God Save the King และธรรมเนียมการยืนเคารพในเพลงสรรเสริญพระบารมีของอังกฤษ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

God Save the King และธรรมเนียมการยืนเคารพในเพลงสรรเสริญพระบารมีของอังกฤษ

 

ว่ากันว่าการลุกขึ้นยืนในเพลงคำนับ (หมายถึง เพลงที่ใช้บรรเลงเพื่อแสดงถึงเกียริตยศ หรือคำนับสิ่งต่างๆ เช่น ชาติ หรือกษัตริย์) ของฝรั่งนั้น มีที่มาจากธรรมเนียมปฏิบัติในเพลง “Messiah” ของนักประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน ที่ได้โอนสัญชาติมาเป็นอังกฤษอย่าง จอร์จ ฟรีดริก แฮนเดล (George Frideric Handel, พ.ศ.2228-2302)

ในเพลงดังกล่าว จะมีธรรมเนียมการลุกขึ้นยืนกันในท่อนที่ร้องว่า “ฮัลเลลูยาห์” ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เกิดเพราะพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งอังกฤษ (George II, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2270-2303) เพราะในคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2286 เมื่อเพลงบรรเลงถึงท่อนนี้แล้วก็ทรงลุกขึ้นยืน จนทำให้คนอื่นๆ ต้องยืนขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่มีใครรู้หรอกนะครับว่า พระเจ้าจอร์จจะทรงลุกขึ้นยืนระหว่างที่มีการบรรเลงเพลง Messiah ทำไม?

พระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งอังกฤษ

คําอธิบายโดยสารพัดใครต่อใคร ที่ไม่ใช่ตัวพระองค์เอง ในแนวที่เป็นวิชาการมักจะสันนิษฐาน (คำศัพท์ทางการของคำว่า เดา) ไปในทำนองเดียวกันว่า เนื้อเพลงท่อนนั้นมีคำว่า King of Kings, and Lord of Lords ซึ่งเป็นความในพระคัมภีร์ (ไบเบิล แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ภาคพันธสัญญาใหม่

การยืนขึ้นของพระเจ้าจอร์จที่ 2 จึงเป็นการยอมรับในสถานะ Lord of Lords ของพระองค์ เทียบเคียงกับสถานะ King of Kings ของพระคริสต์ จนพาให้ใครต่อใครคนอื่นในฮอลล์ต้องพากันลุกขึ้นยืนไปด้วย เพราะพระองค์ทรงดำรงฐานะเป็นกษัตริย์นั่นเอง

แต่คำอธิบายทำนองนี้ ก็นำไปสู่วิวาทะที่ว่า ถ้าการลุกขึ้นยืนของพระเจ้าจอร์จที่ 2 มีความหมายไปในทิศทางนั้นจริงๆ แล้วทำไมคนอื่นในฮอลล์จึงต้องลุกขึ้นยืนไปพร้อมๆ กันด้วย ในเมื่อพวกเขาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับภาวะการยอมรับความเป็นลอร์ด หรือกษัตริย์ที่ว่านี้เลย?

อย่างไรก็ตาม การสันนิษฐานที่ว่า ก็ยังคงเป็นเพียงการเดาอยู่ดีนั่นแหละ เพราะที่จริงก็ไม่มีใครรู้น้ำพระทัยที่แท้ของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ว่าทรงลุกขึ้นยืนทำไมแน่?

นอกจากคำอธิบายในทำนองข้างต้นแล้ว จึงมีทั้งคำอธิบายในทำนองที่อิงกับความรู้สึกอย่างเช่น พระองค์ทรงปลาบปลื้มกับเสียงเพลงมากเสียจนทรงต้องลุกขึ้นยืน

หรือคำอธิบายในเชิงเสียดสีว่า ที่จริงแล้วคงไม่มีอะไรหรอก เพราะเมื่อฟังดนตรีบรรเลงไปนานเข้า พระเจ้าจอร์จที่ 2 ก็คงจะทรงพระเมื่อย จนต้องลุกขึ้นยืนเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเท่านั้นเอง

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นยืนเพื่อถวายความเคารพระหว่างบรรเลงเพลงคำนับนั้น ก็กลายมาเป็นธรรมเนียมปฎิบัติในอังกฤษ โดยได้ทำให้มีการลุกขึ้นยืนระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี ควบตำแหน่งเพลงชาติ ที่มีชื่อว่า God Save the King (หรือ God Save the Queen ขึ้นอยู่กับประมุขตอนนั้นจะเป็น King หรือ Queen) ไปในที่สุดนั่นเอง

