ชื่อ ‘สิงห์บุรี’ มีที่มาจาก ‘พระนอนจักรสีห์’ เดิมชื่อ ‘รัตนกุดานครกำพงคลองพลับ’

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในกฎหมายลักษณะลักพา ซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.1898 อันเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับช่วงแรกเริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยานั้น ได้กล่าวถึงกรณี “ข้าหนีเจ้า ไพร่หนีนาย” โดยได้ระบุชื่อเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเอาไว้ ดังนี้

“เมืองเพชรบุรีย เมืองราชบุรีย เมืองสุพรรณบุรีย สพงครองพลับ แพรกศรีราชาธิราช นครพรหม” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากศักราชที่ตรากฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้น ร่วมกันกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์-โบราณแล้ว เมืองต่างๆ ข้างต้น ย่อมมีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อเรือน พ.ศ.1893 โดยชื่อเมืองเหล่านี้ก่อนล้วนแต่เดาได้ไม่ยากว่า หมายถึงเมืองอะไร เพราะยังคงใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันหลายชื่อเลยทีเดียว

เมืองเพชรบุรียนั้น ย่อมหมายถึงเมืองเก่าเพชรบุรี เช่นเดียวกับราชบุรีย และสุพรรณบุรีย ก็คือเมืองราชบุรี และสุพรรณบุรี ส่วนแพรกศรีราชาธิราช หมายถึงเมืองสรรค์บุรี ในเขตจังหวัดชัยนาทในปัจจุบัน ในขณะที่นครพรหมนั้น ก็คือ เมืองเก่าใน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี นั่นเอง

ปัญหาจึงมีก็แต่ “สพงครองพลับ” ที่ไม่มีการใช้ชื่อนี้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอยู่เพียงเมืองเดียว

 

ในจารึกของวัฒนธรรมสุโขทัยอย่างน้อยสองหลัก ได้แก่ จารึกวัดศรีชุม (พบที่วัดศรีชุม ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย) และจารึกวัดเขากบ (พบบนเขากบ เหนือปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์) ได้อ้างถึงชื่อของเมืองที่น่าจะหมายถึงเมืองเดียวกันกับ “สพงครองพลับ” ในกฎหมายลักษณะลักพา ดังปรากฏข้อความในจารึกทั้งสองหลักดังกล่าวนี้ตามลำดับว่า “กุดานครกำพงครอง” และ “รัตนกูดานครไทว่ากำพงครอง”

ข้อความที่ว่า “รัตนกูดานครไทว่ากำพงครอง” ในจารึกวัดเขากบยังแสดงให้เห็นด้วยว่า เมืองดังกล่าวมีทั้งชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกโดยทั่วไป ดังที่ในจารึกระบุว่า “ไทว่า” คือ “ไทยเรียกว่า” “กำพงครอง” โดยมีอีกชื่อหนึ่งที่ถูกจับบวชด้วยภาษาบาลีสันสกฤตว่า “รัตนกูดานคร” (ในทำนองเดียวกับการตั้งชื่อ เมืองบางกอก เสียใหม่ว่า เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร)

และเมื่อพิจารณารายละเอียดจากทั้งในจารึกศรีชุม และจารึกวัดเขากบแล้ว “กุดานครกำพงครอง” หรือ “รัตนกูดานคร” ที่ไทยเรียกว่า “กำพงครอง” นั้น จะต้องตั้งอยู่เหนือ “ศรีรามเทพนคร” คือกรุงศรีอยุธยา และอยู่ใต้ “เมืองสุโขทัย” รวมถึง “เมืองศรีสัชนาลัย”

ดังนั้น เมือง “รัตนกุดานคร” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “กำพงครอง” ในจารึกของวัฒนธรรมสุโขทัยทั้งสองหลักดังกล่าวนั้น จึงควรจะหมายถึงเมืองเดียวกันกับ “สพงครองพลับ” ในกฎหมายลักษณะลักพาของกรุงศรีอยุธยานั่นแหละครับ

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ทั้งจารึกวัดศรีชุม และจารึกวัดเขากบนั้น ต่างก็เป็นจารึกที่ว่าด้วย เรื่องของ “มหาเถรศรีศรัทธา” (หรือที่ในเอกสารจำพวกตำนานต่างๆ เช่น ตำนานพระปฐมเจดีย์ หรือพระราชพงศาวดารเหนือเรียก “มหาเถรไลยลาย” หรือ “มหาเถรไหล่ลาย”) เช่นเดียวกันทั้งสองหลัก

มหาเถรศรีศรัทธานั้นเป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง แห่งเมืองราด (คือเมืองโคราชเก่า ที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) ซึ่งในจารึกวัดศรีชุมอ้างว่า เป็นราชบุตรเขยของผีฟ้าแห่งเมืองยโสธรปุระ (หมายถึงกษัตริย์เมืองนครธม ใน จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา) และได้รับพระราชทานพระแสงขรรค์ชัยศรีมาพร้อมกับพระชายา คือพระนางสุขรเทวี ผู้เป็นเจ้าหญิงแห่งเมืองนครธมด้วย

