รูปแบบของประชาธิปไตย

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

รูปแบบของประชาธิปไตย

 

เป็นปกติวิสัยนานมาแล้วที่กลเม็ดวาทกรรมอย่างหนึ่งในการเคาะคิดประเด็นปัญหาต่างๆ ได้แก่ แบ่งมันออกเป็น “รูปแบบกับเนื้อหา” (form & content)

จะว่าไปการจำแนกรูปแบบกับเนื้อหาของสิ่งหนึ่งจากกันก็เป็นกุศโลบายช่วยกระตุ้นการวิเคราะห์วิจารณ์ให้มองสิ่งนั้นหลายด้านยิ่งขึ้นอยู่

แต่ในแง่กลับกันมันอาจเป็นตัวหยุดชะงักการขบคิดเจาะลึกหรือมองกว้างออกไปก็ได้

เหมือนสำนวนคำสั่งราชการว่า “เพื่อความเหมาะสม” การแบ่ง “รูปแบบกับเนื้อหา” อาจกลายเป็นคาถาสะกดการคิด (thought-terminating clich? or thought-stopper https://prowritingaid.com/thought-terminating-cliche) ที่ท่องบ่นแล้วผู้คนพากันนะจังงังหยุดเถียงหยุดถาม หายอึดอัดขัดข้องสงสัยแล้วพึมพำว่า…เออ ใช่ว่ะ

ผมคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาระหว่างอ่านหนังสือ วิวาทะสองปัญญาชนอาวุโส แก่นสารของประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่ (เสมสิกขาลัย, 2564) ซึ่งบันทึกการเสวนาในรายการ Intelligence ของ Voice TV ระหว่างอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในประเด็นปัญหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 8-9 มีนาคม 2557 ขณะบ้านเมืองร้อนระอุด้วยการชุมนุมปิดเมือง-ขวางการเลือกตั้งของ กปปส. ก่อนรัฐประหาร คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไม่นาน

แล้วคณะผู้ซักถาม-บรรณาธิการถอดเทปบันทึกให้อาจารย์ทั้งสองตรวจทานและสอบถามเพิ่มเติมเมื่อปี 2563 จนจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มออกมา

การจำแนกรูปแบบกับเนื้อหาของประชาธิปไตยออกจากกันเป็นหัวข้อหลักหนึ่งในการเสวนาท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองร้อนลวกใจ และถึงแม้ว่าอาจารย์ทั้งคู่จะยอมรับว่าถึงที่สุดแล้วไม่อาจแยกขาดรูปแบบกับเนื้อหาของประชาธิปไตยออกจากกัน ทว่า ในสถานการณ์คับขันเดือดพล่านตอนนั้น อาจารย์ทั้งสองวางน้ำหนักต่างกัน กล่าวคือ (ประมวลสรุปจาก วิวาทะสองปัญญาชนอาวุโสฯ, น.22-45) :

อาจารย์สุลักษณ์เห็นว่าแม้รูปแบบจะจำเป็นและทิ้งไม่ได้ แต่เนื้อหาสำคัญกว่า อย่าให้ความสำคัญกับรูปแบบบางอย่างเช่นการเลือกตั้งมากเกินไป ต้องกล้าแหวกออกไปจากรูปแบบปกติ

ส่วนอาจารย์นิธิกลับเห็นตรงข้ามว่าในสถานการณ์ตอนนั้นต้องรักษารูปแบบประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญเอาไว้เพื่อเป็นฐานที่มั่นและจุดเริ่มต้นที่ประชาชนจะขยายอำนาจต่อรองประชาธิปไตยของตนเองต่อไป

ผมเห็นว่าเราอาจเริ่มคลี่คลายคาถาสะกดการคิดนี้ได้โดยตั้งคำถามกวนสมองผ่ากลางปล้องไปเลยว่าแล้วอะไรคือเนื้อหาสาระของรูปแบบประชาธิปไตย? หรือถามในทางกลับกันว่า อะไรหรือคือรูปแบบของเนื้อหาสาระประชาธิปไตยที่ว่า?

