เปิดทักษะแห่งผู้ชนะ “Future Workforce” เตรียมความพร้อมเป็นดาวเด่นคนเก่งงานในโลกอนาคต

ทำความรู้จักกับทักษะแห่งอนาคตที่สำคัญ “งาน” และ “ธุรกิจ” จะประสบความสำเร็จอย่างรุ่งโรจน์ในยุคเศรษฐกิจ 5.0 ได้ต้องอาศัยทักษะใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีเป็นหัวใจหลักขับเคลื่อน

หลังพ้นการระบาดหนักของโควิด-19 ไม่เพียงเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว แต่ตำแหน่งงานที่มีทักษะสูงก็เริ่มหาคนมาเติมเต็มไม่ทันเช่นกัน อย่างเร็วๆ นี้ที่หลากหลายประเทศต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความสามารถสูงส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนต้องมีการออกเชิญชวนดึงดูดให้บุคลากรเข้าทำงานและย้ายประเทศไปประกอบอาชีพ เช่น ประเทศสิงคโปร์เตรียมเสนอวีซ่าสำหรับ 5 ปี ให้กับต่างชาติที่มีทักษะขั้นสูง ยิ่งในปัจจุบันรูปแบบอาชีพ ประเภทของงานก็เข้าสู่ “เทคโนโลยี” ขั้นสูงอย่างเต็มตัว ส่งผลให้หลายๆ บริษัทที่อาศัยเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นบริษัทชั้นนำของโลก แทนยักษ์ใหญ่ธุรกิจแบบเดิมๆ ที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ สินค้าทั่วไป
หากมองย้อนกลับไปการจัดอันดับ Fortune Global 500 พบว่า 500 บริษัทแรกที่ได้รับการจัดอันดับมีรายได้สูงที่สุดในโลก จะมีอายุเฉลี่ยน้อยลงทุกปี หนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จนี้คือ “เทคโนโลยี” ซึ่งการมาถึงของยุค Digital Transformation นี้เอง ทำให้คนต้องเพิ่มทักษะ อัพสกิลเพิ่ม และหากใครที่ทำได้ดี หรือ วางแผนอาชีพการงานล่วงหน้าถูก ก็จะกลายเป็นบุคลากรที่เป็นที่ต้องการ โดยจากรายงาน Global Workforce of the Future 2022 ของ Adecco ปีผ่านมาระบุปัญหาสำคัญแห่งยุคนี้ไว้ว่า คนเก่งยุคนี้มีจำนวนจำกัดและไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด (Talent Shortage) ส่งผลให้คนทำงานเหล่านี้มีสิทธิเลือกมากขึ้น และ แย่งชิงคนกันไปทั่วโลก

รุ่งอรุณแห่ง IT ต้องคิดบวกให้เป็น
ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ รองคณบดี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่จบการศึกษาจากประเทศที่ใช้เทคโนโลยีกำจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปได้อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้บอกถึงทักษะสำคัญแห่งอนาคตที่จะช่วยพัฒนาองค์กรหรือสร้างธุรกิจในวันที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ยุค 5.0 ที่ เทคโนโลยี เปรียบดัง “ทองคำ” และ “น้ำมัน” ว่า ทักษะแรงงานในอนาคต (Future Workforce) ที่มีการวิจัยไว้ว่า เราควรมีติดตัวทุกคนคือ
1.ทักษะการจัดการตนเองในโลกที่เปลี่ยนแปลง (Manage Self in Disruptive World) เพื่อให้บุคลากรสามารถบริหารจัดการตนเองได้ ทั้งความคิดทัศนคติ ความรู้สึกอารมณ์ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนอย่างเหมาะสม
2.ทักษะคิดเชิงแนวโน้มในอนาคต (Think Like a Futurist) โดยบูรณาการเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงานเข้ามาเพื่อให้เกิดการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าหรือบริการให้ดีอยู่เสมอ
3.ทักษะการทำงานร่วมที่มีความหลากหลาย (Work with Diverse People) ไม่ว่าจะ อายุ เพศ ภาษา เชื้อชาติ ความสามารถ ฯลฯ ต้องเน้นให้เกิดความเข้าใจและยอมรับ เคารพความแตกต่างหลากหลายของผู้อื่น เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีให้การทำงานร่วมกันราบรื่น
4.ทักษะการค้นหาซึ่งความเป็นไปได้ทางธุรกิจ (Discover Possibilities in Business) ช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ช่วยเพิ่มสามารถของพนักงานให้มีมุมมองทางธุรกิจอย่างรอบด้าน
5. ทักษะการสื่อสารเชิงธุรกิจ (Interpersonal Communication in Business) หลายคนล้มเหลวในการทำธุรกิจอาจเกิดจากการไม่สามารถสื่อความหมายให้ผู้อื่นได้เข้าใจในเชิงประจักษ์ได้ ดังนั้นจึงควรมีความสามารถในการถ่ายทอดและสื่อความหมายไปยังสมาชิกทุกคนทั้งในและนอกองค์กร ความสามารถของการโน้มน้าวใจในการสื่อสารระหว่างกันและกัน