เป็นจารึกวัดศรีชุมอีกเช่นกันที่อ้างไว้ด้วยว่า พ่อขุนผาเมืองนั้นได้ปราบขอมสบาดโขลญลำพง แล้วเข้าครอบครองเมืองสุโขทัย ก่อนที่จะยกเมืองสุโขทัยให้พระสหายคือ พ่อขุนบางกลางหาว ปกครองพร้อมมอบชื่อที่กษัตริย์นครธมมอบให้แก่พระองค์คือ “ศรีอินทร์บดินทราทิตย์” ให้กับพ่อขุนบางกลางหาว (คือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหง ตามที่อ้างในจารึกพ่อขุนรามคำแหง) ในคราวเดียวกันนั้นเอง

“มหาเถรศรีศรัทธา” นั้น จึงเป็นเจ้าชายในราชวงศ์สำคัญในยุคนั้น ที่มีความเกี่ยวดองกับทั้งเชื้อสายของวงศ์เขมร (เมืองราด) และวงศ์ของคนที่พูดภาษาตระกูลไทย คือวงศ์สุโขทัย โดยในจารึกวัดศรีชุมยังระบุด้วยว่า มหาเถรองค์นี้เกิดที่เมืองสระหลวงสองแคว คือพิษณุโลก อันเป็นเมืองสำคัญในววงศ์สุโขทัย

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชิ้นต่างๆ ที่เล่าถึงมหาเถรศรีศรัทธานั้นระบุไว้ต้องตรงกันว่า มหาเถรศรีศรัทธาต้องไปบวชที่ศรีลังกา เพื่อลบล้างความผิดบางอย่าง ก่อนที่จะกลายเป็นพระสังฆราชแห่งลังกา แล้วกลับมาสร้าง และบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาโบราณหลายแห่ง เช่น พระปฐมเจดีย์ โดยมีชื่อของ “รัตนกุดานครกำพงครอง” ปรากฏร่วมอยู่ในตอนนี้เอง

ฝรั่งคลั่งสยามผู้ล่วงลับอย่างคุณไมเคิล ไรท์ เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ตำนานเรื่อง “พญากง-พญาพาน” ซึ่งเป็นตำนานที่มีโครงเรื่องหลักเล่าว่า ลูก (พญาพาน) ได้กระทำปิตุฆาต (พญากง) นั้น น่าจะเป็นโครงเรื่องที่ มหาเถรศรีศรัทธานำเข้ามาจากลังกา เพราะมีที่มาจากนิทานสันสกฤตที่ชื่อ กังสะนิทาน ซึ่งรับมาจากนิทานเรื่องของอิดิปุส (Oedipus) ของพวกกรีกมาอีกทอดหนึ่ง

โดยคุณไมค์ได้เสนอไว้ด้วยว่า ที่มหาเถรศรีศรัทธานำเอาเค้าโครงเรื่องดังกล่าว เข้ามาในไทยนั้น เป็นเพราะความผิดที่ทำให้ต้องไปออกบวชในลังกา ก็คือเรื่องราวที่ทำให้พ่อของท่านเองเสียชีวิตลงเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกหรอกนะครับที่อยู่ๆ คนที่มีอายุอยู่ในช่วงราว พ.ศ.1900 อย่างมหาเถรศรีศรัทธาจะไปบูรณะเจดีย์รุ่นทวารวดี อย่างพระปฐมเจดีย์ แล้วสร้างตำนานเรื่องพญาพานฆ่าพ่อตนเองคือพญากง แล้วสร้างพระปฐมเจดีย์เพื่อไถ่บาป

 

แต่นิทานเรื่องการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธ เพื่อไถ่บาปจากการกระทำปิตุฆาตนั้น ไม่ได้มีที่พระปฐมเจดีย์เพียงแห่งเดียว ที่สำคัญอีกแห่งก็คือ “พระนอนจักรสีห์”

ตำนานการสร้างพระนอนจักรสีห์สำนวนที่แพร่หลายนั้นเล่าว่า แต่ดั้งเดิมบ้านเมืองในแถบนั้น พระราชธิดาของกษัตริย์ได้เลี้ยงสุนัขไว้ต่อหนึ่ง ต่อมาสุนัขได้สมัครสังวาสกับพระราชธิดาจนตั้งครรภ์ขึ้น กษัตริย์สืบความจนรู้เข้าจึงขับนางออกจากพระราชวัง

