แรกเริ่มฟิตเนส สู่การสร้างชาติด้วยเรือนร่างสมัยใหม่ (2)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

แรกเริ่มฟิตเนส

สู่การสร้างชาติด้วยเรือนร่างสมัยใหม่ (2)

 

“อึม อึม อึม อึม กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ… ฮ้าไฮ้ ฮ้าไฮ้ กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน ผลของการฝึกตน เล่นกีฬาสากล ตะละล้า”

(เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี,2478)

 

ด้วยเรือนร่างของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เรือนร่างจึงสัมพันธ์กับการควบคุมโดยรัฐ ผ่านการทำให้เรือนร่างเป็นไปตามแบบแผนทางสังคมและการเมือง

เรือนร่างจึงเป็นแหล่งแห่งการจำแนก เช่น ชาย/หญิง จิต/กาย ร่างที่มี/ไร้สมรรถภาพ อ้วน/ผอม หนุ่ม/แก่ หรือแม้แต่เป็นพรมแดนของความเป็นสาธารณะ/ส่วนตัว

(Brown and Gershon, 2017, 1-3)

ร่างใหม่กับระบอบใหม่

การก่อตัวของกระแสนิยมเรือนร่าง “สมชาย”

ในช่วงที่การพลศึกษาเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาครั้งระบอบเก่านั้น มีการบรรจุวิชาพลศึกษาเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา เช่น กายบริหาร การหัดแถว ฟุตบอล ที่สอนให้กับนักเรียนสามัญและนักเรียนทหาร

ต่อมา ความนิยมในร่างที่แข็งแรงได้แพร่หลายออกสู่สังคมากขึ้นดังปรากฏฟิตเนสในต้นทศวรรษ 2470

อารีย์ สุพล สมาชิกก่อตั้งฟิตเนสแห่งแรกเล่าถึงการก่อตั้งช่วงต้นทศวรรษ 2470 นั้นเป็นตามความตั้งใจของเจือ จักษุรักษ์ ม.ล.ทวีวัฒน์ สนิทวงศ์ วัลลภ ธนะศิริ และเขา ด้วยต้องการการมีสถานที่ฝึกซ้อมกายบริหาร มวยสากลและมวยปล้ำ ให้นักเรียน เยาวชนและประชาชนโดยทั่วไป (ม.ล.ทวีวัฒน์ สนิทวงศ์, 2517, 7) สมาชิกก่อตั้งมีความสันทัดแตกต่าง

เช่น ม.ล.ทวีวัฒน์และวัลลภเป็นครูสอนมวยสากล เจือสอนมวยปล้ำ ส่วนอารีย์สอนการบำรุงร่างกายและการยกน้ำหนัก

เจือ และ ม.ล.ทวีวัฒน์ในท่วงท่านักมวย

ฟิตเนสแห่งนี้เก็บค่าสมาชิกเพื่อค่าบำรุงค่าน้ำค่าไฟ และค่าซ่อมแซมอุปกรณ์เก่าและซื้ออุปกรณ์ใหม่ นอกจากนี้ ฟิตเนสแห่งนี้มักรับคนหนุ่มที่มุ่งมั่นกับการออกกำลังกายทั้งมวยสากล เพาะกาย ยกน้ำหนัก มาฝึกป็นนักกีฬาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นเวลานานหลายสิบปี

สำหรับความสนใจกายบริหารของ ม.ล.ทวีวัฒน์เริ่มแต่สมัยเขาเป็นนักเรียนเทพศิรินทร์ชอบเล่นฟุตบอล ต่อมาทุ่มเทให้กับมวยสากลอย่างเอาจริงเอาจังมาก และทันทีที่เขาจบการศึกษาเมื่อ 2470 แล้ว เขาเข้าร่วมกับกลุ่มมิตรสหายก่อตั้งฟิตเนสที่แยกนพวงศ์ทันที (ม.ล.ทวีวัฒน์, 2517, 16-17)

ฟิตเนสแห่งนี้สร้างพื้นที่ฝึกซ้อมให้คนหนุ่มผู้พิสมัยเรือนร่างกำยำต่อมาอย่างยาวนาน

กระแสความนิยมเรือนร่างบึกบึนในช่วง 2480 คนหนุ่มให้ความสนใจกายบริหารอย่างไรนั้น เราสามารถเข้าใจผ่านความทรงจำของ พล.ต.ท.พิชิต มีปรีชา อดีตนักเรียนอำนวยศิลป์เล่าว่า

เมื่อครั้งที่เขามีอายุ 17 ปี สนใจในกีฬาทุกประเภท รวมทั้งเพาะกาย เขาซื้อตำราเพาะกายของ พ.บุญยะศาสตร์ เขาจึงอยากมีร่างกายที่สวยงามสมเป็นลูกผู้ชายเช่นนั้นบ้าง จึงดั้นด้นไปที่ฟิตเนสเพื่อดูท่าการฝึกและได้เห็นอุปกรณ์เครื่องยกน้ำหนักมากมาย

