ทำไม ‘ลูซิเฟอร์’ จึงเป็นเทวดาตกสวรรค์?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
Lucifer by Gustave Doré : Illustration for John Milton’s “Paradise Lost”,1866

ในโลกภาษาอังกฤษมักจะเรียกเทวดาตกสวรรค์ของคริสต์ชนที่ชื่อ “ลูซิเฟอร์” (Lucifer) ในอีกชื่อหนึ่งว่า “Morning star” ซึ่งก็หมายถึง ดวงดาวที่จะโผล่มาให้เราเห็นในท้องฟ้ายามย่ำรุ่ง คือ “ดาวประกายพรึก” หรือ “ดาวพระศุกร์”

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าแต่ดั้งเดิม “ลูซิเฟอร์” นั้นเป็น “เทพประจำดาวศุกร์” มาก่อนหน้าที่จะถูกถีบร่วงลงมาจากสวรรค์ตามความเชื่อของชาวคริสต์นั่นแหละครับ

แม้แต่ความหมายของชื่อ “Lucifer” นั้น ก็ยังแปลว่า “ผู้ครองไว้ซึ่งแสงสว่าง” ซึ่งก็หมายถึงแสงสว่างของดาวศุกร์บนท้องฟ้าในช่วงย่ำรุ่งนี่เอง

แต่ชาวคริสต์ก็ไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่เล่าเรื่องดาวศุกร์ร่วงหล่นลงจากสรวงสวรรค์ เทพปกรณ์ที่ว่าด้วยเรื่องการตกสวรรค์ของเทพเจ้าประจำดาวประกายพรึกนั้น มีมาก่อนเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม ที่นับถือกันทั้งในหมู่ชาวคริสต์ และชาวยิว เนิ่นนานพอดูเลยทีเดียว

 

ในกลุ่มวัฒนธรรมเมโสโปเตเมีย (เรียกตามพวกกรีก ซึ่งมีความแปลตรงตัวว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำ หมายถึงแม่น้ำไทกริส และแม่น้ำยูเฟรติส ทางตอนเหนือของภูมิภาคตะวันออกกลาง) เทพผู้ครองดาวศุกร์เป็นผู้หญิง โดยส่วนใหญ่แล้ว พระนางจะถูกเรียกในชื่อของ “อิชตาร์” (Ishtar)

แต่พวกสุเมเรียน (ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ใช้ตัวอักษรแรกสุดในดินแดนแถบนั้น และส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก จนถูกถือเป็นจุดตั้งต้นของวัฒนธรรมในเมโสโปเตเมียอยู่บ่อยๆ) เรียกไท้เธอว่า “อินันนา” (Inanna)

แต่นอกจากจะเป็นเทพีประจำดาวพระศุกร์แล้ว ผู้คนในดินแดนเมโสโปเตเมีย ยังควบตำแหน่งให้อิชตาร์ เป็น “พระแม่” (Mother Goddess) คือเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์อีกด้วยต่างหาก

ที่สำคัญก็คือ แนวคิดเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ในหลากหลายวัฒนธรรมโบราณนั้น มักจะสัมพันธ์อยู่กับความคิดเรื่องเพศ

คนโบราณมักจะเปรียบ “แผ่นฟ้า” เป็น “พ่อ” และยกให้ “ผืนดิน” เป็นเหมือนกับ “แม่” ดังนั้น “น้ำฝน” ที่ไหลหล่นลงมาจากฟากฟ้าก็จึงเปรียบได้กับ “น้ำรัก” ของพ่อที่พร่างพรมลงบนท้องของแม่คือ แผ่นดิน

ผลิตผลต่างๆ ที่งอกเงยขึ้นในเรือกสวนไร่นา ก็คือ “ลูก” ที่ได้รับเชื้อแห่งชีวิตที่พ่อบนผืนแผ่นฟ้าได้มอบให้ แล้วบังเกิดเป็น “ชีวิต” อยู่ท้องแม่ คือท้องของดิน ก่อนที่งอกเงยหรือผลิดอกออกผลขึ้นมา

ดังนั้น เมื่อเทพีอิชตาร์รับตำแหน่ง “พระแม่” แล้ว พระนางเลยจำใจต้องรับแพคเกจพ่วงเป็น เทพีแห่งความรัก ความใคร่ กามารมณ์ ไปจนกระทั่งเทพีผู้ปกปักหญิงงามเมือง และร้านเบียร์ (สำหรับผู้คนในวัฒนธรรมต่างๆ ของเมโสโปเตเมียยุคหลายพันปีก่อน “เบียร์” คือสัญลักษณ์ของ ความเป็นอารยชน และความอุดมสมบูรณ์ในระดับที่มั่งคั่ง)

แน่นอนว่าเทพีอิชตาร์ก็ต้องไปยุ่งเกี่ยวอยู่กับโลกบาดาล (หมายถึง โลกของคนตาย) เช่นเดียวกับที่ลูซิเฟอร์ตกจากสวรรค์ลงสู่ขุมนรกเหมือนกันนะครับ ไม่อย่างนั้น ผมจะเล่าถึงพระนางทำไม?