 

ในบทที่ 7 “ประชาธิปไตยกับความเสมอภาค” ของหนังสือเสรีนิยมกับประชาธิปไตย โดย นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ นักทฤษฎีการเมืองสังคมนิยมชาวอิตาลี (1909-2004, ต้นฉบับภาษาอิตาลีชื่อ Liberalismo e democrazia, 1988) เขาแบ่งธรรมเนียมคิดเรื่องประชาธิปไตยตะวันตกออกเป็น :

– ประชาธิปไตยเชิงรูปแบบ ที่เน้นด้านกฎกติกากระบวนการและสถาบัน หรือนัยหนึ่งด้าน “โดยประชาชน” ของประชาธิปไตย ซึ่งไปกันได้กับแนวคิดเสรีนิยม กับ

– ประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา ที่เน้นด้านอุดมคติหรือจริยธรรมแบบสมภาคนิยม (egalitarianism) หรือนัยหนึ่งด้าน “เพื่อประชาชน” ของประชาธิปไตย ซึ่งขัดแย้งไปกันไม่ได้กับแนวคิดเสรีนิยม ค่าที่แนวคิดสมภาคนิยมมองความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสังคมแบบครอบคลุมเบ็ดเสร็จ กลมกลืนและเอกนิยม ขณะที่แนวคิดเสรีนิยมมองความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสังคมแบบปัจเจกนิยม ขัดแย้งและพหุนิยม

ก็แลเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยเชิงรูปแบบดังกล่าวคือการลดทอนสมภาคนิยมของประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาลงมาเหลือแค่ระดับ “ความเสมอภาคในสิทธิที่จะมีเสรีภาพ” (equality in the right to liberty) ซึ่งเป็นความเสมอภาคชนิดที่ช่วยให้ประชาธิปไตยเชิงรูปแบบประกบประกอบไปกันได้กับเสรีนิยม กลายเป็นระบอบที่เราเรียกในปัจจุบันว่า “เสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy)

โดยที่ “ความเสมอภาคในสิทธิที่จะมีเสรีภาพ” ดังกล่าวประกอบด้วย ก) ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย (equality before the law) และ ข) ความเสมอภาคแห่งสิทธิ (equality of rights)

แปลง่ายๆ คือทันทีที่คุณระงับหรือแหวกประชาธิปไตยเชิงรูปแบบออกไป คุณก็กำลังละทิ้งความเสมอภาคในสิทธิที่จะมีเสรีภาพของผู้คนพลเมือง ปล่อยให้พวกเขาไม่เสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมาย และไม่เสมอภาคกันทางสิทธิ

ซึ่งก็คือสภาพจริงของความไม่เสมอภาคและสิทธิเสรีภาพที่เหลื่อมล้ำกันของพลเมืองไทยภายใต้ คสช.นั่นเอง!

(ดูกรณีตัวอย่างรูปธรรมในโพสต์เฟซบุ๊กของคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แห่งพรรคก้าวไกลเรื่อง “20 เหตุการณ์ที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเอง นี่หรือแผ่นดินงดงามที่คืนกลับมา”, 27 มีนาคม 2566)

 

นอกจากนี้ ประชาธิปไตยเชิงรูปแบบยังสำคัญตรงที่ทำให้ “ชาติ” พูดได้ บอกกล่าวความเรียกร้องต้องการและเจตจำนงทางการเมืองของ “ชาติ” ออกมาดังๆ ให้ผู้มีอำนาจได้ยินได้ว่าคืออะไรและต้องการจะมุ่งไปทางใด

แตกต่างจากชุมชนหมู่บ้านเล็กย่อมในสมัยโบราณซึ่งมีจำนวนผู้คนและขนาดอันอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินชีวิตรวมหมู่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) เพื่อตัดสินใจกำกับดูแลกิจการส่วนรวมร่วมกันได้ รัฐชาติสมัยใหม่โดยปกติทั่วไปมีประชากรและขนาดใหญ่โตเกินกว่าจะสามารถกำหนดรู้เจตจำนงของคนในชาติโดยใช้ประชาธิปไตยทางตรงเป็นประจำสม่ำเสมอ

แค่จินตนาการว่าจะหาที่ประชุมแห่งไหนรูปแบบใดมารองรับพลเมืองไทยผู้มีสิทธิ 52 ล้านคนใน 77 จังหวัดโดยพร้อมเพรียงกันก็ปวดขมับแล้ว (https://thestandard.co/check-the-number-of-voters-in-2566/)

การทำโพลความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างในหมู่ประชาชนก็มีข้อจำกัดที่ไม่อาจครอบคลุมได้ทั่วถึงในทำนองเดียวกัน บ่อยครั้งในทางปฏิบัติ สังคมการเมืองในรัฐชาติหนึ่งๆ จึงมักถูกพูดแทนโดยผู้นำบารมีซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือไว้เนื้อเชื่อใจของคนในชาติว่าเป็นตัวแทนความคิดจิตใจและผลประโยชน์ของตนโดยไม่จำต้องมาจากการเลือกตั้งเสมอไป เช่น มหาตมะคานธีแห่งอินเดีย เป็นต้น

กระบวนการ/สถาบันการเมืองสมัยใหม่ที่ถูกใช้มาแสวงหาเจตจำนงของคนในชาติ ให้เป็นตัวแทนเปล่งเสียงพูดแทน “ชาติ” ได้ก็คือการเลือกตั้งอันเป็นประชาธิปไตยเชิงรูปแบบนั่นเอง ดังที่บ๊อบบิโอบรรยายไว้อย่างแยบยลพิสดารชวนคิดว่า “ชาติ” เสมือนเกิดขึ้นในหีบบัตรเลือกตั้งว่า (น.44) :

“การที่รัฐบรรษัทสูญสลายไปทำให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีเสรีภาพในลักษณะเฉพาะและความเป็นอิสระของตนเอง : ปัจเจกบุคคลนี่เองต่างหากที่รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้เลือกผู้แทนของชาติ หาใช่สมาชิกบรรษัทใดๆ ไม่

ในทางกลับกัน บรรดาผู้ได้รับเลือกตั้งก็ถูกเรียกร้องโดยปัจเจกบุคคลเฉพาะทั้งหลายที่เลือกพวกเขามาให้แทนตนชาติโดยรวม และดังนั้น พวกเขาจึงต้องกำหนดวิถีปฏิบัติและการตัดสินใจของตัวโดยปลอดอาณัติใดๆ

“ถ้าหากประชาธิปไตยสมัยใหม่หมายถึงประชาธิปไตยแบบแทนตน และถ้าหากแก่นสารของประชาธิปไตยแบบแทนตนอยู่ตรงบรรดาผู้แทนของชาติมิได้ติดค้างขึ้นต่อปัจเจกบุคคลเฉพาะที่พวกเขาเป็นตัวแทนหรือผลประโยชน์เฉพาะของปัจเจกบุคคลเหล่านั้นโดยตรงแต่อย่างใดแล้วละก็ ประชาธิปไตยสมัยใหม่ย่อมตั้งอยู่บนฐานคติเรื่องการแตกตัวของชาติเป็นอณูและการประกอบตัวขึ้นใหม่ของอณูเหล่านั้นอีกในระดับหนึ่ง ซึ่งได้แก่ระดับสมัชชาสภาผู้แทนที่ทั้งสูงกว่าและจำกัดจำเขี่ยกว่าพร้อมกันไป”

(ดูภาพประกอบ)

ภาพจากคลิปเสวนา อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ https://www.youtube.com/watch?v=ecwam7ciegw & หนังสือบันทึกการเสวนา

ฉะนั้น การระงับหรือแหวกประชาธิปไตยเชิงรูปแบบในแง่กระบวนการเลือกตั้ง (อย่างที่ กปปส.ทำต่อการเลือกตั้งทั่วไป 2 กุมภาพันธ์ 2557) ย่อมทำให้ “ชาติ” กลายเป็นใบ้ ถูกปิดปากจนพูดไม่ได้ระบุไม่ออกว่าตนเรียกร้องต้องการอะไร มีเจตจำนงเช่นใด

และสุดท้ายก็ปล่อยให้ผู้นำเผด็จการชุบมือเปิบฉวยริบอำนาจเด็ดขาดอ้างตัวมาพูดแทน “ชาติ” อย่างเบ็ดเสร็จ แบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แห่ง คสช.ทำนั่นเอง

ใต้ภาพ

1-ภาพจากคลิปเสวนา อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ https://www.youtube.com/watch?v=ecwam7ciegw & หนังสือบันทึกการเสวนา