ครึ่งศตวรรษ SCG ยุคใหม่ กับประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ที่ผู้บริหารเชื่อมโยงกับการเมือง

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เหตุเกิดเกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น อีกกรณีมีความคึกคักพอสมควร

เรื่องราวเอสซีจี เดินทางมาไกลถึง 110 ปีแล้ว เส้นทางที่ผ่านมามี 2 ห้วงเวลาสำคัญ

หนึ่ง-ยุคเดนมาร์ก (2456-2517)

สอง-ยุคผู้บริหารไทย (2517-ปัจจุบัน) ณ ที่นี้ จะให้ความสำคัญยุคที่สองเป็นการเฉพาะ

ยุคที่ว่าด้วยความสัมพันธ์กับบริบทสังคมไทย ในความหมายอย่างเจาะจงเป็นพิเศษ เชื่อมโยงกับโอกาสทางธุรกิจกับพลวัตนโยบายและกลไกอำนาจรัฐ

เปิดฉากขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสังคมและการเมืองไทยในประเทศไทยในปลายปี 2516 ในจังหวะเดียวกัน จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ศตวรรษปูนซิเมนต์ไทย (ในเวลาต่อมาเรียกเครือเมนต์ไทย และเอสซีจี ตามลำดับ) เมื่อมาถึงสิ้นสุดยุคเดนมาร์กที่ยาวนานถึง 60 ปี ผู้จัดการชาวเดนมาร์กคนสุดท้าย ขอลาออกจากตำแหน่ง

คณะกรรมการมีมติแต่งตั้ง บุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นผู้จัดการใหญ่แทน โดยให้มีผลตั้งแต่ต้นปี 2517 แต่แผนการดังกล่าวไม่บรรลุ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ในรัฐบาลชุดที่ 33 (14 ตุลาคม 2516-22 พฤษภาคม 2517) มีกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเข้าร่วมรัฐบาลถึง 4 คน รวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรี (สัญญา ธรรมศักดิ์) ด้วย บุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โอสถ โกศิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ พล.ร.ต.ชลี สินธุโสภณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ถือเป็นครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญของปูนซิเมนต์ไทยเชื่อมโยงกับการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม และอาจจะเป็นจุดตั้งต้นแบบแผนบางอย่าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสทางธุรกิจของปูนซิเมนต์ไทย กับนโยบายและกลไกลอำนาจรัฐซึ่งเข้มข้นอย่างมากในเวลานั้น

ในที่สุดแม้สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในชุดที่ 34 (27 พฤษภาคม 2517-14 กุมภาพันธ์ 2518) แต่บุญมา วงศ์สวรรค์ ไม่ได้ร่วมด้วย เขาจึงเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ตั้งแต่ 16 สิงหาคม 2517)

อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดวาระ กรรมการชุดซึ่งเคยไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น ล้วนกลับมาอยู่ในคณะกรรมการปูนซิเมนต์ไทยต่อไป เป็นชุดซึ่งทรงอิทธิพลอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลายาวนาน

โดยเฉพาะสัญญา ธรรมศักดิ์ ต่อมาเป็นประธานกรรมการบริษัท รวมๆ แล้วเขาอยู่ตำแหน่งกรรมการปูนซิเมนต์ไทยยาวนานถึงประมาณ 25 ปี

 

เช่นเดียวกัน โมเดลผู้จัดการใหญ่คนไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีที่มาคล้ายๆ กัน จาก บุญมา วงศ์สวรรค์ (ผู้จัดการใหญ่ 2517-2519) ถึง สมหมาย ฮุนตระกูล (2519-2523)

ทั้งสองมีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นรัฐมนตรีคลังในยุค technocrat เป็นใหญ่ บุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นรัฐมนตรีคลังในช่วงสั้นๆ (2516-2517) ก่อนมาเป็นผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย ส่วนสมหมาย ฮุนตระกูล มีตำแหน่งทางการเมืองมาก่อนบุญมา วงศ์สวรรค์ เริ่มต้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (2515-2516) และเป็นรัฐมนตรีคลังต่อจากบุญมา วงศ์สวรรค์ ในช่วงสั้นๆ เช่นกัน (2517-2518) ก่อนมาเป็นผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย

ทั้งนี้ สมหมาย ฮุนตระกูล หลังพ้นตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยแล้ว กลับไปเป็นรัฐมนตรีคลัง โดยอยู่ในตำแหน่งนานจนสิ้นยุครัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ (2523-2529)

ยุครัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ที่ว่า คือยุคปูนซิเมนต์ไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ อย่างเป็นขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ โอกาสทางธุรกิจสำคัญเช่นนั้น ดูเหมือนได้หยุดแค่ยุคนั้น ขณะเดียวกัน ภาพ “เครือซิเมนต์ไทย” โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ธุรกิจไทยอันทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนั้นด้วย

ในนั้น มีทั้งโอกาสทางธุรกิจที่ดี สามารถเชื่อมต่ออย่างลงตัวกับยุคปัจจุบัน และบางส่วนได้สะดุดหยุดยั้งไปก็มีบ้าง

แผนการทางธุรกิจอันโลดโผนของปูนซิเมนต์ไทย เกิดขึ้นในช่วงผู้นำมืออาชีพยุคต่อเนื่องมา จาก จรัส ซูโต (ผู้จัดการใหญ่ 2523-2527) พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา (ผู้จัดการใหญ่ 2528-2535) สู่ช่วงแรกๆ ของยุค ชุมพล ณ ลำเลียง (ผู้จัดการใหญ่ 2536-2548)

ก่อนจะสะดุดครั้งใหญ่ในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540

 

ความผันแปรแห่งสายสัมพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น

ต้องถือว่ามากับยุคสมหมาย ฮุนตระกูล ยุคที่มีความต่อเนื่อง จากตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย และรัฐมนตรีคลังในยุคเปรม ติณสูลานนท์ กับโอกาสใหม่มากมาย

ที่สำคัญมีความผันแปรในบางกรณีที่ควรกล่าวถึง

หนึ่ง-โมเดลบริษัทการค้าระหว่างประเทศ อ้างอิงแบบแผนธุรกิจญี่ปุ่นที่ว่า-Sogo shosha แรงกระตุ้นจากนโยบายรัฐมีการส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ตาม ได้ผลเพียงแค่ระยะหนึ่ง

สอง-ชิมลางสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ เชื่อมโยงกับช่วงเวลารัฐบาลให้การสนับสนุน กับการมาลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงของอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นในประเทศไทย ถือว่าเป็นธุรกิจที่รุ่งโรจน์อย่างต่อเนื่องตลอด 2 ทศวรรษ

แต่ภายหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เรื่องราวนั้นได้แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม สายสัมพันธ์กับธุรกิจญี่ปุ่นก็คงสืบทอดมาถึงทุกวันนี้

 

โอกาสจากวิกฤต

ช่วงปี 2518-2524 เป็นโอกาสชั่ววูบของ “หน้าใหม่” สถานการณ์สั่นไหวในช่วงนั้น สั่นสะเทือนสังคมธุรกิจไทยพอสมควร

กลายเป็นช่วงเวลาอำนาจรัฐเข้าแทรกแซง มีการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ขณะหลายกิจการมีอันเป็นไป ได้เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจที่มีรากฐาน โดยเฉพาะเครือซิเมนต์ไทย

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ครั้งใหญ่ จากธุรกิจกระดาษ (เข้าครอบงำกิจการสยามคราฟท์ในปี 2518) จุดประกายต่อเนื่องสู่ธุรกิจกระดาษครบวงจร (ปี 2525) พัฒนาต่อเนื่องเป็นกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในทุกวันนี้

กับการขยายจินตนาการธุรกิจดั้งเดิมให้กว้างขึ้น ไปสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (เริ่มต้นด้วยการซื้อกิจการผลิตกระเบื้องปูโมเสก ในปี 2523)

 

สู่วงจรความมั่งคั่งใหม่

การเข้าสู่ธุรกิจใหม่อย่างแตกต่างอย่างแท้จริง เป็นจุดตั้งต้นอย่างเป็นกระบวนการเข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจร เป็นภาพที่วาดไว้ล่วงหน้า สอดคล้องกับแผนการและนโยบายรัฐ กำลังเดินหน้าสู่จุดหมายปลายทางอย่างเต็มกำลังช่วงท้ายๆ รัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์

โดยเครือซิเมนต์ไทยอยู่ในภาพนั้นอย่างเด่นชัดมาตั้งแต่ต้น จะว่าต่อเนื่องในยุค “โชติช่วงชัชวาล” ตั้งแต่การค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (2516) ก็ว่าได้

จะว่าไปแล้ว เคมีภัณฑ์ คือธุรกิจเยาว์วัยที่สุดซึ่งเดินทางมาครบ 4 ทศวรรษ ได้สร้างโมเดลใหม่ที่สำคัญให้กับเอสซีจี หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2542 กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เริ่มมีบทบาทโดดเด่น สร้างรายได้และกำไรได้มากกว่าธุรกิจซีเมนต์ธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งก่อตั้งมานานกว่าศตวรรษ

ที่สำคัญ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ กับเอสซีจี ยังคงเป็นกระบวนการมาจากโอกาสทางธุรกิจครั้งใหม่ครั้งใหญ่ ครั้งล่าสุด จะว่าไปแล้วในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าอยู่ท่ามกลางภาวการณ์เมืองไทยที่มีความผันผวนพอสมควร โอกาสใหม่ ธุรกิจใหม่ๆ คงเป็นปรากฏการณ์อยู่เสมอ

เอสซีจีก้าวผ่านยุคอัตราการเติบโตอย่างมหัศจรรย์ ด้วยยุทธศาสตร์และแผนการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ในช่วง 3 ทศวรรษที่แล้ว เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ จากช่วงปี 2530-2540 เติบโตจากระดับ 50,000 ล้าน เป็น 350,000 ล้านบาท มาสู่อีกยุคปัจจุบัน เน้นแผนการขยายตัวทางธุรกิจเชิงภูมิศาสตร์ ภายใต้โครงสร้างเดิมซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะในช่วง 2 ทศษวรรษที่ผ่านมา

จากข้อมูลนำเสนอครั้งล่าสุด (ในงาน 19th CITIC CLSA Asean Forum 2023, 8 March 2023) ดูยังคงพอใจกับอัตราการเติบโตทางธุรกิจ และดูให้ความสำคัญเรื่องหนึ่ง (โดยแสดงข้อมูลในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา) พอเป็นที่น่าสังเกต

คือความพยายามรักษาระดับการจ่ายเงินปันผล (อยู่ในระดับ 40-50%) •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com