อุษาวิถี (16) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (16)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

ด้วยเหตุที่ “พื้นที่” และ “เขตแดน” ถูกแบ่งเช่นนี้ อำนาจของกษัตริย์จึงถือเป็นสูงสุด โดยมีบรรดาหัวหน้าเผ่าต่างๆ เป็นขุนนางส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือ ญาติวงศ์ของกษัตริย์

นอกจากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้และถือว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้เป็นกษัตริย์ก็คือ การเซ่นบวงสรวงเทพเจ้าผู้อยู่เบื้องบน หรือ “เทียน” ในฐานะที่เป็นชนชั้นสูงสุด

กษัตริย์จึงมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการติดต่อกับเทพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว

เพราะกษัตริย์ถูกถือเป็นตัวแทนของเทพเจ้าหรือผู้ที่เทพเจ้าส่งมาปกครองโลก อาณาประชาราษฎร์มีความทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างไร ไม่มีสิทธิ์ที่จะติดต่อกับเทพเจ้า แต่สามารถนำความทุกข์ของตนมาร้องเรียนต่อกษัตริย์เพื่อให้กษัตริย์เป็นผู้ “สื่อ” ความทุกข์ไปยังเทพเจ้าอีกชั้นหนึ่ง

คำตอบที่ได้รับกลับมาจาก “เทพเจ้า” ก็คือ ผลจากที่ “กษัตริย์” ได้สื่อออกไป และอาณาประชาราษฎร์พึงรับไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งใดที่กษัตริย์ “ตรัส” ออกมา สิ่งนั้นก็คือ สิ่งที่เทพเจ้าประสงค์

 

จากความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับเทพเจ้าหรือระหว่าง “หวัง” กับ “เทียน” นี้เอง ที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมจีนนับแต่สมัยราชวงศ์ซังหรือโจว กษัตริย์ไม่เพียงจะมีอำนาจในทางการเมืองแต่เพียงสถานเดียวเท่านั้น หากในอีกทางหนึ่งยังมีอำนาจในทางความคิดความเชื่ออีกด้วย

ความคิดความเชื่อที่ว่านี้ นอกจากจะหมายถึงความรู้ต่างๆ แล้ว ที่สำคัญยังหมายถึง บรรทัดฐานทางจริยธรรมอีกด้วย

เพราะการที่กษัตริย์มีอำนาจหน้าที่ในการติดต่อกับเทพเจ้านั้น ในทางหนึ่งก็คือ การมีบทบาทที่คล้ายๆ กับนักบวชไปด้วยในตัว บทบาทเช่นนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นในระยะแรกๆ ที่ทำให้ศาสนาในสังคมจีนไม่สามารถตั้งเป็นสถาบันอิสระได้ในกาลต่อมา

ทั้งนี้เพราะเห็นได้ชัดว่า “การเมือง” ได้เข้าไปมีบทบาทอยู่ใน “ศาสนา” มาตั้งแต่ต้นแล้วนั้นเอง ปรากฏการณ์นี้นับว่ามีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับพัฒนาการทางการเมืองของจีน (ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)

บนฐานที่มาดังกล่าว ชนชั้นกษัตริย์จึงนับเป็นชนชั้นที่มีความสำคัญสูงสุด โดยตัวของผู้ที่จะเป็นกษัตริย์จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมในทางการปกครอง และมีความสามารถในทางการทหารควบคู่กันไป

ดังนั้น ผู้เป็นกษัตริย์ในวัฒนธรรมจีนจึงเป็นผู้ที่มีความรู้สูงไปด้วยในตัว ฐานะที่ว่านี้อยู่ในระดับที่สามารถทำให้หัวหน้าเผ่าของชุมชนหรือนครรัฐอื่นๆ ยอมรับได้อย่างเป็นรูปธรรม

และเมื่อรวมการอ้างอิงความสัมพันธ์ของตนในฐานะผู้รับมอบ “อาณัติแห่งสวรรค์” เข้าไปด้วย กษัตริย์จึงกลายเป็นชนชั้นที่ทรงความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว และกลายเป็นรากฐานทั้งในแง่สำนึกและพัฒนาการทางการเมืองของสังคมจีนในเวลาต่อมา

 

สอง ชนชั้นผู้ดี (The Gentry) ในห้วงสมัยราชวงศ์ซางนั้น ฐานะของชนชั้นผู้ดีไม่ปรากฏชัดเจนนัก หลักฐานเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า สังคมจีนได้พัฒนามาถึงขั้นที่ชุมชนต่างๆ ต่างกลายเป็นชนเผ่าที่มีการปกครองกันเองแล้ว

ซึ่งหมายความว่า ชนแต่ละเผ่าจะมีหัวหน้าของตนอยู่ และย่อมต้องมีกำลังรบเป็นของตนเองสำหรับป้องกันเผ่าหรือสำหรับบุกเข้าตีเผ่าอื่นๆ

สภาพเช่นนี้จึงหลีกเลี่ยงที่จะต้องมีการจัดการปกครองบรรดาเชลยที่ได้มาจากการชนะศึกต่างๆ ซึ่งต่อมาเชลยเหล่านี้จะกลายเป็นทาสแรงงาน และจัดการกับชาวนาที่เป็นพลังทางการผลิตที่สำคัญ

การจัดการที่ว่านี้เองที่ทำให้เกิดบรรดาขุนนางและหรือเจ้าที่ดินขึ้น

 

การเข้ามาแทนที่ราชวงศ์ซางของราชวงศ์โจว ต่อมาได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบทางการปกครองตามมาด้วย กล่าวคือ ได้มีการกำหนดตำแหน่งขุนนางให้มียศศักดิ์สูงต่ำลดหลั่นกันไปตามลำดับ นั่นคือ ตำแหน่งกง โหว ป๋อ จื่อ และหนัน

ขุนนางเหล่านี้มีที่ดินถือครองที่แน่นอนเป็นของตนเอง จำนวนหรือขนาดของที่ดินขึ้นอยู่กับยศศักดิ์ของตำแหน่งที่แต่ละคนดำรงอยู่ ระบบนี้ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า “เฟิงเจี้ยน” ซึ่งหมายถึง ศักดินา (Feudalism)

จากเหตุนี้จะเห็นได้ว่า ขุนนางจีนจึงมีฐานะพร้อมกันสองฐานะพร้อมกัน ฐานะหนึ่ง เป็นผู้บริหารหรือขุนนางข้าราชการซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถ และอีกฐานะหนึ่ง เป็นผู้ถือครองที่ดินหรือเป็นเจ้าที่ดิน

จากฐานะที่ว่านี้ ได้กลายเป็นพัฒนาการระยะต้นๆ ที่ทำให้ชนชั้นนี้ถูกเรียกกันต่อมา (เมื่อจีนเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแล้ว) ว่า “ชนชั้นผู้ดี” (เซินซื่อ)

เนื่องจากผู้ดีตามตำแหน่งดังกล่าวในสมัยราชวงศ์โจว เป็นชนชั้นที่มีภูมิหลังเป็นหัวหน้าเผ่าหรือผู้ครองนครรัฐมาก่อน ดังนั้น ยศศักดิ์ในแต่ละตำแหน่งจึงขึ้นอยู่กับขนาดชุมชนหรือเผ่าหนึ่งๆ หรือนครรัฐหนึ่งๆ ว่ามีขนาดและความสำคัญมากน้อยเพียงใด

ชุมชนเผ่าหรือนครรัฐที่มีขนาดใหญ่หรือมีความสำคัญ ผู้เป็นหัวหน้าเผ่าหรือผู้ปกครองนครรัฐจะมีตำแหน่งกงเป็นตำแหน่งสูงสุด ที่มีขนาดหรือความสำคัญลดลงมาก็จะได้รับตำแหน่งที่ลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ

 

ด้วยเหตุนี้ ชุมชนเผ่าหรือนครรัฐจึงมีฐานะไม่ต่างกับ “เมือง” ที่เป็นประเทศราช เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาที่กษัตริย์ราชวงศ์โจวจะไม่ไว้วางใจประเทศราชเหล่านี้ ว่าอาจมีโอกาสแข็งเมืองขึ้นมาเมื่อไรก็ได้

กษัตริย์จึงส่งขุนนาง (ผู้ดี) หรือวงศานุวงศ์ของตนไปปกครองหัวเมืองเหล่านี้ เมืองที่มีความสำคัญจะมีขุนนางประจำสามคน ที่สำคัญลดลงมาจะมีขุนนางลดลงทั้งจำนวนและที่มา คือมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยขุนนาง ไม่ใช่โดยกษัตริย์

แต่กระนั้นก็ตาม การควบคุมโดยวิธีนี้ไม่ได้หมายความว่า เมืองประเทศราชเหล่านี้จะปราศจากกองกำลังเป็นของตนเอง เป็นอยู่แต่ว่ากองกำลังที่มีนั้น จะถูกจำกัดจำนวนไม่ให้มีเกินกว่าที่ส่วนกลางกำหนดมาให้

และจะมากน้อยหรือมีใหญ่เล็กเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับฐานะความสำคัญของเมืองประเทศราชนั้นๆ เช่นเดียวกับการถือศักดินา (แบบจีน) และขอบเขตอำนาจทางการเมืองดังที่กล่าวไปแล้ว