ตำนานเพลงสาธุการที่หอไตร วัดบางแคใหญ่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถูกปล่อยชำรุดตามยถากรรม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ภายในหอไตร วัดบางแคใหญ่ ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีภาพจิตรกรรมฝาผนังงามๆ อยู่หลายภาพ

โดยหนึ่งในบรรดาภาพเขียนยุคต้นกรุงเทพฯ เหล่านี้มีอยู่ภาพหนึ่งแสดงรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่บนเศียรรูปบุคคล จึงได้ถูกตีความว่าเป็นภาพตอน “พระพุทธเจ้าโปรดพกาพรหม”

กล่าวอย่างรวบรัด “พรหม” ในศาสนาพุทธแตกต่างจากพรหมสี่หน้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตรงที่มีพระพักตร์ คือหน้าเดียว ซ้ำยังมีอยู่หลายองค์ หลายชนิด ถึงขนาดแยกพรหมโลกออกจากสวรรค์ ต่างจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่พระพรหมมีอยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น

เฉพาะเรื่องของ “พกาพรหม” มีอ้างถึงอยู่ในพระไตรปิฎกสองเรื่อง เนื้อหาคล้ายกันในสองพระสูตรคือ พรหมนิมันตนิกสูตร และพกสูตร

โดยมีใจความว่า พกาพรหม (ในพระสูตรว่า พกพรหม) มีดำริไปในทางที่ผิด เพราะคิดว่าฐานะแห่งพรหมนั้นเที่ยง ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปเทศนาถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง จนพกาพรหมเข้าใจในความไม่เที่ยงแท้ของสัตว์โลกในที่สุด

เรื่องราวในทั้งสองพระสูตรที่ว่าจะต่างกันก็แต่ในพกสูตร พกาพรหมเข้าใจพระธรรมเทศนาแต่โดยดี

แต่ในพรหมนิมันตนิกสูตร พกาพรหมไม่เชื่อในพระธรรมและพยายามแสดงอิทธิเดชด้วยการซ่อนกาย แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์ก็ไม่สำเร็จ และเมื่อพระพุทธเจ้าแสดงอิทธิปาฏิหาริย์บ้าง พกาพรหมกลับหาไม่พบจนต้องยอมศิโรราบ

ชาวเมืองอัมพวาในยุคโน้น หากเป็นผู้ใส่ใจในปกรณ์ของพุทธศาสนาก็ย่อมจะรู้จักพกาพรหมแน่ เพราะนอกจากพระสูตรในพระไตรปิฎกที่ผมยกมาข้างต้นแล้ว ยังมีคัมภีร์ในพุทธศาสนาเถรวาทอีกเล่มหนึ่งที่เชื่อกันว่าแต่งขึ้นในประเทศไทย อายุไม่เก่าไปกว่า พ.ศ.1800 อย่าง ฎีกาพาหุง ก็เล่าเรื่องเดียวกันนี้ แต่ขยายความต่อไปว่าพระพุทธเจ้าไปซ่อนพระวรกายอยู่กลางหมู่พรหม

แต่ถึงแม้ว่า ปกรณัมต่างๆ ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่เกี่ยวกับ “พกาพรหม” จะเล่าเรื่องของการประลองซ่อนตัว แต่ไม่ยักจะพูดถึงเรื่องการที่พระพุทธเจ้าไปซ่อนอยู่บนพระเศียรของพกาพรหม อย่างในภาพเขียนบนหอไตร ที่วัดบางแคใหญ่เลยสักเรื่องเดียวนะครับ แล้วทำไมอยู่ๆ ช่างผู้วาดจึงต้องนำเอาพระพุทธเจ้าไปประทับอยู่บนนั้นด้วย?

 

ในคัมภีร์สายโลกศาสตร์ ที่มักเรียกกันว่าหนังสือไตรภูมิ (ซึ่งมีอยู่หลายฉบับ ไม่ได้มีเฉพาะอยู่แค่ไตรภูมิพระร่วง) ฉบับที่เก่าแก่ที่สุด เขียนขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อน พ.ศ.1100 ที่ชื่อ “โลกปราชญาปติ” เขียนเป็นภาษาสันสกฤต เพราะเป็นตำราของฝ่ายมหายาน มีเรื่องทำนองเดียวกับเรื่องพระพุทธเจ้าโปรดพกาพรหม หากแต่ได้เปลี่ยนตัวละครจาก “พกาพรหม” เป็น “มหิศรเทพบุตร”

แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงซ่อนพระองค์อยู่เหนือพระเศียรของตัวละครใหม่เจ้านี้อยู่ดี เพราะความในโลกปราชญาปติเล่าว่าพระพุทธองค์นั้นไปซ่อนอยู่ระหว่างพระเนตรของมหิศรเทพบุตร ดังนั้น เทพบุตรองค์นี้ก็เลยหาพระองค์ไม่พบ

แต่เรื่องเล่าในโลกปราชญาปติยังมีอีกความเล่าต่อท้ายอีกด้วยว่า หลังจากนั้นมหิศรเทพบุตรได้ฟังเทศน์จากพระพุทธองค์จนตรัสรู้ธรรม และเมื่อพระเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว มหิศรเทพบุตรก็ได้เนรมิตพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง แล้วอัญเชิญไปไว้ในมหาวิหาร บนยอดเขามันทคีรี โดยให้หมู่ลิงเป็นผู้ดูแลวิหาร

อันที่จริงแล้ว ผู้ที่คุ้นเคยกับเทพปกรณัมอินเดียคงจะเดาได้ไม่ยากว่า คำว่า “มหิศรเทพบุตร” นั้นก็หมายถึง “พระอิศวร” นั่นเอง

ชาวพุทธเถรวาทรู้จักตำราฝ่ายมหายานเล่มนี้เพราะมีการแปลเป็นภาษาบาลีในชื่อ “โลกบัญญัติ” เรื่องพระพุทธเจ้าเล่นซ่อนหากับมหิศรเทพบุตร จึงกลายเป็นที่รับรู้ของฝ่ายเถรวาทไปด้วย

แต่นิทานเรื่องนี้คงไม่เป็นที่นิยมนักในอยุธยา จนกระทั่งในยุครัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ก็โปรดให้มีการชำระตำราความรู้ วรรณคดีต่างๆ เป็นจำนวนมาก

แต่เล่มที่สำคัญเล่มหนึ่ง และเกี่ยวข้องกับเรื่องของเราในที่นี้ก็คือ หนังสือที่มีชื่อว่า “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ที่โปรดให้ชำระจากตำราโลกศาสตร์หลายเล่ม

โลกบัญญัติก็เป็นหนึ่งในนั้น นิทานเรื่องที่ว่าจึงกลับมาอยู่ในความรับรู้ของชาวสยามอีกครั้งหนึ่ง

ซ้ำยังเพิ่มเติมข้อความไปด้วยว่า ระหว่างที่มหิศรเทพบุตรอัญเชิญพระพุทธรูปไปไว้ในมหาวิหารนั้นได้ “เทินไว้เหนือพระเศียร” ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะความตอนนี้เอง ที่ทำให้ในภายหลังจึงมักจะมีการทำรูปพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนเศียรของพระอิศวร ไม่ว่าจะเป็นในงานจิตรกรรม หรือประติมากรรมของไทย แถมยังเลยเถิดมาปรากฏในเรื่องเล่าจำพวกตำนานอย่างตำนาน “เพลงสาธุการ” อีกด้วยต่างหาก

 

เพลง “สาธุการ” เป็นหนึ่งในเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง โดยทั่วไปใช้บรรเลงเพื่อการน้อมไหว้ และแสดงความเคารพบูชา ทั้งในงานพระราชพิธี และงานของประชาชนทั่วไป แต่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในที่นี้ก็คือ ตำนานของเพลงสาธุการนั้นก็เป็นเรื่องพระพุทธเจ้าทรงเล่นซ่อนหากับพระอิศวรอย่างที่ผมได้เกริ่นไว้ข้างต้น

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า พระอิศวรท่านไม่พอพระทัยที่เทพยดาทั้งหลายไม่เข้าเฝ้าพระองค์ แต่พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนา จึงเสด็จไปท้าประลองกับพระพุทธเจ้าโดยการแข่งซ่อนหากัน

ผลปรากฏว่าเมื่อพระอิศวรซ่อนพระวรกายแล้วพระพุทธเจ้าก็สามารถหาพบได้ในทันที แต่เมื่อถึงคราวพระพุทธเจ้าซ่อนพระวรกายบ้าง พระอิศวรกลับหาไม่พบจนต้องยอมจำนนในที่สุด และที่แท้แล้วพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ไปแอบซ่อนที่ไหนไกล อยู่ข้างบนพระเศียรของพระอิศวรเองเท่านั้นแหละ

แต่จนแล้วจนเล่าพระอิศวรก็ไม่ยอมละมิจฉาทิฐิลง พระพุทธเจ้าจึงไม่ยอมเสด็จลงมา ท้ายที่สุดพระอิศวรอดรนทนไม่ได้ ต้องอ้อนวอนพระพุทธเจ้าจนพระพุทธองค์มีพระดำรัสว่า หากพระอิศวรละมิจฉาทิฐิได้จริงแล้วให้นำดุริยางคดนตรีมาประโคมเพลง “สาธุการ” จึงจะเสด็จลงมา พระอิศวรยอมทำตาม

เรื่องจึงจบลงอย่างสุดจะแฮปปี้เอนดิ้ง

 

และก็เพราะด้วยตำนานที่ว่านี้เอง คนดนตรีไทยจึงถือต่อๆ กันมาว่า หากจะบรรเลงเพลงดนตรีสำหรับเคารพบูชา หรือนอบน้อมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จะต้องใช้เพลงสาธุการเป็นเพลงบรรเลง ด้วยอ้างอิงจากนิทานเรื่องนี้นี่เอง

ที่สำคัญก็คือ ผลของการที่คนดนตรีไทยถือกันว่า เพลงสาธุการเป็นเพลงสำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ได้ทำให้เชื่อกันไปว่า เพลงนี้เก่าถึงชั้นอยุธยา

แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบ ควบตำแหน่งผู้รู้ทางดนตรีไทย ที่ท้าทายความเชื่อกระแสหลักอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ นั้นอธิบายว่าที่จริงแล้วลักษณะทางดนตรีของเพลงสาธุการไม่น่าเก่าแก่ไปจนถึงชั้นอยุธยา แต่เป็นเพลงรุ่นกรุงเทพฯ และเผลอๆ จะไม่เก่ากว่าสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยซ้ำไป

หากพิจารณาจากร่องรอยหลักฐานแวดล้อม โดยเฉพาะในส่วนของ “ตำนาน” ของเพลงสาธุการแล้ว ก็ชวนให้คล้อยตามข้อเสนอของคุณสุจิตต์อยู่มากทีเดียว

เพราะก็อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วว่า นิทานเรื่องนี้ได้ถูกนำมารวบรวมไว้ในตำราไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1

ดังนั้น จึงทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับการเล่นซ่อนหาระหว่างพระพุทธเจ้า กับพระอิศวร (หรือมหิศรเทพบุตร) กลายเป็นที่นิยม จนมีทั้งการวาดภาพจิตรกรรม และสร้างประติมากรรมเรื่องดังกล่าว ในช่วงราวสมัยรัชกาลที่ 3-4 อยู่จำนวนหนึ่งเลยทีเดียว

ดังนั้น ถ้าจะมีการหยิบเอาปรกณัมเรื่องนี้ไปผูกเป็นตำนานที่มาของเพลงสมัยรัชกาลที่ 4 (ตามข้อเสนอของคุณสุจิตต์) ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องตำนานเพลงสาธุการ ในหอไตร วัดบางแคใหญ่ ภาพทางด้านซ้ายเขียนรูปพระพุทธเจ้าประลองฤทธิ์กับพระอิศวร ด้วยการแข่งซ่อนหา แล้วพระพุทธเจ้าไปซ่อนอยู่บนพระเศียรของพระอิศวร พระอิศวรหาพระพุทธเจ้าไม่พบจึงยอมแพ้ แล้วรับฟังธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า ดังปรากฏเขียนเป็นรูปอยู่ทางขวา

ภาพจิตรกรรมที่หอไตร วัดบางแคใหญ่ ก็เป็นฝีมือช่วงรัชกาลที่ 3-4 เช่นกันนะครับ แถมรูปบุคคลที่พระพุทธเจ้าไปประทับอยู่เหนือพระเศียร ก็มีพระวรกายสีขาว ทรงมงกุฎน้ำเต้ากาบ แบบเดียวกับเศียรของ “พระอิศวร” ในระบบสัญลักษณ์แบบไทย

ภาพจิตรกรรมรูปนี้จึงชวนให้นึกถึงตำนานเพลงสาธุการอย่างจับจิต โดยเฉพาะเมื่อวัดบางแคใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.อัมพวา

เป็นที่รู้กันดีว่า “อัมพวา” นั้นเป็นเมืองที่ “มีของ” ในเรื่องของดนตรี ไล่มาตั้งแต่ดนตรีไทยแบบประเพณี ที่สามารถผลิตคนอย่าง หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หรือดนตรีไทยสากลอย่าง ครูเอื้อ สุนทรสนาน นั้น ต่างก็มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่อัมพวา (นี่ยังไม่นับว่ากษัตริย์ผู้ทรงเชี้ยวชาญดนตรีอย่าง รัชกาลที่ 2 ก็ประสูติที่อัมพวาด้วยเช่นกัน)

แน่นอนว่า เมื่อผู้รู้ในดนตรีอย่างทั้งสองท่านที่ผมกล่าวมาข้างต้น เมื่อเห็นภาพจิตรกรรมในหอไตร วัดบางแคใหญ่รูปนั้น ก็ย่อมดูออกว่าเป็นรูปตำนานเพลงสาธุการแน่ ภาพจิตรกรรมที่ว่านี้จึงยิ่งมีคุณค่าเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในเมืองแห่งดนตรีอย่างอัมพวา

น่าเสียดายนะครับ ที่แม้ว่ากรมศิลปากรจะขึ้นทะเบียนหอไตร วัดบางแคใหญ่ เป็นโบราณสถานแล้ว แต่หอไตรแห่งนี้กลับถูกทิ้งร้างจนทรุดโทรม จะพังมิพังแหล่ ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐอย่างที่ควรจะเป็น

และหากปล่อยไว้เช่นนี้ทั้งภาพจิตรกรรมตำนานเพลงสาธุการ และภาพจิตรกรรมล้ำค่าภาพอื่นๆ ในหอไตร วัดบางแคใหญ่ ก็คงจะชำรุดเสียหายไปเรื่อยๆ ตามแต่ยถากรรมไปอย่างน่าเสียดาย •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