“ย่อยอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ขอเสริมจากที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเอาไว้แล้วคือ เราอาจจะเน้นเรื่องภายในจิตใจของเราก่อนเป็นอันดับแรก โดยสิ่งแรกเลยที่เราจะสามารถปรับแล้ว ทำให้คนทั่วไปรับรู้หรือสัมผัสได้ทันที คือเรื่องของ ‘บุคลิกภาพ’ หรือ ‘ความสมาร์ท’ ซึ่งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงรูปร่างหน้าตาที่สวยหล่อ คนธรรมดาก็สามารถมีความสมาร์ท ดูเฉียบได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นดารา เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าอะไรที่เหมาะสมกับตัวเอง รู้จักการวางตัว รู้จักการสื่อสารผ่านหน้าตา กริยาท่าทาง ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดความมั่นใจในทุกการสื่อสารและพอเรามั่นใจแล้ว ผลก็จะออกมาดี นำไปสู่ การที่ผู้คนยอมรับ มีคอนเนคชั่น หรือ ถูกเลือกเป็นตัวแทนในโอกาสอันสำคัญ

“แม้วันนี้เรายังไม่ได้เก่งหรือมากด้วยความสามารถมากเท่าคนอื่น แต่บุคลิกภาพ นิสัยที่ดี จะสามารถช่วยดึงดูดคนเก่งเข้ามาร่วมทีมได้ ช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จได้ๆ แต่การจะมีบุคลิกภาพที่ดี นิสัยที่ดีได้นั้นต้องเริ่มจากภายในจิตใจคือ เริ่มจากพื้นฐานความคิดหรือ Mindset ที่คิดบวก ทัศนคติที่ดีทั้งทัศนคติที่ดีต่อคนอื่นและดีต่อตัวเอง คิดบวกไว้ก่อนเป็นสิ่งที่คนทั่วไปชอบ ถือเป็นสิ่งที่จะสร้างความประทับใจ คนที่มีบุคลิกดีหลายคนจึงมักจะมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ และพื้นฐานความคิดนี้จะนำพาให้เราเจอโอกาสใหม่ๆ ได้เรียนรู้ไม่รู้จบ ซึ่งหากขาดพื้นฐานความคิดนี้ ทุกอย่างมันก็จะเสียไปหมด ยากที่จะมีทักษะที่ดีในโลกอนาคตได้ไม่ว่าจะเก่งด้านอื่น” ดร.คุณากร ระบุ

“สื่อสารและเข้าสังคม” ฉากต่อมาที่จะเพิ่มความสามารถ
ดร.คุณากร กล่าวต่อไปว่าหลังจากที่มีพื้นฐานความคิดที่ดี คิดบวกแล้ว ต้องมีทักษะการสื่อสารและทักษะการเข้าสังคม ซึ่งจะนำมาถึงความรู้และโอกาสตามลำดับต่อไป