 

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า พระนางมีน้องสาวอยู่คนหนึ่ง เป็นเทพีแห่งโลกบาดาล ซึ่งในจารึกโบราณเรียกว่า “ดินแดนแห่งการไม่หวนกลับ” ซึ่งก็คือโลกของคนตาย ที่จะพัฒนากลายมาเป็นทัณพสถานอย่างนรกในภายหลัง เทพีพระนางนี้มีชื่อว่า “อิเรซกิคัล” (Ereshkigal) หรือที่พวกสุเมเรียนเรียกว่า “อัลลาตู” (Allatu)

วันหนึ่งเทพีอิชตาร์ได้ลงไปที่ดินแดนแห่งการไม่หวนกลับ ด้วยความโศกเศร้าที่พี่ชายบุญธรรมของพระนางซึ่งเป็นกระทิงแห่งสวรรค์ ชื่อ เอนกิดู (Enkidu) เสียชีวิต

แต่เทพองค์อื่น รวมถึงเทพีอิเรซกิคัล ไม่คิดอย่างนั้น เพราะต่างก็สงสัยว่าพระนางหมายใจจะยึดอาณาจักรของน้องสาวมาครอบครองเองเสียมากกว่า ดังนั้น พระนางจึงถูกฆ่า และโดนกักขังไว้ในดินแดนแห่งนั้น (บางสำนวน เช่น ฉบับของบาบิโลน ซึ่งนับถือเทพีอิชตาร์เป็นเทพีองค์สำคัญว่า พระนางไม่ได้ถูกฆ่า และสามารถกลับออกมาจากโลกบาดาลได้)

แต่เมื่อเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ แถมยังเป็นเทพีแห่งความรัก และกามารมณ์ตายไป โลกของคนเป็นก็วุ่นวายสิครับ เพราะความอุดมสมบูรณ์ได้หายไปจากโลก แถมสิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็ไม่มีความใคร่จนไม่มีคน หรือสัตว์ชนิดไหน ที่จะดำเนินกิจกรรมทางเพศกันเลย

Lucifer by Gustave Doré : Illustration for John Milton’s “Paradise Lost”,1866

เทพแห่งปัญญา “อีอา” (Ea) จึงได้พยายามช่วยพระนางให้ฟื้นกลับมามีชีวิต และออกจากโลกบาดาลได้จนสำเร็จ แต่การฟื้นคืนชีพของพระนางอิชตาร์นั้น ทำให้ในดินแดนแห่งการไม่หวนกลับมีพื้นที่ว่าง จึงต้องหาตัวแทนมาแทนที่

ดังนั้น จึงให้สามีของพระนางคือ “ทัมมุซ” (Tammuz) หรือที่พวกสุเมเรียนเรียกว่า “ดูมูซี” (Dumuzi) ไปเป็นตัวแทน

แต่ทัมมุซก็ไม่ได้เป็นพ่อพระใจงามยอมไปอยู่โลกบาดาลแทนภรรยาง่ายๆ หรอกนะครับ เพราะเขาได้ต่อรองกับพระนางว่า ให้ผลัดกันไปอยู่ในโลกบาดาลคนละครึ่งปี จนทำให้เกิดเป็นอะไรที่เรียกว่า “ฤดูกาล” ขึ้นในโลก เพราะช่วงเทพีอิชตาร์ไปอยู่ในดินแดนแห่งการไม่หวนกลับนั้น โลกก็จะอยู่ในช่วงฤดูแล้ง

แต่ถ้าพระนางอยู่ในโลกของคนเป็นโลกก็จะอยู่ในฤดูเก็บเกี่ยวนั่นเอง

 

เป็นที่ยอมรับกันดีว่า เรื่องราวที่ผมเล่ามาข้างต้น เป็นแรงบันดาลใจให้มหากวีเอกของกรีกโบราณอย่าง โฮเมอร์ (Homer, มีชีวิตอยู่เมื่อ 800 ปีก่อนคริสตกาล) นำไปแต่งเป็นเรื่องเจ้าแห่งนรกฮาเดส (Hades) ฉุดคร่าเอาเทพีแห่งธรรมชาติและฤดูใบไม้ผลิที่ชื่อ “เฟอร์เซโฟเน่” (Persephone) ไปเป็นชายา จนโลกแห้งเหี่ยว

สุดท้ายต้องนำพระนางกลับมาอยู่ในโลกคนเป็น ปีละช่วงเวลาหนึ่ง จนเกิดเป็นฤดูใบไม้ผลินั่นเอง

ในกรณีเทพปกรณ์ของพวกกรีกนั้น “เฟอร์เซโฟเน่” ถูกนับอยู่ในคณะเทพชุดหนึ่ง ที่เรียกกันในโลกภาษาอังกฤษว่า “คโธนิก” (chthonic)

คำว่า “chthonic” มาจากภาษากรีกโบราณว่า “khth?n” ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาคำศัพท์ที่พวกกรีกใช้เรียก “โลก” แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะหมายถึงโลกบาดาล หรือพื้นที่ที่อยู่ใต้ดินลงไป มากกว่าที่จะหมายถึงชีวิตที่อยู่บนผิวดิน (ซึ่งมักจะแสดงเป็นบุคลาธิษฐานด้วยรูปพระแม่ไกอา [Gaia] ผู้เป็นพระแม่ธรณีของกรีก) หรืออาณาบริเวณใดๆ

และเมื่อถูกนำมาใช้ในโลกภาษาอังกฤษแล้ว คำว่า “คโธนิก” จึงหมายถึงกลุ่มเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาของพวกกรีกยุคคลาสสิคที่อาศัยอยู่ในโลกบาดาลนั่นเอง

นักวิชาการหลายท่านเชื่อกันว่า แนวคิดเรื่องกลุ่มเทพคโธนิกนั้น เป็นความคิดที่เก่าแก่ และมีมาก่อนความเชื่อเรื่องเทพเจ้ากรีกบนเขาโอลิมปุส (ซึ่งมักจะเรียกกันว่า กลุ่มเทพโอลิมเปีย [Olympia]) เสียอีก และเทพกลุ่มนี้ก็คือเทพผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่โลก ด้วยพลังในท้องของดิน

และถ้าจะว่ากันด้วยคำจำกัดความอย่างนี้แล้ว ทั้ง “เทพแห่งดาวพระศุกร์” ไม่ว่าจะเป็น “เทพีอิชตาร์” หรือ “ลูซิเฟอร์” ก็คือเทพเจ้าจำพวกเดียวกับที่นับเป็น “คณะเทพคโธนิก” นี่เอง

 

น่าสนใจว่า ในเทพปกรณ์ของกลุ่มศาสนาแบบคานาอันไนต์ (Canaanite) ที่เจริญอยู่ในเขตลีแวนต์ (Levant) คือดินแดนเลียบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฟากตะวันออก ที่มีดินแดนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้าตามความเชื่อในคริสต์ศาสนาอย่าง “คานาอัน” หรือประเทศปาเลสไตน์ปัจจุบันนั้น ก็มีเรื่องเล่าของเทพเจ้าแห่งดวงดาวที่ตกสวรรค์อยู่ด้วย

ปกรณัมปรัมปราเรื่องนี้เล่าถึงเทพเจ้าผู้เป็นบุคลาธิษฐานของดาวพระศุกร์ที่ชื่อ “อัตตาร์” (Attar) พยายามที่จะชิงบัลลังก์ของเทพ “บาอัล” (Ba’al, แปลตรงตัวว่า เจ้าของ หรือท่านลอร์ด) แต่ทำไม่สำเร็จ จึงได้หนีไปครองโลกบาดาลแทน

ชื่อ “อัตตาร์” นั้นก็คือ คำว่า “อิชตาร์” ตามสำเนียงที่ใช้ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเขตลีแวนต์ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เทพอัตตาร์ในเทพปกรณ์แบบคานาอันไนต์ บางทีก็เป็นผู้ชาย แต่หลายทีก็เป็นผู้หญิง

ยังมีนิทานที่มีเนื้อเรื่องคล้ายๆ กันอีกเรื่องหนึ่งในเทพปกรณ์แบบคานาอันไนต์ ซึ่งเล่าว่า เทพเจ้าเล็กๆ องค์หนึ่งที่ชื่อ “เฮเลล” (H?l?l) ได้พยายามจะชิงบัลลังก์จากเทพเอล (El) แต่ไม่สำเร็จ โดยชื่อเฮเลลที่ว่านี้ก็คือ ชื่อของเทวดาตกสวรรค์ ในหนังสืออิสยาห์ ของพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ฉบับภาษาฮิบรู ที่เก่าแก่กว่าฉบับภาษาอังกฤษ

จนเมื่อมีการแปลพระคัมภีร์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษ จึงได้มีการไปหยิบยืมคำว่า “ลูซิเฟอร์” ที่หมายถึง “ดาวศุกร์” ในภาษาละตินมาใช้แทนชื่อของ “เฮเลล” ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮิบรู

เอาเข้าจริงแล้วการตกสวรรค์ของ “ลูซิเฟอร์” จึงมีที่มาที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และความหมายเชิงสัญลักษณ์ของผู้คน และวัฒนธรรมในภูมิภาคตะวันออกกลาง และปริมณฑลสมัยโบราณอย่างน่าสนใจ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