อดีต-ปัจจุบันและอนาคต ของโสเภณีไทย

ด้วยเหตุผลหลากหลาย ปัญหาโสเภณีในไทยไม่มีวันขาดหายไปจากหน้าสื่อต่างประเทศ เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฟอรีน โพลิซี นิตยสารรายเดือนด้านการต่างประเทศ เผยแพร่บทความขนาดยาวว่าด้วยโสเภณีไทยอีกครั้ง เขียนโดย เนห์ดา วาเดการ์ ผู้สื่อข่าวชาวเคนยา จากกรุงไนโรบี

วาเดการ์ต้องการตั้งคำถามถึงอนาคตของโสเภณีไทยว่าควรจะไปทางไหนดี เพื่อการนั้นเขาจำเป็นต้องพูดถึงสภาพในปัจจุบันและแถมแตะไปถึงอดีตที่ผ่านมาไว้อีกด้วย

เขาบอกว่า ไทยเราเป็น “จุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเพื่อเซ็กซ์” มานานแล้ว มีข้อมูลในประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าการค้าประเวณีในไทยนั้นเกิดขึ้นย้อนหลังไปจนถึงราวคริสต์ทศวรรษ 1300

แต่โสเภณีแบบใหม่ทำนองเดียวกับในยุคปัจจุบันเริ่ม “บูม” จริงๆ ครั้งแรกในราวต้นทศวรรษ 1900 เพื่อรองรับความต้องการของชาวจีนอพยพที่หลั่งไหลเข้ามาในเวลานั้น

แล้วมาบูมอีกครั้งเพื่อต้อนรับทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

และอีกครั้งเพื่อตอบสนองทหารอเมริกันในยุคสงครามเวียดนาม

กระนั้นทุกวันนี้ โสเภณีและการค้าประเวณีก็ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เป็นกิจกรรม “ใต้ดิน” ที่รู้กันดี แต่ไม่มีการยอมรับ

ทั้งๆ ที่ “แอนนา” โสเภณีข้ามเพศวัย 37 ปี ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงมานานถึง 17 ปี บอกกับวาเดการ์ว่า การมาเมืองไทยแล้วไม่พบไม่เห็นโสเภณี ก็เหมือนกับเข้าร้านเคเอฟซีแล้วไม่เห็นไก่ทอด ยังไงยังงั้น

 

วาเดการ์บอกว่า กิจกรรมนี้สร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาลในแต่ละปี แต่เพราะทั้ง “อุตสาหกรรม” อยู่นอกกฎหมาย จึงไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ ได้แต่เพียงประเมินกันเท่านั้น

โดยในปี 2015 ฮาวอคสโคป บริษัทผู้เชี่ยวชาญเรื่องตลาดมืดทั่วโลก เคยประเมินเอาไว้ว่า การค้าประเวณีของไทยมีมูลค่าถึง 6,400 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนราว 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของประเทศในปีนั้น

เช่นกัน ข้อถกเถียงว่าด้วยสถานะของโสเภณีในไทยก็มีมานานไม่น้อยแล้ว ถึงกับมีการนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาเพื่อทำให้เรื่องนี้เป็นกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ความผิดทางอาญาอีกต่อไป

ด้วยเหตุผลที่ว่า การทำให้การค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย รังแต่จะรอนสิทธิและความคุ้มครองที่ผู้ประกอบการและผู้ค้าควรได้รับเช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอื่น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขอนามัย ก่อให้เกิดปัญหาเอารัดเอาเปรียบ รังแก ข่มขู่ ล่วงละเมิดและใช้ความรุนแรงกับผู้ค้าประเวณีขึ้นตามมา

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกบอกว่า ในปี 2020 มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้ 91 เปอร์เซ็นต์ของผู้ค้าประเวณีในไทย “ตกงาน” ที่เหลือตกอยู่ในความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงสุขภาพและความปลอดภัย จากการหันไปหาลูกค้าผ่านแอพพลิเคชั่น ผ่านแมงดา หรือตระเวนหาไปตามท้องถนน