 

ประวัติที่มาของเพลง “God Save the King” ไม่เป็นที่ชัดเจนนัก คือไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า ใครเป็นผู้ประพันธ์ทำนองดนตรี เช่นเดียวกับที่ไม่อาจแน่ใจได้ว่า ใครเป็นคนแต่งเนื้อร้อง

แต่โดยทั่วไปแล้ว มักจะเชื่อกันว่า เพลง God Save the King นี้ ถูกแต่งขึ้นเพื่อใช้ร้องในโบสถ์ของพวกคาทอลิกมาก่อนที่จะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเพลงคำนับไปในที่สุด

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของเพลงที่ว่านี้ ถูกตีพิมพ์อยู่ใน Thesaurus Musicus (พจนานุกรมดนตรี) เมื่อ พ.ศ.2287 อันเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมากทีเดียวนะครับ เพราะห่างกันเพียง 1 ปี นับจากวันที่พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทรงลุกขึ้นยืน ในขณะที่บรรเลงเพลง Messiah เท่านั้นเอง

ที่สำคัญก็คือ ช่วงเวลาดังกล่าวตรงอยู่กับช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ซึ่งอยู่ในช่วงต้นของยุคเปลี่ยนผ่านราชวงศ์ในอังกฤษ จากสจ๊วต (House of Stuart) ซึ่งมีพื้นเพมาจากสกอตแลนด์ มาเป็นราชวงศ์ฮันโนเวอร์ (House of Hanover) ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมมาจากเมืองฮันโนเวอร์ ในประเทศเยอรมนีปัจจุบัน

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า ในเรือน พ.ศ.2244 นั้น รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมายผู้สืบราชบัลลังก์ (Act of Settlement) ที่มีใจความสำคัญระบุว่า กษัตริย์อังกฤษต้องนับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์เท่านั้น

ทำให้ตัดสิทธิ์พระญาติที่ใกล้ชิดพระองค์ต่างๆ ของสมเด็จพระราชินีแอนน์ (Anne, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2245-2257) องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์สจ๊วต (พระนางไม่มีบุตร-ธิดาที่มีชีวิตเหลือเมื่อสิ้นพระชนม์) รวมไปถึงเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 (James II, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2228-2231) ผู้เป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีแอนน์ ซึ่งทรงลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) เพราะเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์สจ๊วตที่เหลือล้วนนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ด้วยกันทั้งสิ้น

ผลที่ตามมาก็คือ รัฐบาลอังกฤษในยุคโน้นจึงมีมติให้ไปเชิญพระญาติห่างๆ คือ พระนางโซเฟียแห่งฮันโนเวอร์ (Sophia of Hanover, มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2173-2257) ซึ่งนับถือคริสต์ศาสนา แบบโปรเตสแตนต์ มาครองราชย์แทน

ผลปรากฏว่า พระนางโซเฟียนั้นสิ้นพระชนม์ก่อนสมเด็จพระราชินีแอนน์ 2 เดือนนะครับ ท้ายสุดจึงได้ไปเชิญบุตรชายของพระนางที่ชื่อว่า เจ้าชายเกรออก ลุดวิก (Georg Ludwig) มาครองราชย์เป็น พระเจ้าจอร์จที่ 1 (Goerge I, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2257-2270) จนสถาปนาเป็นราชวงศ์ฮันโนเวอร์ขึ้นในอังกฤษ

และพระเจ้าจอร์จที่ 1 พระองค์นี้ ก็คือพระราชบิดาของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ผู้ลุกขึ้นยืนระหว่างที่มีการบรรเลงเพลง Messiah นั่นเอง

พระเจ้าจอร์จที่ 1

สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ในตลอดช่วงระยะเวลาที่ผมเล่าถึงมานั้น ในอังกฤษได้เกิดชบวนการที่เรียกว่า “แจ็กเคอไบต์” (Jacobite) ขึ้นมา

คำว่า “แจ็กเคอไบต์” นั้น เพี้ยนมาจากคำว่า “จาโคบุส” (Jacobus) อันเป็นภาษาละตินของคำว่า “เจมส์” ซึ่งก็หมายถึง “พระเจ้าเจมส์ที่ 2” พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีแอนน์ ผู้ทรงลี้ภัยการเมืองออกนอกอังกฤษ

