‘สติธร’ วอน ‘กกต.’ ใส่ชื่อในบัตรเลือกตั้งแบ่งเขต ช่วยปชช.ไม่มึน หวั่นกาผิดเบอร์

‘สติธร’ วอน ‘กกต.’ ใส่ชื่อในบัตรเลือกตั้งแบ่งเขต ช่วยปชช.ไม่มึน หวั่นกาผิดเบอร์ ในงาน“มติชน เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย”

วันที่ 20 มี.ค.66 ที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดเวทีวิชาการ “วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากฐานคะแนนและการแบ่งเขตเลือกตั้ง” ซึ่งนับเป็นเวทีที่ 2 ในแคมเปญ “มติชน เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย”

โดยมีเสวนาในหัวข้อ “ภูมิทัศน์การเมืองจากเลือกตั้ง 2562 ถึงเลือกตั้ง 2566” มี รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตกรรมการบริหาร-โฆษกพรรคไทยรักไทย อดีตรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม

ดร.สติธร กล่าวช่วงหนึ่งว่า วันนี้เราเอาข้อมูลปี 2562 มาแบ่งเขตใหม่ตามปี 2566 ปี 2562 ใครชนะผลในปี 2566 ที่เราคาดการณ์ก็ต้องเป็นพรรคเดิม สิ่งที่น่าติดตามต่อไปคือการย้ายพรรค ยกตัวอย่างกรุงเทพฯเขต 1 เป็นเขตที่ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เคยชนะมาเป็นผู้สมัครพรรคเพื่อไทย (พท.) ดังนั้น ผลการเลือกตั้งจะออกตามพรรคหรือออกตามผู้สมัคร นี่คือสิ่งที่ต้องติดตามต่อ

อีกประเด็นคือพรรคพท.ฝันถึงแลนด์สไลด์ แปลว่าเขาฝันถึงวันวานอันหวานชื่นเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นวันที่พรรคพท.ได้คะแนนเยอะมาก แต่หายไปในปี 2562 น่าสนใจที่ว่าคะแนนหายไปตรงไหนบ้าง และวันนี้ปี 2566 มีโอกาสไปกู้คืนได้หรือไม่ ถ้าหายไปให้พรรคอนาคตใหม่ฐานเสียงเดียวกันยังพอเอาคืนมาได้ แต่ถ้าหายไปให้พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคพปชร.ทำอย่างไร คิดว่านี่ก็เป็นอีกชุดข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ

“ฝากถึงคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) คือบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่มีแค่ตัวเลขกับช่องสี่เหลี่ยม มันควรจะมีชื่อ วันนี้เราพูดเรื่องประชาธิปไตย 3 วินาที แต่คิดว่าผมใช้เวลาเกินเพราะต้องมานั่งนึกว่าคนที่จะเลือกคือเบอร์อะไร และสารภาพว่าตอนเลือกตั้งอบจ.กาผิดเบอร์ อยากขอร้องกกต.ว่าบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตให้มีการใส่ข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตรงนี้จะช่วยประชาชนได้มาก วันนี้เราวิเคราะห์ตัวเลขกันเรื่องเลือกตั้ง มีตัวเลขหนึ่งที่ไม่อยากให้เห็นคือตัวเลขบัตรเสีย บางครั้งของการเลือกตั้งมีถึง 5 % ถ้าไม่นับคนที่ตั้งใจผมเชื่อว่าเขาขาดข้อมูลที่เพียงพอ” ดร.สติธร กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ธนพร กล่าวว่า มั่นใจกับการคำนวณของตัวเอง 100 % จะมั่นใจต่ำกว่าร้อยไม่ได้เพราะเราเป็นนักวิชาการ ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่อยู่ในระบบจริงๆ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็แบ่งเขตใหม่จริงๆ อย่างไรผลก็ต้องออกมาแบบนี้เพราะเราใช้ตัวแปรอยู่สองตัว มีตัวแปรที่สามอยู่นิดหน่อยคือการหารบัตรเลือกตั้งใบที่สองตามกติกาใหม่ เพราะฉะนั้นในทางทฤษฎีมั่นใจในข้อมูลที่มีอยู่และมั่นใจในตัวแปร แต่ถ้าเมื่อไรก็ตาม เช่น หลังวันที่ 3 เมษายนที่มีการไปสมัครและเห็นแล้วว่าใครสมัครพรรคการเมืองใดแล้วลองนำมาคำนวณใหม่ ความเชื่อมั่นก็อาจจะเหมือนเดิม หรืออาจจะเป็น 95 % ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลาเราทำข้อมูลวิเคราะห์ทางสังคมไม่ต่ำกว่า 95 % อยู่แล้ว

รศ.ดร.ธนพร กล่าวว่า วันนี้วาทกรรมที่ว่าพรรคเพื่อไทยชนะแน่ กำลังจะเป็นวาทกรรมหลัก หน้าที่ของตนในทางวิชาการคือต้องสร้างวาทกรรมขึ้นมาโต้แย้งด้วยการใช้ชุดข้อมูลที่มีเหตุผลกว่า และตนชอบที่จะท้าทายว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน ซึ่งหลังจากวันที่สมัครรับเลือกตั้งแล้วตนจะนำตัวแปรเรื่องย้ายพรรคมาคำนวณใหม่ จะวิเคราะห์ด้วยการใช้ข้อมูลที่มีเหตุมีผลเพื่อสร้างการเจริญงอกงามทางวิชาการกับการทำโพล และนำข้อมูลทั้งสองอย่างมาคืนให้กับสังคม

“สิ่งที่ผมทำอยู่ไม่ต้องการอะไรมาก สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าอยากให้กับสังคมรับรู้คือวิธีคิดของนักการเมืองเขาคิดกันแบบนี้ ผมไม่คิดว่าเราจะต้องไปคาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นบุคคลที่เป็นเทวดา สิ่งที่ผมเอามาเสนอก็คือถ้าคุณจะต้องอยู่ในสนามที่เป็นนักสู้อย่างเขา คุณต้องคิดให้ละเอียดคุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบไม่เป็นไร แต่ที่แน่ๆผมกำลังนำเรื่องแบบนี้มาให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้รับรู้ว่าคนที่อยากมาเป็นผู้แทนของเรามีวิธีการทำงานแบบนี้ ผมหวังว่าทุกคนจะมีการตัดสินใจที่เป็นเหตุเป็นผลเพิ่มมากขึ้น”

รศ.ดร.ธนพร กล่าวว่า ในหน้าที่ของคนทำงานวิชาการก็จะทำต่อไปเพื่อสร้างการโต้แย้งขึ้นมา ผมเชื่อว่าในสังคมซึ่งจะสถาปนาระบบการเลือกตั้งให้มีความเสถียรภาพ

“สิ่งที่จำเป็นจะต้องทำมากๆคือการให้มีการถกเถียงที่ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูล ในภาคส่วนวิชาการเราจะพยายามทำแบบนี้ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้ระบบการเลือกตั้งเดินหน้าไปอย่างมีเสถียรภาพ นี่คือความพยายามของคนทำงานวิชาการ สำหรับพี่น้องประชาชนนั้นเริ่มจากอย่าละทิ้งสิทธิ์ ขอให้ไปใช้สิทธิ์กันให้มาก” รศ.ดร.ธนพร กล่าว