อยู่ หรือไป AI อาจเป็นคนเลือก | จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการสมัครงานก็คือการมีคุณสมบัติตรงตามที่ผู้ประกาศหางานต้องการ ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ก็จะต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ที่ผู้สมัครงานคุ้นเคยกันดี

ตั้งแต่การเขียนเรซูเม่เพื่อนำเสนอผลงานและตัวตนของเราให้ได้แบบกระชับเข้าใจง่ายที่สุด

ไปจนถึงการสร้างความประทับใจแรกพบเพื่อมัดใจว่าที่นายจ้างในระหว่างการสัมภาษณ์งาน

กระบวนการต่างๆ เหล่านี้เคยอาศัยมนุษย์เป็นคนทำทั้งหมด แต่ในปัจจุบันซอฟต์แวร์ AI สามารถเข้ามาทำหน้าที่บางอย่างแทนได้

อย่างเช่น การช่วยคัดเลือกใบสมัครให้เบื้องต้น ซึ่งก็ทำให้ฝ่ายเอชอาร์ประหยัดเวลาไปได้เยอะมากโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ที่มีคนมาสมัครงานวันละหลายร้อยคน

จากเดิมที่ผู้สมัครงานต้องออกแบบเรซูเม่ของตัวเองให้โดดเด่นเตะตาฝ่ายเอชอาร์

ตอนนี้ก็ต้องปรับตัวด้วยการทำเรซูเม่ให้ชัดเจน ตรงไปตรงมาที่สุดเพื่อให้ซอฟต์แวร์แปลความได้ถูกต้อง

บางคนอาจจะทำเรซูเม่ออกมาสองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นสำหรับให้คอมพิวเตอร์อ่าน กับเวอร์ชั่นสำหรับให้มนุษย์อ่านโดยเฉพาะ

นั่นหมายความว่าคนที่กำลังอยู่ในระหว่างหางานทุกวันนี้จะต้องหาข้อมูลว่าบริษัทที่เราสนใจจะสมัครงานมีนโยบายในการคัดเลือกผู้สมัครด้วยการใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยหรือเปล่า

ถ้าหากว่าใช่ เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มโอกาสที่ซอฟต์แวร์จะไม่โยนใบสมัครเราทิ้งไปอย่างไร้เยื่อใย

การต้องเข้าใจและเอาใจ AI ไม่ได้จบที่ขั้นตอนหางานแต่เมื่อเข้าไปทำงานแล้วก็อาจจะพบว่ายังมี AI แทรกซึมอยู่ในขั้นตอนการทำงานอีกเยอะ AI อาจจะเป็นคนช่วยวางแผนการเติบโตในหน้าที่การงานให้เรา จัดการวันลา วันหยุด แนะนำว่าเราควรจะเรียนหรืออ่านอะไรเพิ่มเติมที่จะช่วยให้การทำงานได้ดีขึ้น ตัดสินใจว่าใครควรได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือน คอยสังเกตเก็บข้อมูลสภาพจิตใจ อารมณ์ ความ ‘เบิร์นเอาต์’ ของพนักงานเงียบๆ

และแน่นอน AI ช่วยได้แม้กระทั่งกระบวนการปลดคน

ช่วงโควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ ทุกวงการได้รับผลกระทบถ้วนหน้า หลายธุรกิจที่รุ่งเรืองมาอย่างยาวนานต้องพังพาบไปเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนตั้งรับไม่ทัน

แต่วงการเทคโนโลยีกลับเติบโตแบบก้าวกระโดดเนื่องจากไลฟ์สไตล์ของการทำงานจากที่บ้านเร่งให้โปรดักต์ทางเทคโนโลยีเป็นที่ต้องการมากขึ้น

พอสถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลายลง เรากลับเริ่มเห็นข่าวบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ปลดพนักงานกันทีละเป็นหมื่นๆ ตำแหน่ง

เริ่มจาก Meta ที่ประกาศปลดพนักงาน 11,000 คนไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ตามมาด้วย Amazon ที่ปลดไป 11,000 คนเช่นกัน แต่ไม่ได้ปลดแค่ครั้งเดียว เพราะช่วงต้นมกราคมก็ประกาศปลดเพิ่มอีก 18,000 คน

Alphabet บริษัทแม่ของ Google ตามเทรนด์นี้ด้วยการปลด 12,000 ตำแหน่ง สมทบด้วย IBM Microsoft Salesforce และ Spotify