แต่เขาไม่มีค่าธรรมเนียมจึงจดจำวิธีการฝึกฝนและสร้างอุปกรณ์ยกน้ำหนักเพื่อฝึกฝนเองขึ้นเองด้วยปูนซีเมนต์ (เจือ, 2525)

เช่นเดียวกับ รัตนะ ยาวประภาษ นักเขียน ทบทวนความทรงจำว่า เขาเติบโตขึ้นมาในบ้านที่มีเครื่องยกน้ำหนัก เครื่องออกกำลังกายทำด้วยเหล็กส่วนตัวครบชุดของพ่อที่ใช้ออกกำลังกายเสมอ (ต่วน เยาวประภาษ, 2526, 32)

ความนิยมแข่งขันมวยสากลในหมู่นักเรียนมัธยม ช่วงปลายทศวรรษ 2460 และมวยนักเรียน 2484

กีฬาของ “ลูกผู้ชาย”

การฝึกซ้อมในฟิตเนสนอกจากมีการเพาะกายแล้วยังมีการสอนการต่อสู้ป้องกันตัวด้วย เล่ากันว่า การฝึกซ้อมเอาจริงเอาจังมาก จนกระทั่งเคยเกิดการเสียชีวิต เช่น อาจารย์เจริญ ธนะศิริ น้องชายของอาจารย์วัลลภ ธนะศิริ เสียชีวิตจากการฝึกซ้อมมวย ส่วนอาจารย์ตระกูล วิจิตรยุทธศาสตร์ เสียชีวิตจากการฝึกซ้อมยูโด เป็นต้น

ควรบันทึกด้วยว่า มวยสากลหรือมวยฝรั่ง ม.จ.วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล เป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ราว 2455 หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษากลับมาจากต่างประเทศ

ครั้งที่ท่านยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมอีตันนั้น ทรงมีชื่อเสียงว่าเป็นนักมวยรุ่นเบาของโรงเรียนแล้ว เมื่อเสด็จกลับไทยทรงช่วยสอนและกำกับวิชาพลศึกษาของกระทรวงธรรมการแผนกมวยฝรั่งอยู่หลายปี รวมทั้งทรงแต่งตำรามวยสากลขึ้น และสอนให้หมู่ครูและนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบฯ และนักเรียนโรงเรียนพลศึกษากลางด้วย

ต่อมา ความนิยมแพร่ไปสู่โรงเรียนต่างๆ จนมีการแข่งขันกันระหว่างโรงเรียนขึ้นและแพร่หลายอย่างกว้างขวาง (silpa-mag.com/article 37123)

ส่วนความเป็นมาของมวยญูญิตสูหรือยูโดที่มีการสอนที่ฟิตเนสแห่งนี้นั้น นิยม ทองชิตร์ บันทึกใน “ตำรามวยญูญิตสู”(2476)ว่า ม.จ.วิบูลพงศ์เป็นผู้นำวิชานี้เข้ามาในไทยคนแรก (2456) เช่นกันโดยสอนให้กับคณะครูสามัคคยาจารย์สมาคมก่อน ต่อมาจึงมีการสอนให้กับนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบและโรงเรียนพลศึกษากลางและแพร่หลายออกไปสู่สังคมเช่นกัน (นิยม ทองชิตร์, 2476, คำนำ)

ด้วยเหตุนี้ ฟิตเนสแห่งนี้จึงมีสมาชิกและศิษย์เป็นนักมวยและนักยูโดที่มีชื่อเสียงในครั้งนั้นหลายคน เช่น จรัญ ศุภภักดี ชนะเลิศมวยสากลกระทรวงธรรมการ (2474-2475) อำไพ ผาตร์นงคราญ ชนะเลิศมวยสากล (2472, 2473, 2474) เจริญ ขจิตสุวรรณ ชนะเลิศมวยสากลรุ่น ก. (2477) บุญชู แซ่กิม ชนะเลิศมวยสากล (2479, 2480, 2481) นักยูโด

เช่น เชษฐ์ วิสิตา ชนะเลิศ (2476) ประจันต์ วัชรปาน ชนะเลิศ (2477) (เจือ, 2525)

ตำรา ญูญิตสู (2476) เครดิตภาพ : คุณสุรศักดิ์ oknation.net

การปฏิวัติ 2475 และการสร้างพลเมืองใหม่

ภายหลังการปฏิวัติ ด้วยสำนึกชาตินิยม (nationalism) ที่เห็นว่า ชาติประกอบขึ้นมาจากประชาชนทั้งมวลเป็นสำนึกทางการเมืองใหม่ ร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ของพลเมืองกลายเป็นเป้าหมายของรัฐบาลคณะราษฎรนับแต่พระยาพหลฯ (2476-2481) จนถึงจอมพล ป. (2481-2487) มีการส่งเสริมให้พลเมืองสร้างเรือนร่างขึ้นใหม่ให้มีพลานามัยและอนามัยที่ดี