พระราชธิดาคลอดบุตรออกมาเป็นพระยาจักรีศรี แล้วกษัตริย์เห็นว่ามีรูปโฉมโนมพรรณดี จึงนำกลับไปเลี้ยงในพระราชวังเช่นเดิม ต่อมาเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ พระยาจักรีศรีได้ขึ้นครองราชย์ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองและร่มเย็นเป็นสุข แต่พระองค์เกิดอยากทราบขึ้นมาว่าพ่อของตนนั้นเป็นใคร จึงได้ถามกับพระราชมารดาของตน จนได้รับคำตอบว่า ผู้ใดไปมากับพระองค์อยู่เสมอนั่นแหละคือพระราชบิดา

พระยาจักรีศรีจึงทราบว่า พระราชบิดาของพระองค์นั้นคือสุนัขจึงนึกโกรธกริ้วขัดเคือง จนฆ่าสุนัขนั้นเสีย ทันใดนั้นเองฟ้าดินก็เกิดอาเพศมืดมัว ทั้งพระองค์ก็เสด็จกลับเข้าวังไม่ได้ ดังนั้น จึงได้นำไส้ของสุนัขผู้เป็นบิดาของตนมาพันพระเศียร จึงเสด็จกลับเข้าวังได้ พร้อมทั้งดินฟ้าก็หายมัวมนลง

ด้วยความร้อนพระทัย พระยาจักรีศรีได้ไปปรึกษามหาเถรเพื่อล้างบาปปิตุฆาต มหาเถรตอบว่าให้สร้างพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่เพื่อไถ่บาป

ดังนั้น จึงเรียกพระนอนองค์นี้ว่า พระนอนจักรศรี ตามชื่อพระจักรีศรีผู้สร้างนั่นเอง

 

เมื่อพิจารณาจากตำนานการสร้างพระ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ยุคก่อน-ต้นกรุงศรีอยุธยา อันเป็นช่วงเวลาที่มหาเถรศรีศรัทธาสามารถจะเป็นได้ทั้งผู้สร้าง และผู้บูรณะ แถมยังมีตำนานเรื่องการสร้างเพื่อล้างบาปการทำปิตุฆาตนั้น จึงชวนให้คิดได้ว่า ชะรอยจะเป็นตำนานที่มหาเถรศรีศรัทธาเป็นผู้สร้างขึ้นเช่นเดียวกับตำนานเรื่องพญากง-พญาพาน ที่พระปฐมเจดีย์

ที่สำคัญก็คือ ลำน้ำที่ไหลผ่านหน้าวัดแห่งนี้ถูกคนพื้นที่เรียกว่า “คลองพลับ” มาแต่เดิม ชุมชนในบริเวณดังกล่าวก็เรียกว่า “บ้านคลองพลับ” แถมยังมีข้อมูลบางชิ้นที่ระบุว่า “วัดพระนอนจักรสีห์” นั้น เดิมมีชื่อว่า วัดพลับ” อีกต่างหาก

ลักษณะอย่างนี้ย่อมชวนให้นึกถึงชื่อเมือง “สพงครองพลับ” ในกฎหมายลักษณะลักพา โดยคำว่า “สพง” หรือ “กำพง” ในภาษามลายูและภาษาเขมรนั้น แปลว่า “ท่าน้ำ” ดังนั้น ชื่อ สพงครองพลับ จึงหมายถึง “ท่าน้ำคลองพลับ” นั่นเอง

ส่วนชื่อ “รัตนกุดานคร” ซึ่งเป็นชื่อเมืองอย่างเป็นทางการอันศักดิ์สิทธิ์นั้น ควรจะหมายถึง นคร หรือเมืองที่มีสิ่งปลูกสร้างสำคัญ (กุดา ควรมาจาก กุฎา คือเรือนยอดของอาคาร จำพวกปรางค์ปราสาท) เป็นรัตนะ หรือแก้วของเมือง

และคงจะต้องตรงกับที่รัชกาลที่ 5 เคยมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า เมืองสิงห์บุรีเก่านั้น ควรจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ “วัดหัวเมือง” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “วัดหน้าพระธาตุ” บริเวณใกล้วัดพระนอนจักรสีห์ โดยที่วัดแห่งนี้พระปรางค์เก่ายุคต้นกรุงศรีอยุธยาประดิษฐาน เป็นแก้วของเมืองอยู่ด้วย

ต่อมาชื่อดั้งเดิมของเมืองแห่งนี้คงจะค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำและการรับรู้ของผู้คน โดยเฉพาะเมื่อผู้คนส่วนใหญ่ในบริเวณแม่น้ำน้อย (วัดพระนอนจักรสีห์ตั้งอยู่ไม่ห่างจากค่ายบางระจัน) ถูกกวาดต้อนไปพร้อมกับทัพแห่งราชวงศ์คองบอง ของพม่า ผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่จึงเรียกชื่อเมืองโบราณแห่งนี้ตามชื่อพระนอนจักรสีห์ ว่า “สิงห์บุรี” นั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