ดัชนีวัด ‘การเมืองบ้านใหญ่’

การเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากจะสู้กันระหว่าง “ฝ่ายสืบทอดอำนาจ” กับ “ฝ่ายอำนาจประชาชน” แล้ว ในแวดวงนักวิชาการมีประเด็นสำคัญที่พากันจับตาติดตามผล ระดับถือว่าเป็น “ดัชนีชี้วัดคุณภาพการเมืองไทย” ว่าพัฒนาไปถึงไหน

เหตุผลใหญ่ที่ “ฝ่ายสืบทอดอำนาจ” ใช้มาอ้างเป็นความชอบธรรมในการสร้างกลไกทำให้พวกตัวเองได้เปรียบในการเข้ามาควบคุมโครงสร้างอำนาจคือ “อำนาจประชาชน” ไม่มีคุณภาพพอจะปล่อยให้เข้ามาครอง หรือมีส่วนในอำนาจมากเกินไป

รูปธรรมสำคัญที่ “อำนาจประชาชน” มักถูกนำมาโจมตีคือเงื่อนไขในการตัดสินใจเลือก ที่ส่วนใหญ่ยังถูกกล่าวหาว่าเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเพราะ “เงินที่ได้จากการขายเสียง” คือ “บุญคุณจากระบบอุปถัมภ์” ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา มากกว่าที่เลือกเพราะ “คุณภาพผู้สมัคร” หรือ “อุดมการณ์ และนโยบายของพรรค”

ทำให้หลังการเลือกตั้งมักถูกโจมตีว่า คุณภาพของผู้ได้รับเลือกตั้งไม่มีอุดมการณ์พอที่จะเข้ามาทำงาน โดยเน้นประโยชน์ของส่วนรวม เป็นการเลือกผู้กว้างขวาง หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นให้เข้ามามีอำนาจเพื่อใช้ถอนทุนเสียมากกว่า

เป็นการเมืองที่ให้คำจำกัดความว่า “ระบบบ้านใหญ่” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนา “คุณภาพประชาธิปไตย” ของประเทศ

การหาหนทางให้ประชาชนรู้จักเลือก “คนดี มีอุดมการณ์ ความรู้ ความสามารถ” จึงเป็นความพยายามที่จะทำให้เกิดขึ้น และที่สุดแล้วถือว่า “ผลการเลือกตั้งสำเร็จได้ตามเป้าหมายนี้หรือไม่” เป็นดัชนีชี้วัด “คุณภาพประชาธิปไตยไทย”

 

เมื่อหากจะยกตัวอย่าง “การเมืองระบบบ้านใหญ่” พื้นที่สร้างความเข้าใจให้เกิดง่ายที่สุด น่าจะมี “ชลบุรี” อยู่อันดับต้นๆ เพราะเป็นพื้นที่เครือข่ายของ “บ้านใหญ่” ครองชัยชนะได้เสมอมา

ตระกูล “คุณปลื้ม” ที่ส่งต่อเครือข่ายผู้กว้างขวางจากรุ่นพ่อ “กำนันเป๊าะ-สมชาย คุณปลิ้ม” มาสู่รุ่นลูก “สนธยา-วิทยา-อิทธิพล คุณปลื้ม” เป็นที่ปรารถนาของทุกพรรคการเมืองที่หวังผลในจำนวน ส.ส.ซึ่งมักจะสมหวังเสียเป็นส่วนใหญ่

คราวนี้ก็เช่นกัน หลัง “คุณปลื้ม” ตัดสินใจเสริมกำลังให้ “พรรคเพื่อไทย”

การสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” เรื่อง “คนชลบุรีเลือกพรรคไหน” ผลก็คือ

ในคำถาม “บุคคลที่คนชลบุรีหนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีวันนี้” ร้อยละ 31.00 น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร, ร้อยละ 18.82 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 17.36 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ร้อยละ 9.55 ยังหาคนเหมาะสมไม่ได้ และร้อยละ 6.91 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

ในคำถาม “พรรคการเมืองที่คนชลบุรีมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต” ร้อยละ 38.82 คือเพื่อไทย, ร้อยละ 19.55 ก้าวไกล, ร้อยละ 16.18 รวมไทยสร้างชาติ, ร้อยละ 4.73 เสรีรวมไทย, ร้อยละ 4.55 ยังไม่ตัดสินใจ, ร้อยละ 3.82 พลังประชารัฐ, ร้อยละ 3.27 ประชาธิปัตย์, ร้อยละ 2.64 ไทยสร้างไทย, ร้อยละ 2.55 ภูมิใจไทย, ร้อยละ 1.09 ชาติพัฒนากล้า

เมื่อถามถึง “พรรคการเมืองที่คนชลบุรีมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ” คำตอบร้อยละ 38.82 เพื่อไทย, ร้อยละ 19.55 ก้าวไกล, ร้อยละ 16.09 รวมไทยสร้างชาติ, ร้อยละ 5.55 ยังไม่ตัดสินใจ, ร้อยละ 5.00 เสรีรวมไทย, ร้อยละ 3.82 พลังประชารัฐ, ร้อยละ 3.27 ประชาธิปัตย์, ร้อยละ 2.45 ไทยสร้างไทย, ร้อยละ 2.27 ภูมิใจไทย, ร้อยละ 1.09 ชาติพัฒนากล้า

 

ผลสำรวจที่ออกมาเช่นนี้ คล้ายเป็นเรื่องปกติ ด้วยเป็นภาพสะท้อนของการเมืองในภาพรวมของประเทศ

แต่ทว่า หากย้อนไปดูผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ที่ “บ้านใหญ่” ไม่ได้ทำพื้นที่ในนาม “พรรคเพื่อไทย” จะพบว่า กระแสความนิยมในพรรคเพื่อไทยแม้จะมีอยู่บ้างแต่ยังเป็นอันดับท้ายๆ

เช่นเดียวกับ “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ที่ได้กระแสในชลบุรีส่วนใหญ่ หรือจะว่าไปคือทั้งหมดมาจากการทำพื้นที่ของ “สุชาติ ชมกลิ่น” ที่สถาปนาตัวเองเป็น “บ้านใหญ่แห่งใหม่” มาแย่งชิงฐานเสียงจาก “บ้านใหญ่คุณปลื้ม”

หากใช้ชลบุรีสะท้อนแนวโน้มโครงสร้างอำนาจการเมือง ย่อมสรุปได้ว่า “การเมืองบ้านใหญ่” ยังมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อ “พรรคก้าวไกล” ประกาศจุดยืน และทิศทางการทำงานว่าจะเป็น “พรรคสู่กระแสบ้านใหญ่” และผลสำรวจออกมาว่าคะแนนนิยมของ “พรรค” และ “หัวหน้าพรรค” มีไม่น้อยในพื้นที่ตัวอย่าง “อิทธิพลของบ้านใหญ่”

ดัชนีชี้วัด “คุณภาพพัฒนาการประชาธิปไตยประเทศไทย”

ย่อมน่าสนใจติดตามยิ่ง ว่าผลจริงการตัดสินใจของประชาชนจะสร้างเป็นความหวังให้ได้หรือไม่

https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024