ร่างกายของพลเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เรือนกายอุดมคติของพลเมืองตามที่รัฐบาลปรารถนา ด้วยเหตุนี้ ร่างกายที่สะโอดสะองอ้อนแอ้นตามแบบชนชั้นสูงจึงเป็นร่างกายที่ไม่พึงปรารถนาในระบอบใหม่

เรือนร่างที่รัฐประสงค์ คือเรือนกายที่กำยำ แข็งแรงเหมือนนักรบหรือเกษตรกรที่แข็งแรงเพื่อร่วมกันสร้างชาติขึ้นใหม่ (สิทธิรรม โรหิตะสุข, 2557, 101)

ต่อมา ในรัฐบาลจอมพล ป. (2481-2487) เรือนร่างของพลเมืองกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการสร้างชาติ ทั้งในด้านจำนวนประชากร ด้านสร้างสุขภาพอนามัย การกิน การบริหาร การออกกำลังกายและเดินทางไกล การสร้างวินัย อบรม เลี้ยงดู และการแต่งกาย ความมีมารยาทเป็นอารยะ (ก้องสกล, 2545)

หนังสือพิมพ์ศรีกรุง 3 พฤศจิกายน 2484 และรูปปั้นหลักหกยกสยาม

หลวงวิจิตรฯ เขียนไว้ในหนังสือ “มนุสสปฏิวัติ” (2482)ว่า ค่านิยมดั้งเดิมไทยชื่นชมกับคนที่ไม่ทำงานว่าเป็นผู้มีบุญมาแต่ชาติปางก่อน หากใครต้องทำงานหนักแล้วเป็นผู้มีกรรมทำความชั่วร้ายมาแต่ชาติที่แล้ว

และเขาเห็นว่า มรดกจากค่านิยมเก่ายังมี “คติน่าชังอีกอย่าง” คือ ชนชั้นสูงเป็นคนไม่ทำงาน แต่มีกินมีใช้ สุขสบาย แต่คนชั้นต่ำเป็นผู้ทำงานหนักตรากตรำ เหนื่อยยาก (หลวงวิจิตรฯ, 17)

คติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผ่านความนิยมในเรือนกายอุดมคติที่มีร่างอ้อนแอ้นสะโอดสะองของชนชั้นสูง เพราะไม่ต้องออกแรงกายทำงานหนักตรากตรำจนร่างกายมีแต่กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ดังเหล่าไพร่

ในทางกลับกัน เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 แล้ว กระแสการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยของคนไทยปรากฏในหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยลงข่าวนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลจอมพล ป. โดยการเชื่อมโยงความเป็นมหาอำนาจของชาติเข้ากับสุขภาพของประชาชนแบบใหม่ ดังความว่า

“สร้างไทยมหาอำนาจด้วยสุขภาพแผนใหม่” เราต้องเป็นมหาอำนาจด้วยการเล่นกล้ามแบบสายฟ้าแลบ มีการเชิญชวนให้ชายฉกรรจ์ชาวไทยมีรูปร่างที่แข็งแรงดังภาพจะทำให้ไทยเป็นมหาอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก รวมทั้งสตรี กายมีเรือนที่สมบูรณ์อิ่มเอมดังภาพย่อมทำให้ไทยเป็นมหาอำนาจด้วยเช่นกัน

(ศรีกรุง, 3 พฤศจิกายน 2484)

 

กล่าวโดยสรุป นับแต่การปฏิวัติ 2475 รัฐบาลประชาธิปไตยมีนโยบายในการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยให้กับพลเมืองเพื่อสร้างพลเมืองใหม่ มีการเปรียบชาติที่เข้มแข็งประกอบขึ้นมาจากพลเมืองทั้งหญิงชายที่มีสุขภาพดีแข็งแรง

ร่างกายของพลเมืองจึงกลายเป็นเป้าหมายของการสร้างชาติ และปรากฏอยู่ในศิลปะสมัยคณะราษฎรอีกด้วย (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2563)

ใต้ภาพ

1-ร่างใหม่กับระบอบใหม่

2-เจือ และ ม.ล.ทวีวัฒน์ในท่วงท่านักมวย

3-ความนิยมแข่งขันมวยสากลในหมู่นักเรียนมัธยม ช่วงปลายทศวรรษ 2460 และมวยนักเรียน 2484

4-ตำรา ญูญิตสู (2476) เครดิตภาพ : คุณสุรศักดิ์ oknation.net

5-หนังสือพิมพ์ศรีกรุง 3 พฤศจิกายน 2484 และรูปปั้นหลักหกยกสยาม