‘นันทนา-ประกิต’ มองจุดแข็ง-เจาะจุดอ่อน แคมเปญหาเสียง ‘ก้าวไกล’

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘นันทนา-ประกิต’

มองจุดแข็ง-เจาะจุดอ่อน

แคมเปญหาเสียง ‘ก้าวไกล’

 

ไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ชวน “นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก อดีตนักโต้วาทีฝีปากดี และ “ประกิต กอบกิจวัฒนา” ครีเอทีฟชื่อดัง ผู้มีส่วนร่วมกับแคมเปญการเมืองเด่นๆ ในช่วงหลายปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่และผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาพูดคุยถึงบรรยากาศการเลือกตั้ง 2566

ผ่านประเด็นเรื่องแบรนด์, ภาพลักษณ์, การสื่อสารการเมือง และแนวทางการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ (ก่อนการประกาศยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคม)

หนึ่งในแคมเปญของพรรคการเมืองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างเข้มข้น-ต่างมุมมอง ก็คือ แคมเปญเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล

อาจารย์นันทนาเริ่มต้นด้วยการมองว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของก้าวไกล คือผู้นำการเมืองที่สื่อสารกับสาธารณชนได้ดี มีวุฒิภาวะ เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ มีความคิดก้าวหน้า และมีบทบาทในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ

แม้เมื่อไม่นานมานี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกลจะแสดงท่าที “ขัดแย้ง” กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่ในมุมมองของอดีตนักพูดชื่อดัง นั่นกลับช่วยขับเน้นให้เห็นถึงจุดแข็งของพรรคก้าวไกลมากขึ้น

“มันเป็นสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะบอกว่า โอ๊ย แย่แล้ว ทำไมทะเลาะกัน แต่ถ้ามองอีกมุม เราจะเห็นได้ว่าพรรคนี้เป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ ไม่มีนายใหญ่ ทะเลาะกัน ถ้าเผื่อว่าเป็นพรรคที่มีนายใหญ่ ฝ่ายที่ทะเลาะกับนายใหญ่ต้องออกไป แต่นี่เขาทะเลาะกัน แล้วเขาก็ปรับความเข้าใจกัน แล้วเขาก็ยังอยู่ในพรรคของเขาได้ต่อไป

“มันทำให้เห็นว่าพรรคนี้ มันไม่มีเจ้าของ ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค แล้วทุกคนก็ช่วยกันทำในแนวทางของเขา”

ในแง่ความเป็นพรรคการเมือง นันทนาชี้ว่าพรรคก้าวไกลมีอุดมการณ์ชัดเจน ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาล นอกจากนี้ พรรคยังสอบผ่านในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

“4 ปีในสภา ในฐานะฝ่ายค้าน เขาได้อภิปรายอะไรไปมากมาย จนทำให้ประชาชนตาสว่าง ถ้าจะบอกไปแล้ว ผลงานของเขาในการอภิปรายแต่ละครั้งในสภา มันมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่ไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย เพราะฉะนั้น มันยืนยันว่าเป็นฝ่ายค้านก็สามารถจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้”

 

ในอีกทางหนึ่ง ประกิตได้ชวนสนทนาโดยตั้งคำถามสำคัญว่า โจทย์ใหญ่ของพรรคก้าวไกลตอนนี้ คือจะขยายฐานแฟนคลับของตนเองอย่างไรดี? ซึ่งถ้าหากให้วิเคราะห์การแก้โจทย์ข้างต้นผ่านการทำป้ายหาเสียงชุดแรก ครีเอทีฟฝีมือดีมองว่าทางก้าวไกลกำลังสื่อสารจุดแข็งของพรรคออกมาอย่างสับสนกำกวม

เรื่องหนึ่งที่ประกิตไม่แน่ใจว่าพรรคก้าวไกลกำลังเดินมาถูกทางหรือไม่ ก็ได้แก่ ป้ายหาเสียงแนวสวัสดิการ ที่ประกาศว่าจะให้เงินเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน ให้เงินผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น

“ก้าวไกลผมชื่นชมเลยนะ เป็นพรรคเดียวที่เวลาอยู่ในสภา คุณทะลุทะลวงมากๆ ทำไมคุณไม่เอาไอ้เรื่องพวกนี้มาสื่อสาร คือผมมีความรู้สึกว่าไอ้ 3,000 บาทอะไรพวกนี้มันไม่ได้ขายผม คือผมว่าเขาก็พยายามจะขยายฐาน แต่ผมไม่แน่ใจว่าอันนี้มันใช่ไหม? แล้วผมว่าไอ้เกมตัวเลขเนี่ย คุณก็จะไปตกอยู่ในมหาสมุทรที่เขาแข่งขันกันเรื่องตัวเลข แล้วผลสุดท้าย ก็ไม่มีใครจำมันได้

