200 ปีวัดรังษีสุทธาวาส ที่ (แทบ) ไม่มีใครรู้จัก (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

200 ปีวัดรังษีสุทธาวาส

ที่ (แทบ) ไม่มีใครรู้จัก (1)

 

หากใครมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมวัดบวรนิเวศวิหาร วัดสำคัญที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ งานศิลปะ และสถาปัตยกรรม ผมอยากชวนให้ทุกท่านเดินเลยไปอีกสักนิด เดินไปให้ถึงบริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า “คณะรังษี”

ภายในพื้นที่นี้ จะมีอาคารอยู่หลังหนึ่งที่คนแถวนั้นเรียกกันว่า “พระอุโบสถคณะรังษี” ซึ่งหากเดินเข้าไปภายในอาคาร เราจะมองเห็นพระพุทธรูปประธานปางสมาธิ ที่มีลักษณะฝีมือช่างอันงดงามมากที่สุดองค์หนึ่ง สันนิษฐานกันว่าคงสร้างขึ้นตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์

ความน่าสนใจของพื้นที่นี้ที่หลายคนคงไม่ทราบคือ พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นวัดอีกวัดหนึ่งชื่อว่า “วัดรังษีสุทธาวาส” ซึ่งตั้งอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศฯ

ที่สำคัญคือ วัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีความเก่าแก่กว่าวัดบวรนิเวศฯ หลายปีเลยทีเดียว โดยสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2366

หากวัดรังษีสุทธาวาสยังมีสถานะเป็นวัดอยู่จนถึงปัจจุบัน ในปีนี้ก็จะมีอายุครบ 200 ปีพอดี

ผมเองมีความสนใจวัดนี้มานานแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งศึกษาเรื่องงานสถาปัตยกรรมในยุคต้นรัตนโกสินทร์ (ในประเด็นว่าด้วยความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิในสมัยรัชกาลที่ 1) และเห็นว่าเป็นวัดที่มีประวัติที่แปลกน่าสนใจมากวัดหนึ่งซึ่งคนทั่วไปไม่น่าจะทราบกันเท่าไร

ดังนั้น เมื่อวัดแห่งนี้มีอายุครบ 200 ปี (แม้ปัจจุบันจะมีสถานะเป็นเพียงคณะหนึ่งของวัดบวรนิเวศฯ แล้วก็ตาม) ผมก็อยากจะเขียนถึงอีกครั้ง เพื่อให้คนที่ไม่รู้จักได้ทราบถึงประวัติและความสำคัญของวัดแห่งนี้ (หากสนใจที่ผมเคยเขียนถึงวัดแห่งนี้ ดูเพิ่มในหนังสือ “สมุดภาพพระอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร”)

พระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระประธานภายในพระอุโบสถวัดรังสี
ที่มาภาพ : เพจ เล่าเรื่อง…วัดบวรฯ

วัดรังษีสุทธาวาส สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 บนพื้นที่ริมกำแพงพระนคร ด้านเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์

ผู้สร้างวัดคือ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

ตามจารึกที่ยังปรากฏอยู่บนผนังพระอุโบสถ วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2366 และใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 6 ปี

เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงเอาใจใส่ในการก่อสร้างวัดนี้มาก ทรงเป็นนายช่างและตรวจตราการสร้างด้วยพระองค์เอง

โดยหลังจากสร้างวัดเสร็จ พระองค์ทรงอาราธนา “พระมหาอยู่” มาเป็นเจ้าอธิการฝ่ายคันถธุระ และ “พระมหานาค” มาเป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสนาธุระ พร้อมทั้งถวายคนไว้เป็นข้าวัดทั้งสิ้น 4 ครัวเรือน การก่อสร้างครั้งนี้สิ้นพระราชทรัพย์ “พันหนึ่งมีเศศ”

วัดรังษีสุธาวาส มีสถานะเป็นวัดมหานิกายขึ้นตรงกับคณะเหนือ ชื่อของวัดมีปรากฏในจดหมายเหตุตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา โดยเขียนแตกต่างกันไปหลายชื่อ เท่าที่พบมีจำนวน 7 ชื่อได้แก่ วัดรังษี วัดรังสี วัดรังสีสุธาวาศ วัดรังศีรสุทาวาศ วัดรังษีรสุธาวาศ วัดรังษีสุธาวาศ และวัดรังษีสุทธาวาส

