

รามกฤษณะตระหนักแน่แก่ใจว่า สภาวะนี้จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากพระแม่กาลี พระเป็นเจ้าในรูปอิตถีภาวะอันยิ่งใหญ่สูงสุด คือพรหมันในเวทานตะ คือพระปรมาตมัน คือพระเจ้า คืออะไรก็ตามที่เราใช้เรียกสิ่งสูงสุดที่ต่างไปโดยกรอบเกณฑ์แห่งภาษา ท่านกู่ร้องตะโกนอย่างสุดเสียง “มา!” ซึ่งแปลว่าแม่ในภาษาพังคลีนั่นเอง

“พระศักตินั้นซึ่งก็คือพรหมัน มีทั้งรูปปรากฏและไร้รูปปรากฏเช่นกัน มีทั้งคุณสมบัติและปราศจากคุณสมบัติ ศักติคือพรหมันและพรหมันคือศักติ (โดยความจริง) ไม่เป็นสอง นี่เป็นเพียงมุมมองที่ต่างกันสองอย่างเท่านั้น ชายและหญิงล้วนมาจากสัจธรรมเดียวกัน ซึ่งคือสิ่งอันดำรงอยู่ เป็นความรู้แท้และเป็นบรมสุข (สัจจิทานันทะ)”

 

การเกิดนิมิตในครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่าน รามกฤษณะยังคงฝึกฝนทางจิตวิญญานในทุกๆ สายการปฏิบัติที่เรียนรู้มา งานในเทวาลัยก็ยังคงทำต่อไป แต่บัดนี้พระแม่กาลีไม่ได้แยกออกจากหัวใจและโสตประสาทของท่านอีกแล้ว ท่านสามารถเห็นพระแม่กาลีในสิ่งต่างๆ โดยถ้วนทั่ว ไม่จำเพาะเวลาและสถานที่

นอกจากนี้ พระแม่เจ้ายังปรากฏในรูปเทพเจ้าอื่นๆ และพระเป็นเจ้าในศาสนาต่างๆ ในนิมิตที่แจ่มชัด ท่านมีนิมิตถึงพระเยซู นบีมูฮัมหมัด เทพเจ้าอื่นๆ ของฮินดู

การพูดถึงเรื่องเหล่านี้ทำให้คนในศาสนานั้นๆ มักโจมตีว่าเป็นพวกให้คำสอนนอกรีต แต่รามกฤษณะก็มิได้สนใจ

การเห็นพระเจ้าในทุกสิ่งทำให้ท่านยิ่งดูมีพฤติกรรมเหมือนคนบ้ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ผู้เขียนคุ้นๆ ว่าเคยเห็นท่านพุทธทาสภิกขุเขียนวิจารณ์ศรีรามกฤษณะว่าเหมือนคนบ้ามาแล้ว

มิไยต้องกล่าวถึงคนร่วมสมัย รามกฤษณะก็กล่าวเองว่า “บางครั้งปรมหงส์ก็มีความประพฤติเหมือนคนบ้า เมื่อฉันมีประสบการณ์แห่งความบ้าอันเป็นทิพย์ (divine madness) ฉันมักจะบูชาอวัยวะเพศของตนเองเป็นพระศิวลึงค์ แต่ในบัดนี้ฉันไม่สามาถทำเช่นนั้นแล้ว”

เป็นการยากที่เราจะเข้าใจประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของใครสักคน และนั่นก็ยิ่งยากขึ้นหากต้องตัดสินให้ค่าประสบการณ์เหล่านั้น ในทางกลับกัน ประสบการณ์ที่แปลกประหลาดของรามกฤษณะมาพร้อมคำสอนที่แหลมคมชี้ตรงไปยังใจคน ชื่อเสียงของท่านก็ค่อยๆ แผ่ขยายออกไป

และชักนำเหล่าผู้สงสัยใคร่รู้ มา “ลองของ” จำนวนหนึ่ง •

 

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง