ลุงป้อม” ลุย 3 จังหวัดแดนอีสาน สั่งเตรียมรับมือแล้ง

ลุงป้อม” ลุย 3 จังหวัดแดนอีสาน สั่งเตรียมรับมือแล้งช่วยประชาชน

วันนี้ (24 ก.พ. 66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ และความก้าวหน้าโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จ.อุดรธานี หนองคาย และจังหวัดเลย โดยในช่วงเช้า ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ จ.อุดรธานี พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ โรงเรียนภูพานวิทยา ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี จากนั้นในช่วงบ่าย พลเอก ประวิตร และคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ จ.หนองคาย ณ ลานวัฒนธรรม เทศบาลเมืองท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย จากนั้นเดินทางลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ อ.เชียงคาน จ.เลย ตามลำดับ

โดยในการลงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการ ประสานแผนการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานให้ดำเนินการตาม 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง ปี 2565/66 อย่างเคร่งครัด และมอบหมายให้จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และเตรียมการช่วยเหลือประชาชนให้ทันสถานการณ์ พร้อมเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับ จ.อุดรธานี พลเอก ประวิตร มุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่เขต อ.กุดจับ พ้นวิกฤตขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง พร้อมมุ่งสร้างความมั่นคงทางการเกษตรและปศุสัตว์ ให้เกษตรกรมีน้ำเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลำน้ำห้วยเชียง สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนจากการเป็นแหล่งประมง ส่งเสริมอาชีพให้แก่คนในชุมชนได้อีกด้วย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งรัดการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) จ.อุดรธานี ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อยกระดับความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่

สำหรับ จ.หนองคาย พลเอก ประวิตร มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย พร้อมทั้งเตรียมแผนรับมือฝนทิ้งช่วง ป้องกันการขาดแคลนน้ำ และแผนรับมือน้ำท่วม โดยกำชับให้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ในขณะที่ จ.เลย ซึ่งประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แต่ในช่วงฤดูแล้งกลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งรัดการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย ในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่กำหนด เนื่องจากเป็นโครงการฯ ที่จะสามารถบรรเทาภัยพิบัติด้านน้ำให้กับประชาชนได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ให้มีการส่งเสริมให้ครัวเรือนมีอาชีพที่สร้างรายได้ให้ตนเอง ทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนมีความมั่นคงด้วย

ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ จ.อุดรธานี มีแผนงาน/โครงการด้านทรัพยากรน้ำ ปี 66 รวม 33 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 14 อำเภอ พื้นที่รับประโยชน์ 4,800 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 6,955 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 3.38 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการประตูระบายน้ำห้วยน้ำฆ้อง ระยะที่ 1 เป็นต้น ในส่วนของ จ.หนองคาย มีแผนงาน/โครงการด้านทรัพยากรน้ำ ปี 66 รวม 19 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอ พื้นที่รับประโยชน์ 1,100 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,177 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 0.51 ล้าน ลบ.ม. เช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง โครงการประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ โครงการประตูระบายน้ำห้วยเป เป็นต้น และ จ.เลย มีแผนงาน/โครงการด้านทรัพยากรน้ำ ปี 66 รวม 20 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 10 อำเภอ พื้นที่รับประโยชน์ 3,180 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 5,411 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 0.33 ล้าน ลบ.ม. เช่น โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองเลย ระยะที่ 3 เป็นต้น