เซ็กซ์ เวิร์กเกอร์ โปรเจ็กต์ องค์กรอเมริกันในนิวยอร์กที่เป็นปากเสียงให้กับผู้ค้าประเวณีระบุว่า โควิดทำให้โสเภณีทั่วโลกมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะพบเจอกับความรุนแรงในการประกอบอาชีพระหว่าง 45-75 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างดีที่สุดที่จะได้รับคือการเมินเฉย

โรนัลด์ วีตเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกาารค้าประเวณี จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ทางการ โดยเฉพาะตำรวจเอง ไม่อยากให้โสเภณีเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพราะที่เป็นอยู่พวกเขาสามารถเรียกรับผลประโยชน์ได้

 

ตามข้อมูลของวาเดการ์ สถานะทางกฎหมายของโสเภณีทั่วโลกแบ่งออกกว้างๆ ได้ 3 กลุ่ม

หนึ่ง คือกลุ่มที่ถือเป็นควาผิด

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ถือเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่ไม่ถือว่าการค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

กลุ่มประเทศที่ถือว่าการค้าประเวณีถูกกฎหมายนั้น มีกฎหมายเฉพาะออกมา กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียน, มีการประกันสุขภาพและมีสวัสดิการให้กับผู้ค้า ต่างกับการไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ที่เพียงแค่ถือว่าการค้าประเวณีเป็นกิจกรรมที่กระทำได้ปกติเหมือนอาชีพอื่นๆ

บางประเทศใช้รูปแบบผสมผสาน เช่นกรณีของสวีเดน กับนอร์เวย์ ที่มักเรียกกันว่า “นอร์ดิกโมเดล” ใช้การผสมผสานระหว่างการออกกฎหมายควบคุมบางด้านและการไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายเข้าด้วยกัน

แต่ที่มากที่สุดคือราวครึ่งหนึ่งของโลก รวมทั้งรัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ยังคงถือว่าการค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งผู้ค้า ผู้ซื้อ ผู้ประกอบการและกลุ่มค้ามนุษย์

ทั้งๆ ที่วีตเซอร์ชี้ว่า การทำให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่มีทางประสบความสำเร็จ การยับยั้งไม่ให้มีกิจการนี้แพร่หลายออกไป เช่นเดียวกับแนวทางการต่อสู้กับยาเสพติดด้วยการปราบปรามของสหรัฐอเมริกา

 

ในไทย วาเดการ์บอกว่า ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอร่างกฎหมายจัดโซนเพื่อการค้าประเวณีเข้าสู่สภา ซึ่งนอกจากจะกำหนดพื้นที่ค้าประเวณีแล้วยังกำหนดให้มีใบอนุญาต, กำหนดอายุ และให้มีการสุ่มตรวจเป็นประจำอีกด้วย

นั่นเท่ากับเป็นการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อการค้าประเวณี ซึ่งวาเดการ์บอกว่านักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ในไทยเองกลับไม่เห็นด้วย

บางคนให้เหตุผลว่า การทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นระบบเดียว 2 ระดับขึ้นมา เพราะผู้ค้าและผู้ประกอบการที่มั่งคั่งพอก็สามารถทำได้ แต่ผู้ค้าประเวณีอิสระไม่สามารถทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

วีตเซอร์ยอมรับเช่นกันว่า แค่ไม่ถือว่าการค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็มีข้อจำกัด เพราะทำให้ขาดการควบคุม เปิดช่องให้ “คนเลวๆ” ยังคงฉกฉวย เอารัดเอาเปรียบได้อยู่ต่อไป

แต่ก็ถือว่าเป็นรูปแบบที่ช่วยนำพาโสเภณีกลับคืนสู่สังคมอย่างกลมกลืนได้ดีที่สุด

วาเดการ์ทิ้งท้ายไว้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งอนาคตของโสเภณีไทย ตกอยู่ในกำมือของรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ครับ