ครึ่งศตวรรษ เอสซีจียุคใหม่ กับ “รายชื่อกรรมการใหม่ๆ” ในเครือข่ายธุรกิจ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราว เอสซีจี 110 ปี มีมิติหลากหลายให้สนใจ

จากเส้นทางประวัติศาสตร์ผ่านมา 2 ช่วงเวลาสำคัญ หนึ่ง-ยุคเดนมาร์ก (2456-2517) สอง- ยุคผู้บริหารไทย (2517-ปัจจุบัน) ณ ที่นี่ ตั้งใจให้ความสำคัญอรรถาธิบายในยุคที่สองเป็นพิเศษ

จากตอนที่แล้ว ขมวดปมไว้ว่ามาสู่อีกยุค โดยเฉพาะหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เอสซีจีกับแผนการขยายตัวทางธุรกิจเชิงภูมิศาสตร์ มีความสำคัญมากขึ้น ภายใต้โครงสร้างเดิมซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนผ่านข้อมูลนำเสนอครั้งล่าสุด (ในงาน 19th CITIC CLSA Asean Forum 2023, 8 March 2023) ดูยังคงเชื่อมั่นแนวทางเช่นนั้น

อันที่จริงเอสซีจีเดินแผนขยายกิจการสู่ต่างประเทศครั้งแรก ย้อนไปไกลเมื่อราว 3 ทศวรรษที่แล้ว ในกระแสโลกาภิวัตน์ ธุรกิจใหญ่ไทยเป็นไปเป็นขบวน ยุคพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้จัดการใหญ่ พร้อมกับแผนบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ เปิดการลงทุนครั้งแรกในต่างประเทศด้วย (2533)

 

กรณี TileCera Inc. กิจการร่วมทุนเพื่อผลิตกระเบื้องเซรามิกแบบฉบับอิตาลีในสหรัฐอเมริกา ด้วยเล็งเห็นว่าสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลก ระหว่างการก่อสร้างโรงงานซึ่งกินเวลานานถึง 2 ปี ได้เรียนรู้ว่า ความเป็นไปของตลาดไม่เป็นไปตามคาด TileCera จึงมีปัญหากิจการมาโดยตลอด

หลังวิกฤตทางการเงินในปี 2540 มีปัญหามากขึ้นไปอีก เมื่อสถาบันการเงินตัดสินใจเรียกคืนเงินกู้ ขณะนั้นเอสซีจีเองก็มีปัญหา จึงตัดสินใจขายกิจการไปในปี 2543 จะถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ยุคชุมพล ณ ลำเลียง ก็ว่าได้

ยุคชุมพล ณ ลำเลียง สรุปบทเรียนจากกรณี TileCera มาสู่แนวทางขยายธุรกิจในภูมิภาคอย่างจริงจัง

นโยบายการลงทุนในอาเซียนประกาศขึ้น (2536) ประเดิมด้วยการลงทุนธุรกิจเซรามิกในฟิลิปปินส์

ตามมาด้วยแผนการขยายการลงทุนในจีน อินโดนีเซีย และพม่า (2538)

ไม่ทันได้เริ่มอย่างจริงจัง ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (2540) แผนทั้งหมดจึงมีอันพับไป

กว่าจะกอบกู้กิจการจากวิกฤต กว่าจะปรับโครงสร้างธุรกิจให้เข้ารูปเข้ารอยได้ใช้เวลาไปพอควร แผนภูมิภาคชะลอต่อเนื่องมา

จนมาถึงช่วงต่อ ระหว่างยุคชุมพล ณ ลำเลียง (2536-2548) กับกานต์ ตระกูลฮุน (2549-2558)

 

แผนการสำคัญมีขึ้นไล่เลี่ยกัน คือธุรกิจกระดาษในฟิลิปปินส์ (2547) กับธุรกิจซีเมนต์ในกัมพูชา (2549)

ว่าไปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างเอสซีจี กับ United Pulp and Paper Co., Inc. (UPPC) แห่งฟิลิปปินส์ มีมานานพอสมควร ผ่านบริษัท สยามคราฟท์ (ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจีในเวลานี้ เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง) มาตั้งแต่ในช่วง UPPC ก่อตั้งกิจการ (2511) เป็นกิจการโดยผู้ผลิตซีเมนต์ในฟิลิปปินส์หลายราย เพื่อผลิตถุงบรรจุซีเมนต์ ในช่วงแรกๆ ได้ส่งพนักงานมาฝึกงานที่โรงงานสยามคราฟท์ ที่บ้านโป่งด้วย (ปี 2515)

ต่อมา UPPC แยกตัวออกจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิม เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กับกระดาษคราฟท์เปลี่ยนแปลงไป

บริษัทเยื่อกระดาษสยาม (กิจการสำคัญหนึ่งของเอสซีจี) เข้าไปเกี่ยวข้องกับ UPPC โดยเข้าไปถือหุน 34% ใน UPPC ช่วงปี 2539 แม้เผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ แต่กรณีนี้ไม่อยู่ในข่ายต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ

จนกระทั่งในปี 2547 เอสซีจีเปเปอร์ (ต่อมาเป็น เอสซีจีแพคเกจจิ้ง) เข้าถือหุ้นใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ (99%)

ปัจจุบัน UPPC ถือว่าเป็นผู้นำธุรกิจในฟิลิปปินส์ในการผลิตกระดาษลูกฟูกเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์

 

กรณี Kampot Cement เอสซีจีเลือกเส้นทางสร้างโรงงานซีเมนต์แห่งแรกในต่างประเทศด้วยตนเอง ในพื้นที่ใหม่ แม้เป็นโครงการเล็ก แต่ได้รับความสนใจมากพอควร ด้วยเป็นโครงการโรงงานซีเมนต์แห่งแรกในกัมพูชา