เหลือแต่ Apple ที่ในตอนนี้ก็ยังคงเดินหน้าอย่างแข็งแกร่งจนสื่อต่างๆ ต้องออกมาวิเคราะห์ว่าเพราะอะไร Apple ถึงยังยืนหยัดจ้างพนักงานต่อไปได้

ส่วนสาเหตุว่าทำไมบริษัทที่เติบโตงอกงามได้อย่างดีในช่วงโควิดถึงต้องมาล้มลุกคลุกคลานในตอนที่โควิดแทบไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนอีกแล้วนั้น หลายบริษัทให้เหตุผลว่าก็เพราะการเติบโตในช่วงโควิดนี่แหละที่ทำให้ต้องเพิ่มกำลังคนมหาศาลภายในเวลาอันรวดเร็วโดยที่นึกว่าการเติบโตที่ว่าจะคงอยู่ตลอดไป

พอฝุ่นเริ่มหายตลบจึงพบว่าดีมานด์ที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับทรัพยากรมากมายที่ถืออยู่ในมืออีกแล้ว

กลับมาที่ AI กันค่ะ เมื่อ AI ถูกใช้ในการจ้างงานเรา สิ่งเดียวกันนี้ก็ถูกใช้เพื่อเลิกจ้างเราได้เหมือนกัน

บริษัทในปัจจุบันเลือกใช้ AI มาช่วยตัดสินใจว่าหากบริษัทต้องปลดพนักงานออก ใครบ้างที่จะได้อยู่ และใครบ้างที่จะต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน

สมัยก่อนใครจะอยู่ ใครจะไป อาจจะวัดกันได้ที่ความสัมพันธ์ที่พนักงานมีต่อเพื่อนร่วมงาน คนไหนเพื่อนร่วมงานรักหน่อยก็อาจจะยังกอดงานเอาไว้ได้ หรือลูกน้องคนไหนที่รู้กันว่าไม่กินเส้นกับเจ้านายก็เตรียมใจได้เลยว่าต้องเริ่มหยิบเรซูเม่มาปัดฝุ่นเตรียหางานใหม่แล้ว

กระบวนการคัดเลือกคนออกจากงานไม่ใช่เรื่องง่าย บ่อยครั้งมีหลากหลายอารมณ์เข้ามาผสมปนเป ความชอบ ไม่ชอบเป็นการส่วนตัวก็อาจทำให้เกิดความลำเอียงได้

หลายบริษัทเลือกใช้ AI มาช่วยเพราะ AI ไม่ต้องใช้อารมณ์ ใช้แค่ข้อมูลและการคำนวณเท่านั้น

แต่ในฝั่งของของคนที่ถูกปลด ฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอะไรจะอ่อนโยนต่อจิตใจมากกว่ากันระหว่างถูกมนุษย์ด้วยกันคัดออก กับถูกปัญญาประดิษฐ์คัดออก

 

ผลการสำรวจล่าสุดระบุว่าบริษัทในสหรัฐ มากถึง 98 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจะใช้ซอฟต์แวร์และอัลกอริธึ่มเข้ามาช่วยในการคัดเลือกพนักงานออกเพื่อลดต้นทุนในปีนี้

ในบรรดาบริษัทที่ทำการสำรวจ พบว่า 35 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจะใช้ข้อมูลที่ AI วิเคราะห์ทั้งหมดหรือใช้เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์บอกว่าจะยังคงใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นคนตัดสินอยู่ดี

นอกจากเราจะต้องเรียนรู้ว่าทำอย่างไรให้ AI คัดเลือกใบสมัครงานของเราแล้ว ท้ายที่สุดเราก็ยังต้องรู้เพิ่มด้วยทำอย่างไรให้เรารอดจากการถูก AI ปลดงานด้วย

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าทางเดียวที่พอจะทำได้ก็คือต้องหาให้เจอว่า AI มองหาอะไรบ้าง

แต่ละบริษัทมีตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานที่แตกต่างกันออกไป

AI มีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลเพื่อดูว่าแต่ละคนถูกจัดอันดับไว้อยู่ตรงไหน

ดังนั้น สิ่งที่พนักงานสามารถทำได้ก็คือการพูดคุยกับหัวหน้าหรือฝ่ายเอชอาร์เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าบริษัทให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง

แล้วปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงก่อนที่ ‘ฤดูหนาวจะมาถึง’