“เราอาจจะได้ยินเรื่องที่คนฉลาด แต่ไม่ค่อยเก่งในการเข้าสังคม พอเข้าสังคมไม่ได้ก็ปิดตัวเอง ทำให้เจอโอกาสใหม่ๆ น้อยลง นอกจากนี้เวลาคนไม่เก่งเรื่องคน พอเจอปัญหาก็จะหนีปัญหา ไม่แก้ไขด้วยตัวเอง ถ้าครูอาจารย์ไม่มีครอบครัวที่มาช่วยให้คำปรึกษา เขาก็จะไปพึ่งเพื่อน เพื่อนดีพาดี เพื่อนแย่พาแย่ ฉะนั้นแล้วเขาต้องเข้าใจเรื่องของการสื่อสาร การเข้าสังคมเป็นประการต่อมา”

ดร.คุณากร ย้ำต่อไปว่า “งานทุกอย่างล้วนแล้วแต่ต้องทำงานกับคน เพราะไม่ว่าจะชีวิต งาน หรือธุรกิจ เราไม่สามารถเติบโตได้เพียงคนเดียว ต้องมีครอบครัว มีคู่ชีวิต มีพาร์ทเนอร์ มีคอนเนคชั่น แต่ถ้าเข้าสังคมไม่ได้ สื่อสารไม่เป็น จะไปบอกความต้องการ ต่อรองเรื่องต่างๆ กับใครได้อย่างไร และ จะไปจูงใจคนให้เขารู้สึกอยากร่วมงานกับเราได้อย่างไร เรื่องเข้าสังคมเราก็ต้องฝึก คือเราอาจจะแย้งว่าไปสัมมนาหลักสูตรคอนเนคชั่น ไปเรียนต่อปริญญาโท ก็ได้สังคมแล้ว แต่ทั้งนี้ หากไปเรียน ไปสัมมนาแต่ถ้าคุยกับเขาไม่เป็นมันก็จบอยู่ดี นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องไปฝึกเพิ่มทักษะด้านนี้”

“เข้าใจความแตกต่าง” ทักษะแห่งอนาคตข้อต่อไปที่นำมาซึ่งความสำเร็จ
เพราะการทำงานไม่ว่าจะในฐานะพนักงานหรือเจ้าของกิจการล้วนแล้วแต่ต้องมีบุคลากรที่หลากหลายช่วงวัยหลากหลายที่มา ซึ่งมีความแตกต่างกันทางด้านทัศนคติ ความคิด และรวมไปถึงทักษะความชำนาญที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการจะไปให้ได้ถึงเป้าหมายความสำเร็จย่อมต้องผสานทั้งหมดเข้าด้วยกันให้ได้

“การเข้าใจความแตกต่าง เคารพความหลากหลาย ไม่ว่าจะเรื่องเพศ อายุ ช่วงวัย เศรษฐานะ จะช่วยลดช่องว่างในการทำงานได้เป็นอย่างดี เราต้องรู้จักวิธีการปรับตัวให้เราและทีมงานไปด้วยกันได้ วิธีการคือ ต้องเข้าใจคุณค่าของคน ว่าทุกคนมีความเก่งและไม่เก่งในตัว มองอย่างเข้าใจ ไม่มีอคติ รู้ข้อดีและด้อยที่ต่างกัน เด็กรุ่นใหม่เก่งเทคโนโลยี คนรุ่นเก่ามากด้วยประสบการณ์ แล้วนำมาบาลานซ์ รู้จังหวะในการให้คำปรึกษาคนต่างช่วงวัย ดูแลเพื่อนร่วมงานต่างวัย เติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไป ผู้ใหญ่ก็ให้ประสบการณ์ ให้ทักษะความชำนาญสอนงานได้ดีกว่าเรา ถ้าเราเติมเต็มซัพพอร์ตไปด้วยกันได้ ทุกคนก็จะก้าวไปได้”

ผนึก ‘SWOT’ กับ ‘TOWS’ ระเบิดศักยภาพสูงสุด
“การปรับอุปสรรคให้มันเป็นโอกาส คือสุดยอดกลยุทธ์ที่ทำให้เราได้แต้มต่อในการเดินทุกย่างก้าว ดังนั้นทักษะแห่งอนาคตอีกประการหนึ่งที่ควรมีคือ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ซึ่งว่ากันว่าเป็นปรัชญายุทธศาสตร์ในตำราตะวันออก ที่เชื่อมกับหลักการวิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจอย่าง SWOT ของตะวันตกได้อย่างลงตัว” ดร.คุณากร เล่าให้ฟังถึงเคล็ดวิชาจากประเทศจีน

“พอเรารู้จุดอ่อน-จุดแข็ง รู้เราเอง กับโอกาส-อุปสรรค รู้เขารู้ภายนอก ทำให้เรารู้ว่าการที่เราจะพัฒนาตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ต้องพลิกกลยุทธ์หรือ ที่ตะวันตกเรียกว่า TOWS จับคู่กลับใหม่ กล่าวคือ คิดใหม่ว่า จุดแข็งของเราจะทำอย่างไรให้มันแข็งขึ้นอีก วิธีคืออาจจะใช้โอกาสเข้ามาเสริม จุดอ่อนก็อาจจะต้องเอาโอกาสมาแก้ไข มันเป็นการเอามาปรับปรุงพัฒนาให้ดีเพิ่มถึงจะเพียงพอ ในขณะเดียวกันควรใช้จุดแข็งรับมือกับอุปสรรค พร้อมทั้งแก้ไขจุดอ่อนและเลี่ยงอุปสรรค เพราะวันนี้โลกไปไวมาก อย่างวันนี้มี AI เข้ามา ChatGPT เกิดขึ้นมาใหม่ บางคนอาจจะมองว่าเป็นอุปสรรคกับหน้าที่การงานหรือธุรกิจ แต่ใครที่ปรับเปลี่ยนสามารถพลิกสร้างกลยุทธ์ใหม่ให้กับตัวเองได้ คือคนชนะ พูดง่ายๆ ว่า หากเราปรับตัวเป็น อะไรก็ไม่กลัว ขอเพียงแค่ว่าพัฒนาทักษะตัวเอง เพิ่มความสามารถตัวเองเรื่อยๆ”

“ในฐานะอาจารย์ที่ต้องสอนเด็กรุ่นใหม่ เราก็ต้องเข้าใจผู้เรียนมากยิ่งขึ้น เข้าใจคุณค่าในการเรียน ถ้าเด็กอยากได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ใน Google หรือ ChatGPT เราก็ต้องตอบสนองให้ได้กับสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ เท่าที่สังเกต Future Workforce เป็นเรื่องของอนาคต คนที่จะตามเรื่องนี้ได้ทัน ต้องมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้าอย่างมีทิศทางแบบนักอนาคตศาสตร์ มองเห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้น เช่น มองเห็นว่านักศึกษาอยากเรียนไปทำงานไปเพราะอยากได้เอาวิชาความรู้ไปใช้ระหว่างเรียน หากติดอะไรก็มาถามอาจารย์ได้ พอเห็นแบบนี้มหาวิทยาลัยเลยลองทำ โครงการ Fast Track เรียน 3 วัน ฝึกงาน 2 วัน ไปตั้งแต่เรียนปีหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องต่อการที่คนรุ่นใหม่ต้องการเรียนให้น้อยลงและปรับตัวอยากเห็นการทำงานของจริงมากยิ่งขึ้น อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ คนรุ่นใหม่ไม่อยากเรียนกับสไลด์บนหน้าจอ อยากเรียนรู้จากสื่อที่เขาชื่นชอบอย่างเกม เราก็ปรับการเรียนให้เป็น Active Learning โดยใช้เกม MonsoonSIM จำลองระบบซอฟต์แวร์ ERP ขึ้นมาเพื่อให้แก้ปัญหาทางธุรกิจผ่านแบบจำลองบนเกม อาจารย์จะปรับตัวเป็นผู้ที่คอยสาธิตและให้คำแนะนำ เปลี่ยนบทบาทให้เป็น Facilitator กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดเป็น Best Practice ผ่านการใช้เทคนิคและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องปรับตัวไม่ใช่เพียงแต่ตัวนักศึกษาเอง แต่ ตัวอาจารย์ต่างหากที่ต้องเข้าใจเรื่อง Future Workforce ต้องเก็งอนาคตได้ ต้องปรับตัวกันทั้งหมด เรื่องนี้เป็นมากกว่าแค่เทคโนโลยี แต่เป็นทักษะ Soft Skills ผสมผสานกับเทคโนโลยี” ดร.คุณากร กล่าวทิ้งท้าย