Kampot Cement เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างเอสซีจี กับนักลงทุนท้องถิ่นกัมพูชา ตั้งโรงงานปูนซีเมนต์กำลังผลิตครั้งแรกปีละ 9 แสนตัน ณ เมืองเก่าที่ไกลจากเมืองหลวงกรุงพนมเปญไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 150 กิโลเมตร

ทั้งวันพิธีเริ่มต้นการก่อสร้าง (เมื่อ 26 มกราคม 2549) และเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ (14 มกราคม 2551) ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้ความสำคัญอย่างมาก เดินทางไปเป็นประธานในพิธีทั้งสองครั้ง

ต่อมา Kampot Model ถือเป็นต้นแบบของเอสซีจี ในยุทธศาสตร์ธุรกิจดั้งเดิม เข้าสู่ตลาดอาเชียนอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา ไม่ว่าในพม่า อินโดนีเซีย และเวียดนาม

 

แนวทางยุทธศาสตร์ธุรกิจระดับภูมิภาค เอสซีจีให้ความสำคัญธุรกิจเคมีภัณฑ์เป็นพิเศษ เปิดโครงการเคมีภัณฑ์ครบวงจรขนาดใหญ่ครั้งแรกในต่างประเทศที่อินโดนีเซีย เรียกว่า Tuban project มีมาตั้งแต่ปี 2540 ถือว่าเป็นจังหวะไม่เหมาะนัก อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่มาถึงในเวลาเริ่มต้นโครงการพอดี

เมื่อถึงเวลาเหมาะสม เอสซีจีเดินหน้าครั้งใหญ่ ปี 2554 เข้าไปซื้อหุ้น 30% ของ Chandra Asri Petrochemicals (CAP) ธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการมาแล้ว อยู่ที่เมือง Banten เกาะชวา ในอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ เอสซีจีเข้าไปถือหุ้นไว้เล็กน้อยตั้งแต่ปี 2535 (ตามแบบแผนธุรกิจเอสซีจี เมื่อเข้าไปถือหุ้นในจำนวนมีนัยยะ จึงได้ส่งคนของตนเองเข้าไปร่วมบริหารงาน)

รวมทั้งมีส่วนชักนำธนาคารไทย (กรุงเทพ และไทยพาณิชย์) ร่วมให้บริการสินเชื่อกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ กับ Chandra Asri Petrochemicals ด้วย (2554)

ขณะเดียวกัน ได้ริเริ่มอีกโครงการใหญ่ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรที่เวียดนาม-เรียกว่า Long Son Petrochemical Complex (LSP) อันที่จริงเริ่มต้นแนวคิดและเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2549 กับรัฐบาลเวียดนาม กว่าจะมาเป็นรูปเป็นร่างใช้เวลานานทีเดียว กว่าจะก่อตั้ง และถือหุ้น (46%) ผ่านมาหลายปี (2551)

“มุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนามผ่านการลงทุนในคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีของ LSP ซึ่งมีมูลค่าโครงการ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ถือหุ้น 100%)” ไทม์ไลน์สำคัญในปี 2561 ของเอสซีจีว่าไว้ กับบทสรุปที่น่าสนใจ “ด้วยประสบการณ์ในประเทศเวียดนามกว่า 20 ปี SCGC ได้สั่งสมองค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและพัฒนาความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าท้องถิ่น SCGC ได้ก่อสร้าง LSP คอมเพล็กซ์) ปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในประเทศเวียดนามที่มีความสามารถในการผลิตเอทิลีน โพรพิลีน PE และ PP โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในครึ่งปีแรกของปี 2566”

 

ดูเหมือนว่า ในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ เอสซีจีกับแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในภูมิภาคยังไม่มีเรื่องตื่นเต้นเท่าที่ควร ขณะมีเรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจอย่างมาก

เกี่ยวกับรายนามกรรมการใหม่ๆ ในเครือข่ายธุรกิจสำคัญของเอสซีจี โดยเฉพาะผู้ที่มาจากเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ทั้ง ฐาปน สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มทีซีซี ศุภชัย เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี และทศ จิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล “มองในภาพใหญ่ …สะท้อนความเป็นไปอย่างเป็นจริงสังคมธุรกิจไทยปัจจุบัน …สำหรับเอสซีจี ถือเป็นความสัมพันธ์ใหม่ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมธุรกิจไทยด้วยกัน อยู่ในระนาบเดียวกัน เสมอกัน …ยอมรับกัน ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้และบทเรียน ซึ่งกันและกัน รวมทั้งข้อมูล มุมมอง และบทวิเคราะห์ ไม่ว่าความเคลื่อนไหววงใน จนถึงสถานการณ์ในภาพกว้าง” (จากบางตอนของเรื่อง “สายสัมพันธ์ใหม่ เอสซีจี” ธันวาคม 2565)

อาจตีความอีกมิติหนึ่ง ว่าด้วยพัฒนาการอันน่าทึ่งของเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ภายใต้การบริหารของกรรมการหน้าใหม่เหล่านั้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นไปอย่างตื่นเต้น ครึกโครม ตามแผนการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งเข้าสู่ธุรกิจใหม่และขยายการลงทุนทั่วโลก

บทเรียนที่ว่านั้น อาจจะมีประโยชน์ต่อเอสซีจีบ้างก็เป็นได้ •

 

 

ครึ่งศตวรรษ SCG ยุคใหม่ กับประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ที่ผู้บริหารเชื่อมโยงกับการเมือง