ฮือฮา “ไทย” พลิกโผ ดัชนีประชาธิปไตยคะแนนเพิ่มมากสุดในโลก ผลจากฝ่ายค้านเข้มแข็ง

Economist Intelligence Unit เปิดเผยดัชนี Democracy Index 2022 “ไทย” พลิกโผ ดัชนีประชาธิปไตยคะแนนเพิ่มมากสุดในโลก ผลจากฝ่ายค้านเข้มแข็ง ชี้ ยังไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะยังมีทหารได้รับแต่งตั้งเป็นส.ว. แถมยังเลือกนายกฯได้ ขวางกฏหมายจากส.ส.ที่ประชาชนเลือกได้อีกด้วย 

Economist Intelligence Unit หรือ ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต แผนกวิจัยและวิเคราะห์ของ Economist Group เปิดเผยดัชนี Democracy Index 2022 ที่ให้คะแนนและวัดระดับความเป็นประชาธิปไตยใน 167 ประเทศทั่วโลกในปี 2022 โดยพิจารณาจาก 5 เกณฑ์หลัก ดังนี้

กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยม / การทำงานของรัฐบาล / การมีส่วนร่วมทางการเมือง / วัฒนธรรมทางการเมือง / เสรีภาพของพลเมือง

โดยจะวัดผลเป็นคะแนนและแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ (Full democracies) ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ยังมีข้อบกพร่อง (Flawed democracies) ประเทศที่ปกครองแบบกึ่งเผด็จการ (Hybrid regimes) ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ (Authoritarian regimes)

ระบอบการปกครองของไทยกลายเป็นไฮไลท์สำคัญใน Democracy Index 2022 เมื่อไทยพลิกโผมาอยู่หัวตารางเป็นประเทศที่ได้รับคะแนนความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากที่สุดในโลก โดยได้คะแนนเพิ่ม 0.62 คะแนน ทำให้คะแนนรวมทั้งหมดขึ้นมาอยู่ที่ 6.67 คะแนน เทียบกับปี 2021 ที่มีคะแนนอยู่ที่ 6.04 คะแนน

ไทยขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 55 จากเดิมที่อยู่อันดับ 72 เพราะพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลมีมากขึ้น และภัยคุกคามจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองมีน้อยลง อย่างไรก็ตาม ไทยยังถูกจัดอยู่ในประเทศที่ประชาธิปไตยมีข้อบกพร่อง

ในเอเชียมีอีก 2 ประเทศที่มีพัฒนาการจนคะแนนสูงขึ้น คือ ศรีลังกาและกัมพูชา ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นสูงสุดจากปี 2021 เป็นลำดับที่ 7 และ 10 ตามลำดับ

ทั้งนี้ The Economist กล่าวว่า แม้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ดีขึ้นมากที่สุดของ EIU ในปี 2565 แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลประโยชน์ของประเทศจริงๆ

The Economist อธิบายว่า การเพิ่มขึ้นของประเทศไทยจากอันดับที่ 72 ในดัชนีในปี 2564 เป็นอันดับที่ 55 ในปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากฝ่ายค้านที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง และสามารถเอาชนะคู่แข่งฝั่งรัฐบาล ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่นและการเลือกตั้งซ่อมในปี 2565 ฝ่ายค้านยังสามารถยังยื่นคำร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในกรณีอยู่เกินวาระ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญอนุญาต จนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน ระหว่างรอการโต้แย้ง นอกจากนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลยังกำหนดการเลือกตั้งชัดเจนคือช่วงเดือนพฤษภาคม ปี2566 รวมถึงการวิพาก์วิจารณ์รัฐบาลและการผ่อนคลายกฏโควิดก่อนใครด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ประชาธิปไตยในไทย จะดีขึ้นแต่ก็ยังต้องเฝ้าจับตาปัจจัยเสี่ยงต่อประชาธิปไตยที่สำคัญเช่น การที่กองทัพยังได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสภา ซึ่งสามารถช่วยเลือกนายกรัฐมนตรีและยับยั้บกฏหมายของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง และยังห่างไกลจากความแน่นอนที่ผู้มีอำนาจในไทยจะจัดการลงคะแนนเสียงอย่างเสรีและยุติธรรมในเดือนพฤษภาคม (หรือยอมรับผลหากพวกเขาแพ้)

ทั้งนี้ การนับคะแนนในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ก็พบมีความผิดปกติเกิดขึ้น ต่อมา เมื่อพรรคที่วิพากษ์วิจารณ์การปกครองของทหารได้รับความนิยม พรรคก็ถูกยุบ และหัวหน้าพรรคดังกล่าวถูกตั้งข้อหารุนแรง รวมถึง รัฐบาลได้ใช้กฎหมายเหล่านี้เพื่อกักขังประชาชนจำนวนหลายร้อยคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา