ย้อนพินิจ ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ (1)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ย้อนพินิจ ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ (1)

 

(ปรับแต่งเรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนในงานดิเรกเสวนาเรื่อง “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : ศีลธรรม ความรุนแรงและการเมืองวัฒนธรรมขวาไทย” ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อบ่ายวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565)

 

ผมดีใจและขอบคุณที่ทางคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เชิญชวนมาออกความเห็นเกี่ยวกับผลงานวิจัย เล่มล่าสุดของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ครั้งนี้

ก่อนอื่น ผมใคร่ออกตัวว่าเวลาวิจารณ์หนังสือเล่มหนึ่ง ผมทำด้วยสปิริตอย่างไร

ประการแรก ต่อเพื่อนมิตรลูกศิษย์บางคนที่ติดยึดการอ่านหนังสือแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ แข่งกันเป็นแฟชั่นว่าใครอ่านมากเล่มกว่า? คุยข่มกันว่าได้อ่านเล่มนี้เล่มนั้นหรือยัง? นั้น ผมมักเตือนใจพวกเขาว่า :

“ในโลกนี้ มีคนอ่านหนังสือมากกว่าเราหนึ่งเล่มเสมอ…

“แต่ไม่มีใครอ่านหนังสือเล่มเดียวกับเรา เหมือนเราอ่านเลย”

ทั้งนี้เพราะไม่มีใครพกพาเอาจุดยืน มุมมอง ทีทรรศน์ ประสบการณ์ อคติ คำถาม เป้าหมายที่ควานหา ฯลฯ ซึ่งเป็นของแต่ละคนโดยส่วนตัว เข้าไปสังสรรค์สนทนากับหนังสือเล่มเดียวกันนั้นได้เหมือนกับของเราเลย

การอ่านหนังสือเล่มนั้นของเราอาจดีกว่าหรือแย่กว่าคนอื่นได้เป็นธรรมดา แต่มันจะไม่เหมือนกับที่คนอื่นอ่านเป็นพิมพ์เดียวแน่นอน

จึงมีเหตุให้นับถือและไม่ด่วนด้อยค่าตัวเราและการอ่านหนังสือเล่มหนึ่งๆ อย่างเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวเราอยู่

ประการที่สอง เวลานักศึกษารับมอบหมายให้ไปอ่านหนังสือ/บทความแล้วสรุปประมวลเนื้อหามานำเสนอให้เพื่อนๆ ฟังในชั้นเรียน ผมมักแนะนำติติงพวกเขา/เธอว่า :

“การ present เนื้อหาหนังสือ/บทความ ควรต้องให้อะไรบางอย่างพิเศษเพิ่มเติมแก่คนฟังงอกเงยออกไป เช่น สรุปความสังเขป จับประเด็นสำคัญ อ่านระหว่างบรรทัด ตีความสัญลักษณ์ วิเคราะห์วิธีการเล่าเรื่อง ตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงกับงานชิ้นอื่น นักเขียนคนอื่น แนวคิดทฤษฎีหรือข่าวสารเหตุการณ์ปัจจุบัน ฯลฯ

“เพราะถ้าเราบอกเพื่อนๆ ได้แค่เท่ากับที่พวกเขาอ่านได้เองอยู่แล้วละก็ จะป่วยการมาฟังเราทำไม?”

ผมหวังว่าความคิดเห็นที่จะนำเสนอต่อหนังสือเล่มใหม่ของอาจารย์ประจักษ์ต่อไปนี้ จะอยู่ในสปิริตดังกล่าว โดยขอแบ่งประเด็นเป็นหัวข้อดังนี้ :

1. เกริ่น : จาก “ความเป็นไทยกระแสหลัก” ถึง กปปส.

2. ภาพรวม : อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ผลงาน ความถนัด บุคลิกงาน

3. การใช้พุทธศาสนามาสร้างกรอบการเคลื่อนไหวอัตลักษณ์ “คนดี” ของ กปปส.

4. เอกภพแห่งพันธะธรรมกับความรุนแรงตามคุณธรรม (Universe of Moral Obligation & Virtuous Violence)

5. เรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จ (Totalizing Metanarrative)

ประจักษ์ ก้องกีรติ กับผลงานล่าสุด ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย ภาพโดย HATAIKARN TREESUWAN/BBC THAI

1. จาก “ความเป็นไทยกระแสหลัก” ถึง กปปส.

เมื่อ 17 ปีก่อน ผมมีโอกาสไปออกความเห็นวิจารณ์บทประมวลภาพรวมงานวิจัยชิ้นใหญ่เกี่ยวกับปัญญาชนอนุรักษนิยมไทย 10 คนของศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง “การสร้างความเป็นไทยกระแสหลักและความจริงที่ความเป็นไทยสร้าง” (2548)

ผมจำได้ว่าพออ่านๆ ไป โน้ตไป นึกไป ประกอบกับถ้อยคำที่อาจารย์สายชลกล่าวเสนอในที่ประชุมสัมมนา ก็ทำให้ผมยูเรก้าตาสว่างถึงบางอ้อเกี่ยวกับแก่นแท้ทางการเมืองของ “ความเป็นไทยกระแสหลัก” ว่า :

“คนไทยไม่ควรมีอำนาจเท่ากัน คนไทยบางคนควรมีอำนาจมากกว่าคนไทยคนอื่น เพราะพวกเขามีความเป็นไทยมากกว่า และเป็นคนดีมีศีลธรรมยิ่งกว่าคนไทยคนอื่น และเมืองไทยนี้ดีแล้วที่เป็นเช่นนี้”

ในทำนองเดียวกัน ระหว่างอ่าน ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย (2565) ของอาจารย์ประจักษ์ ซึ่งเพ่งเล็งรวมศูนย์ศึกษาปฏิบัติการทางการเมืองวัฒนธรรมของขบวนการ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, 2556-2557) มาถึงบทที่ 3 สงครามของ “คนดี” : การลดทอนความเป็นมนุษย์และความรุนแรงเชิงศีลธรรม หน้า 65 จากหนังสือทั้งเล่ม 155 หน้า ผมก็บรรลุจังหวะยูเรก้าตาสว่างถึงบางอ้อ เกี่ยวกับ กปปส. เช่นกันว่า :

“กปปส. = การแสดงออกอย่างสุดโต่งในเชิงปฏิบัติการของวาทกรรมธรรมวิทยาแห่งพลเมืองฉบับราชาชาตินิยมไทย” นั่นเอง

โดยอ้างอิงข้อคิดประกอบเรื่องธรรมวิทยาแห่งพลเมือง หรือ civic religion จากโครงการวิจัย “วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง : การศึกษาคำประกาศธรรมของประกาศกร่วมสมัย” ของศาสตราจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ กับคณะ (2556)

ผมคิดว่ามีความสืบทอดต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง “ความเป็นไทยกระแสหลัก” แบบอนุรักษนิยมที่อาจารย์สายชลศึกษา กับขบวนการ กปปส. ถึงแม้แน่นอนล่ะว่าในฐานะการเคลื่อนไหวมวลชนรูปธรรมที่เป็นจริง มันย่อมมีลักษณะเฉพาะพิเศษต่างๆ อยู่ แต่หากพิจารณาดูแนวโน้มทางการเมืองในมรดก กปปส. 3 ข้อที่อาจารย์ประจักษ์สรุปไว้ในหนังสือที่หน้า 124-129 แล้ว (วาทกรรมต่อต้านประชาธิปไตย, การเมืองของชนชั้นนำ, ชาตินิยมแบบกีดกัน, วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม เป็นต้น) ก็น่าจะกล่าวได้ว่า กปปส.ได้แสดงออกอย่างสุดโต่งตามบทบอกหรือสคริปต์ที่เขียนมาก่อนแล้ว

เสมือนหนึ่งสมัยเป็นเด็กก่อน 14 ตุลาคม 2516 ที่ผมเคยอ่านนิยายผีไทยๆ ของใบหนาด (นามปากกาของณรงค์ จันทร์เรือง) จนคุ้นเคย แล้ว 40 ปีให้หลังก็ได้เห็นผีโผล่ขึ้นมาจากหลุมกับตา ฉันใดฉันนั้น (https://www.happyreading.in.th/article/detail.php?id=584)

 

2. ภาพรวม : อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ

ผลงาน ความถนัด บุคลิกงาน

ในช่วงการทำงานวิชาการ 20 กว่าปีที่ผ่านมา อาจารย์ประจักษ์สร้างผลงานดีเด่นขนาดยาวไว้ 2 ชิ้น ได้แก่ :

1. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา (2545) เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของอาจารย์ประจักษ์ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี พ.ศ.2545 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต่อมาเมื่อปรับปรุงพิมพ์เผยแพร่เป็นรูปเล่มหนังสือก็ได้รางวัล TTF Award ของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสาขาสังคมศาสตร์ประจำปี พ.ศ.2547-2548

และที่สำคัญ รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งร่วมเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์เล่มนี้ด้วย ได้เอ่ยชมว่าเป็น “งานวิชาการภาษาไทยดีที่สุดเกี่ยวกับ 14 ตุลาฯ”

2. “Bosses, Bullets and Ballots : Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011” เป็นผลงานดุษฎีนิพนธ์ยังไม่ตีพิมพ์ที่อาจารย์ประจักษ์เขียนขึ้นที่ Department of Political and Social Change, School of International, Political and Strategic Studies, The Australian National University เมื่อปี ค.ศ.2013/พ.ศ.2556 โดยศึกษาวิจัยเปรียบเทียบความรุนแรงในการเลือกตั้งครั้งต่างๆ ของไทยตลอดช่วงเวลายาวนาน 36 ปีใน 6 จังหวัดซึ่งครอบคลุมทุกภาค ได้แก่ จังหวัดแพร่, นครสวรรค์, นครศรีธรรมราช, เพชรบุรี, บุรีรัมย์ และสระแก้ว

ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีข้อคิดแหลมคมลึกซึ้งเป็นระบบเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในระบอบการเมืองไทยและวงจรอุบาทว์ของความรุนแรงที่ทำลายการเลือกตั้งนับแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา

ผมเองได้ใช้งานดังกล่าวประกอบการสอนสัมมนาวิชาการเมืองไทยระดับปริญญาโท-เอกต่อเนื่องมาหลายปี

จากผลงานข้างต้นจะเห็นได้ว่าประเด็นการศึกษาวิจัยทางรัฐศาสตร์ที่อาจารย์ถนัดสันทัดเชี่ยวชาญได้แก่ ขบวนการมวลชนต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายขวา, ความรุนแรงทางการเมือง, การเมืองวัฒนธรรม, ประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวเหล่านี้มาประดังรวมศูนย์กันอยู่ในงานให้คนดีปกครองบ้านเมืองฯ เล่มนี้

และเช่นเดียวกับงานวิชาการอื่นๆ ของอาจารย์ประจักษ์ จุดเด่นอันเป็นแบบฉบับของงานล่าสุดนี้คือ :

– สรุปรวบยอดแนวคิดและวิเคราะห์ได้แจ่มชัดเหมาะสม (clear & cogent conceptualization & analysis) อาศัยที่อาจารย์ประจักษ์อ่านหนังสือตำราบทความกว้างขวาง มีย่าม/คลังบรรจุแนวคิดให้เลือกหยิบใช้เยอะ และอาจารย์ยังหยิบมาประยุกต์ใช้ได้เหมาะสมคล่องแคล่ว

– มีมุมมองเปรียบเทียบเสมอ (comparative perspective) เนื่องจากอาจารย์ได้ศึกษาค้นคว้าสภาพการเมืองประเทศต่างๆ มากว้างขวางหลากหลาย และฉลาดที่จะเลือกมาเทียบเคียงความเหมือน/แตกต่างกัน

– สำนวนภาษาของอาจารย์ประจักษ์ชัดเจนเข้าใจง่ายดังเป็นที่โจษขานกันของนักศึกษา มีช่วงที่บรรยายอย่างราบเรียบและก็มีช่วงที่เขียนได้อย่างทรงพลังกินใจ โดยเฉพาะในยามที่อาจารย์เล็งเห็นถึงความไม่เป็นธรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ววิพากษ์วิจารณ์

สรุปได้ว่า กปปส.ได้งานวิชาการวิเคราะห์วิจารณ์ที่คู่ควรสมน้ำสมเนื้อกันแล้วในหนังสือเล่มนี้

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)