ภาพแผนผังวัดรังษีสุทธาวาส จาก “แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย” (แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2430) เมื่อครั้งยังมีสถานะของการเป็นวัด

สภาพทางกายภาพของวัดแห่งนี้เมื่อแรกสร้างเป็นอย่างไร เราสามารถสันนิษฐานโดยอ้างอิงจาก “แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย” (แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2430)

แม้ว่าแผนที่ชุดนี้จะจัดทำขึ้นหลังการสร้างวัดถึงราว 64 ปี แต่ก็สันนิษฐานได้ว่า สภาพทางกายภาพที่ปรากฎในแผนที่นี้โดยส่วนใหญ่น่าจะใกล้เคียงกับสภาพเมื่อแรกสร้าง ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้

พื้นที่วัดมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ด้านหน้าวัดหันออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดถนนพระสุเมรุ ทิศตะวันออกติดแนวถนนดินสอ ทิศตะวันตกติดวัดบวรนิเวศฯ ทิศใต้ติดพื้นที่ “ตึกดิน” และบ้านเรือนราษฎรทั่วไป ประตูและถนนหลักของวัดวางตัวในแนวตรงกับประตูเมือง และมีถนนยาวต่อลงไปจนถึงคลองรอบกรุง ซึ่งถนนเส้นนี้คงเป็นทางสัญจรหลักของวัด

พื้นที่ภายในวัดประกอบไปด้วยเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสเหมือนเช่นวัดอื่นๆ ทั่วไป โดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก เป็นเขตพุทธาวาส อยู่ด้านหน้าชิดกับถนนพระสุเมรุ มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ด้าน

ส่วนที่สอง อยู่ทางทิศใต้ เป็นเขตสังฆาวาส

ส่วนที่สาม อยู่ทางตะวันออกของพื้นที่วัดติดกับถนนดินสอ เป็นเขตสังฆาวาสเช่นเดียวกัน

พื้นที่ทั้งสามส่วนถูกแยกออกจากกันด้วยคูน้ำซึ่งเชื่อมต่อถึงกันไปจนถึงคลองรอบกรุง ส่วนแนวด้านที่ติดกับวัดบวรนิเวศฯ ก็มีคูน้ำคั้นเป็นแนวแบ่งเขตวัดเช่นเดียวกัน

 

เขตพุทธาวาส มีอาคารเป็นหลักของวัดอยู่ 4 หลัง คือ พระวิหาร พระอุโบสถซึ่งมีกำแพงแก้วและใบเสมาล้อมรอบ ศาลาการเปรียญ และพระเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่หลังพระวิหาร โดยทั้งหมดถูกล้อมด้วยกำแพงแก้วอีกชั้นหนึ่ง อาคารทุกหลังหันหน้าไปทางหน้าวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

สภาพปัจจุบันคงเหลือเพียง พระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ เท่านั้น ส่วนศาลาการเปรียญถูกรื้อลงไปเมื่อ พ.ศ.2505 เพื่อสร้าง “อาคารกวีบรรณาลัย” ขึ้นแทน

ศาลาการเปรียญที่รื้อไปนั้นจากหลักฐานในหนังสือตำนวนวัดบวรนิเวศฯ ได้กล่าวถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมไว้ว่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน รูปแบบคล้ายพระอุโบสถ หลังคาเป็นกระเบื้องเคลือบแบบจีนเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่พระอุโบสถทำผังเป็นแบบมีเสาระเบียงโดยรอบ ส่วนผนังอยู่ลึกเข้าไปด้านใน แต่ตัวศาลาการเปรียญนี้เป็นอาคารทรงโรงทึบ

น่าสังเกตว่า เขตพุทธาวาสวัดออกแบบแผนผังในลักษณะเน้น 3 แนวแกน โดยวางตำแหน่งพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ ในแนวเรียงหน้ากระดาน เน้นแนวแกนหลักคือแนวพระวิหารและพระเจดีย์ให้เด่นกว่า โดยออกแบบให้ตำแหน่งพระวิหารเยื้องมาทางด้านหน้ามากกว่าพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ

การวางผังแบบ 3 แนวแกนเช่นนี้เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยแบบหนึ่งในวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่น วัดกัลยาณมิตร วัดเทพธิดาราม วัดนางนอง และวัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น

 

จากประวัติความเป็นมา ประวัติผู้สร้างและผู้อุปถัมภ์วัด ตลอดจนงานสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในวัด ดูแล้วก็น่าจะเป็นวัดสำคัญที่ควรจะเจริญเติบโตและคงสถานะของความเป็นวัดได้ตลอดจนถึงปัจจุบันได้อย่างสบายๆ

แต่ในความเป็นจริง กลับไม่เป็นเช่นนั้น วัดแห่งนี้เมื่อล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มพบกับจุดเปลี่ยนที่สำคัญ จนสุดท้าย วัดรังษีสุทธาวาสก็ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรนิเวศฯ

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย มีพระประสงค์ที่จะจัดการศึกษาให้แก่พระภิกษุจากหัวเมืองต่าง ๆ โดยให้เดินทางเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ ณ วัดบวรนิเวศฯ

ด้วยนโยบายนี้ ในปี พ.ศ.2442 พระสาสนดิลก ผู้อำนวยการศึกษามณฑลชุมพร ได้มีโทรเลขแจ้งมายังสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่าจะส่งพระภิกษุเมืองชุมพร 7 รูปเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงมีพระดำริให้พระภิกษุจากชุมพรมาพักที่วัดรังษีสุทธาวาส

เหตุผลคงเนื่องมาจากเป็นวัดที่ใกล้กับวัดบวรนิเวศฯ สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งพระภิกษุจากชุมพรเป็นพระมหานิกาย ดังนั้น การมาพักที่วัดรังษีสุทธาวาสซึ่งเป็นวัดมหานิกายจึงมีความเหมาะสมกว่า

 

จากเหตุเริ่มต้นดังกล่าว (เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปด้วยความสะดวกเรียบร้อย) สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงได้มีรับสั่งถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ณ ขณะนั้น ว่า ทรงมีพระดำริเห็นควรให้วัดรังษีสุทธาวาสที่ขึ้นอยู่กับคณะเหนือ เปลี่ยนมาขึ้นกับวัดบวรนิเวศฯ แทน เพื่อที่จะได้ทรงจัดการด้านการศึกษาของพระภิกษุที่ย้ายเข้ามากรุงเทพฯ ต่อไป

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงได้ทรงนำเรื่องนี้กราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้มีพระราชหัตถเลขาอนุญาต เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2442 ความตอนหนึ่งว่า

“…ควรให้ยกวัดรังษีสุทธาวาศมาขึ้นวัดบวรนิเวศน์ พระเจ้าน้องเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสจะได้ทรงจัดการให้พระเมืองชุมพรได้อาไศรยศึกษาเป็นต้นไป ได้มีพระราชหัตถเลขาสั่งการ…ให้ยกวัดรังษีสุทธาวาศมาขึ้นกับวัดบวรนิเวศน์แล้ว…”

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเมื่อ พ.ศ.2442 คงเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในเชิงการบังคับบัญชาเท่านั้น วัดรังษีสุทธาวาสยังคงมีสถานะเป็นวัดมหานิกายเช่นเดิม

ในช่วงนี้สันนิษฐานว่าความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ใหญ่โตคงยังไม่น่าจะเกิดขึ้นมากนัก มีเพียงเล็กน้อยคือ พ.ศ.2444 มีการสร้างรั้วกั้นเขตพื้นที่วัดรังษีสุทธาวาสส่วนที่ติดถนนดินสอเท่านั้น ซึ่งพระปลัดจรและหมื่นกษัตรศรีศักดิ์เดช มรรคนายกวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยได้ทำรั้วด้วยฝาสังกะสีกั้นเขตยาว 2 เส้น 10 วา สูง 5 ศอก และทำประตูทางเข้าออก 1 ช่อง

ส่วนความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวัดรังษีสุทธาวาสจะเริ่มต้นขึ้นในอีกราวสามปีต่อมา