แน่นอนว่าขบวนการนี้เป็นฝ่ายของผู้สนับสนุนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 และต้องการให้พระองค์ได้ย้อนกลับคืนสู่พระราชบัลลังก์ในอังกฤษ

แต่อดีตกษัตริย์พระองค์นี้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ พ.ศ.2244 อันเป็นปีเดียวกันกับที่ได้มีการผ่านกฎหมายผู้สืบราชบัลลังก์ในอังกฤษ

ดังนั้น ขบวนการแจ็กเคอไบต์ จึงได้เปลี่ยนมาสนับสนุนให้เจ้าชายเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต (James Francis Edward Stuart) บุตรชายของพระองค์ (ผู้เป็นพี่น้องต่างมารดากับสมเด็จพระราชินีแอนน์) ขึ้นครองราชย์แทน

แต่เจ้าชายเจมส์พระองค์นี้ก็เป็นคาทอลิกชนเช่นเดียวกับพระราชบิดานะครับ ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระราชินีแอนน์สิ้นพระชนม์ จึงไม่มีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์เพราะกฎหมายผู้สืบราชบัลลังก์ของอังกฤษ

ซึ่งพวกแจ็กเคอไบต์นั้นไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาเชื่อในหลัก “เทวสิทธิราชย์” (Divine Right of Kings) ที่เห็นว่ากษัตริย์มาจากการแต่งตั้งของพระเจ้า คนทั่วไปจึงถอดถอนกษัตริย์ไม่ได้

ดังนั้น อะไรที่เกิดขึ้นหลังการถอดถอนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ที่เรียกว่า การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์นั้น จึงเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วยไปเสียหมด

ขบวนการแจ็กเคอไบต์ที่สนับสนุนเจ้าชายเจมส์เคลื่อนไหวกันอย่างลับๆ โดยใน พ.ศ.2288 ชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต (Charles Edward Stuart) ผู้เป็นบุตรชายของเจ้าชายเจมส์นั้น ได้นำเนื้อเพลง God Save the King มาตีพิมพ์ในนิตยสาร Gentleman’s Magazine โดยเชื่อกันว่า เพลงดังกล่าวนี้ปรากฏในฐานะเพลงลับๆ ของฝ่ายอำนาจเก่าที่สนับสนุนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 มาตั้งแต่เมื่อเกิดการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ใน พ.ศ.2231 แล้ว

และผมคงไม่ต้องเฉลยนะครับว่า “King” ที่พวกแจ็กเคอไบต์พร่ำร้องอ้อนวอนให้ “God” ช่วย “Save” นั้นหมายถึงใคร?

 

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นในเรือน พ.ศ.2288 เช่นกันนั้นเอง ที่เพลง God Save the King ได้ถูกนำมาขับร้องในตอนจบของละครเวทีเรื่อง ” The Alchemist” ที่โรงละคร ดรูรี่ เลน (Drury Lane) โดยได้แทรกเนื้อท่อนพิเศษไว้ที่ตอนต้นของบทเพลง ดังมีต้นฉบับบทละครหลงเหลือมาในปัจจุบันว่า

“God bless our Noble King, God Save great George our King” (พระเจ้าอวยพรกษัตริย์อันสูงส่งของเรา พระเจ้าปกปักรักษาจอร์จผู้ยิ่งใหญ่กษัตริย์แห่งเรา)

การณ์จึงกลับกลายเป็นว่า ตั้งแต่ขวบ พ.ศ.2288 เป็นต้นมานั้น เพลง God Save the King ถูกใช้กับทั้งสองขั้วความคิดทางการเมืองและศาสนาในอังกฤษ ก่อนที่จะกลายเป็นเพลงคำนับเพลงสำคัญของกษัตริย์และราชินีอังกฤษ ที่ต้องมีธรรมเนียมการยืนตรงระหว่างเพลง เพราะพระเจ้าจอร์จที่ 2 ไปในที่สุด

เอาเข้าจริงแล้ว การลุกขึ้นยืนขึ้นระหว่างเพลง Messiah (หมายถึง พระคริสต์) ของพระเจ้าจอร์จที่ 2 ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง และศาสนา ในยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญครั้งหนึ่งของอังกฤษ จึงน่าจะไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางความเชื่อในศาสนาของพระองค์เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะผูกโยงอยู่กับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นด้วยต่างหาก •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