ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

ในวันแถลงข่าว “มติชน : เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2566

5 สื่อเครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติ มติชนทีวี มติชนสุดสัปดาห์ โดยมีศูนย์ข้อมูลมติชนเป็นกองหนุน

ได้ยืนยันความพร้อมที่จะติดตามการเลือกตั้งซึ่ง จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งสำคัญ

โดยมีพันธมิตร คือ ทีดีอาร์ไอ, สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน)

เข้ามาร่วมนำเสนอเหตุการณ์สำคัญนี้ในทุกมิติ

 

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซี่งร่วมแถลงข่าวด้วย

กล่าวไว้ตอนหนึ่งอย่างน่าสนใจ

โดยหยิบยกคำพูดของนายปรีดี พนมยงค์ ว่า “ทุกคนควรจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกได้”

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า นายปรีดีเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน

จึงให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศของไทยอย่างมาก

แต่อาจารย์อัครพงษ์ตั้งข้อสังเกตว่าพรรคการเมืองที่เริ่มหาเสียงกันในตอนนี้

พูดถึงเรื่อง “ต่างประเทศ” น้อยมาก

ทั้งที่ประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลกเขาให้ความสำคัญนโยบายต่างประเทศสูงมาก

อาจารย์อัครพงษ์จึงฝากไว้ว่า วิทยาลัยนานาชาติปรีดี ชื่อก็นานาชาติอยู่แล้ว

จึงอยากเน้นว่า “คนไทยต้องรู้ไทย และเข้าใจโลกให้ได้”

ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์

นำเสนอบทความ “ทางเลือกเชิงนโยบาย”

เกี่ยวพันไปถึงนโยบายต่างประเทศ

แม้จุดที่อาจารย์นิธิต้องการสื่อสารไปถึง มิใช่พรรคการเมือง

แต่เป็น “นักรัฐศาสตร์สายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

ซึ่งว่าที่จริง หลายคนก็เคยมีบทบาทในการกำหนดนโยบายให้กับพรรคการเมืองอยู่ไม่น้อย

อาจารย์นิธิจึงโฟกัสไปยังนักวิชาการสายนี้

โดยเน้นไปที่เมียนมา

ทั้งนี้ สูตรสำเร็จอันหนึ่งที่อาจารย์นิธิเห็น คือ นักรัฐศาสตร์สายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ให้สัมภาษณ์สื่อมักพูดเสมอว่า เนื่องจากไทยมีพรมแดนติดกับเมียนมากกว่า 2,000 ก.ม.

ไทยจึงไม่อาจมีนโยบายต่อรัฐบาลทหารพม่าอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียได้

 

อาจารย์นิธิจึงตั้งคำถามว่า น่าประหลาดที่นักวิชาการเหล่านี้ไม่เคยให้เหตุผลเลยว่าทำไม

พูดเหมือนให้ผู้ฟัง (หรืออ่าน) สรุปเอาเองว่า พรมแดนยาวที่มีเสถียรภาพย่อมเป็นประโยชน์มากกว่าพรมแดนยาวที่ไร้เสถียรภาพ

ซึ่งข้ออ้างเช่นนี้ อาจารย์นิธิบอกว่า ได้ยินจากฝ่ายทหารไทยก่อน

และแปลกใจที่นักวิชาการกลับพากันท่องบ่นมนตราของฝ่ายกองทัพอย่างเซื่องๆ เช่นนี้

ทั้งที่หน้าที่หลักของนักวิชาการคือเสนอ “ทางเลือก” ที่เป็นไปได้อื่นๆ

แต่ก็ไม่ทำ สังคมจึงไร้ทางเลือก

ส่งผลให้รัฐบาลและรวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ จึงยังดำเนินไปตามสิ่งเดิมๆ

เราจึงไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่ได้เห็นการแข่งขันนโยบายต่างประเทศใหม่ๆ จากพรรคและนักการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งนี้เท่าใดนัก

 

นอกเหนือจากนโยบายต่างประเทศแล้ว

นโยบายหนึ่งที่พรรคการเมืองหยิบมาดีเบตน้อย นั่นก็คือ นโยบายสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น คอลัมน์สิ่งแวดล้อม ของทวีศักดิ์ บุตรตัน

จึงโดนใจ และยินดียิ่งที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นการเฉพาะ

และการแถลงนั้น ได้เอาโพเดียมไปตั้งกลางน้ำในชุมชนปากคลองรังสิต ปทุมธานี

โดยได้แรงบันดาลใจจากนายไซมอน คอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศตูวาลู

ประเทศเกาะเล็กๆ ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางทะเลทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก

ซึ่งประชาชนที่นั่นกำลังเผชิญผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน ที่กำลังจะทำให้เกาะจมหาย จากปัญหาโลกร้อน

นายไซมอน คอฟ จึงทำคลิปวิดีโอ สวมชุดสูทยืนอยู่หน้าโพเดียม โดยแช่อยู่ในน้ำทะลที่มีความลึกระดับหัวเข่า เพื่อกล่าวสุนทรพจน์

สื่อสารไปถึงที่ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 เพื่อให้รับทราบ “วิกฤตของตูวาลู” และของโลก

โดยเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยและประเทศอุตสาหกรรมช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอยู่ที่ระดับศูนย์ ภายในปี 2593 หรือใน 27 ปีข้างหน้า

“ทวีศักดิ์ บุตรตัน” บอกว่า การแถลงนโยบายกลางน้ำของคุณพิธาเป็นสัญลักษณ์ว่าปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน

แม้คำแถลงกลางน้ำของนายพิธาซึ่งได้แรงบันดาลใจจากรัฐมนตรีต่างประเทศตูวาลู จะไม่โด่งดังอึกทึกครึกโครมเท่า

แต่ก็ถือเป็นความแตกต่างจากนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ

ที่มุ่งแต่จะแข่ง ลด แลก แจก แถม ตะพึดตะพือเท่านั้น •