“ผมคิดว่า จริงๆ ก้าวไกลอาจจะจำเป็นต้องดึงจุดแข็งของตัวเองขึ้นมาสื่อสารให้มากกว่านี้ อย่างผมเคยลงไปต่างจังหวัด เขาบอกว่า เฮ้ย ตำรวจชั้นผู้น้อยนี่ชอบโรม (รังสิมันต์ โรม) มากเลย เพราะว่าโรมนี่เป็นขวัญใจของตำรวจชั้นผู้น้อยเลย เรื่องตั๋วชงตั๋วช้าง

“สิ่งที่ผมเห็น ผมรู้สึกว่าตอนนี้ก้าวไกลไปตกในเกมของเรื่องตัวเลข แต่ผมคิดว่าอาจจะจำเป็นต้องดึง (แคมเปญหาเสียง) มาอยู่บนจุดแข็งของตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าอันนี้จะกินวงกว้างกว่า

“บางทีผมไปเจอแท็กซี่หลายๆ คน โห ฟังสปีชของโรม ฟังนู่นนี่นั่น คือผมว่าแฟนคลับฐานใหญ่ๆ ของเขา (ก้าวไกล) เยอะอยู่นะ เพียงแต่ว่าถ้าคุณสื่อสารไม่ตรงกับเขา (แฟนคลับ) วันที่เขาต้องตัดสินใจ (มันจะเป็นอย่างไร)

“การสื่อสารมันต้องมานั่งวิเคราะห์ด้วยว่า ตัวเราเองเราอยู่ในมหาสมุทรไหน แล้วเราอยากจะไปตกอยู่ในมหาสมุทรนี้ไหม แล้วเราจะแตกต่างออกจากไอ้ตรงนี้อย่างไร คือ จุดแข็งของคุณ อย่างที่อาจารย์นันทนาบอก พรรคร่วมบางพรรคยังทำไม่ได้เลย หลายเรื่องที่ผมหูตาสว่าง ก็เพราะคุณอภิปรายนี่แหละ

“ผมพูดจริงๆ นะ ผมพูดเสมอเลยว่าก้าวไกลโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ผมว่าจะได้คะแนนเรื่องนี้ไปเต็มๆ ถ้าทำให้ถูกจุด”

 

อย่างไรก็ดี นันทนาเห็นว่าการที่ก้าวไกลหันมาเล่น “เกมตัวเลข” เช่นเดียวกับอีกหลายพรรคการเมืองนั้น อาจมีคำอธิบายที่หนักแน่นรองรับอยู่

“ก้าวไกลเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์สูง ถ้าเผื่อว่าเขาเองเขาเจาะเซ็กเมนต์ของ (ฝ่าย) ก้าวหน้าแบบสุดขั้วอย่างเดียว เซ็กเมนต์นี้มันจะกลายเป็นนิช (เฉพาะกลุ่ม) ก็คือมันจะเล็ก เขาก็อาจจะมองว่า ถ้าเผื่อเขาขยายฐานให้มันใหญ่ขึ้น เซ็กเมนต์เขาก็จะกระจาย ให้มันมีเซ็กเมนต์นอกจากที่จะก้าวหน้าสุดขั้วแล้ว เป็นก้าวหน้าปานกลางได้ไหม

“แล้วก็ถ้าเราสังเกต ไอ้สิ่งที่เขาให้ตัวเลข (เงินสวัสดิการ) มันเป็นตัวเลขของคนที่ด้อยโอกาส เช่น คนชราหรือคนพิการหรือเด็กเล็ก เขาไม่ได้ให้ทั่วๆ ไป แต่ให้สำหรับคนที่อาจจะมีโอกาสน้อยในสังคม แล้วช่วยตัวเองไม่ได้ แต่เขาก็มีนโยบายอื่นๆ 9 เสาของเขานี่มันน่าสนใจมาก มันไม่ใช่เพียงแค่นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการเมืองเขาน่าสนใจมาก”

ขณะที่ประกิตยืนยันว่าแคมเปญเรื่องเศรษฐกิจ-ปากท้องดีของพรรคก้าวไกลที่สื่อสารออกมาในยกแรกนั้นยังกว้างเกินไป ไม่มีอะไรโดดเด่น และเหมือนจะถูกเขียนออกมาจากความวิตกกังวลทางการเมืองบางอย่าง

“สิ่งที่เขาเขียนเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าเขามีความกังวลอยู่ข้างใน (ที่มีคนวิจารณ์) ว่าพรรคก้าวไกลเนี่ยไม่ค่อยชอบพูดเรื่องเศรษฐกิจ”

กระนั้นก็ตาม ครีเอทีฟมากประสบการณ์มองว่า เราคงต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคก้าวไกล ด้วยการรอให้พวกเขานำเสนอนโยบายต่างๆ ออกมาอย่างละเอียดเสียก่อน เมื่อการนับถอยหลังเลือกตั้งได้เริ่มตึ้นขึ้นอย่างเป็นทางการ