ลาทีปีเก่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้ ‘รวย’

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เป็นธรรมเนียมที่ผมตั้งขึ้นมาเองว่า ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมจะเขียนอะไรที่เบาสบาย แต่พอจะมีอะไรที่เป็นคติหรือเป็นข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ได้ทบทวนชีวิตในปีที่ผ่านมา ทั้งยังได้ถือเป็นโอกาสแสดงความปรารถนาดีและขอขมาลาโทษท่านผู้อ่านทุกท่านไปด้วย

สัปดาห์นี้จึงขอพักซีรีส์บทความ “นักบุญแห่งอินเดีย” ไว้ก่อน ขอใช้โอกาสนี้ขมาลาโทษท่านผู้อ่าน หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผมได้ทำให้ท่านไม่พอใจ ขุ่นเคือง หรือไม่สบอารมณ์เพราะไม่ตรงกับที่ท่านรู้มา ฯลฯ จะโดยจงใจหรือแม้จะไม่ใช่ความผิดอะไรของผมก็ตาม ผมกราบขออภัยทุกท่านไว้ ณ ที่นี้

ยิ่งไปกว่านั้น ขอให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตาผมต่อไปในปีที่จะมาถึงด้วย โบราณว่าคำพูดจริงใจบางครั้งไม่น่าฟัง แต่ย่อมมีประโยชน์หากพิจารณาโดยแยบคาย

 

ปกติแล้วช่วงนี้เรามักได้ยินคำอวยพรและได้โอกาสอวยพรผู้อื่นเสมอ โดยเฉพาะคำว่า “ขอให้รวย” ซึ่งเป็นคำอวยพรยอดฮิต

สมัยก่อนผมไม่ชอบพูดคำนี้เลย เนื่องจากไปถือตัวว่าเป็นนักวิชาการ จึงเห็นว่าเป็นคำอวยพรที่ดูไม่ค่อยเกี่ยวกับสติปัญญาสักเท่าไหร่ คิดไปเองว่าเรามีปัญญาเดี๋ยวก็รวยได้

ยิ่งหากเห็นพระอวยพรโยมว่า ขอให้รวยๆ ผมถึงกับบ่นในใจว่าช่างไม่เหมาะกับสมณสารูป หรือไม่ก็น่าจะตั้งใจประจบคฤหัสถ์ โดยไม่คิดถึงธรรม

ทว่า คงมีอีกหลายคนที่คิดอย่างผม คือคิดว่าคนเราต้องขยันมากๆ ถึงจะรวยได้ คนจนคือคนไม่เอาการเอางาน ความจนหมดไปได้ด้วยความหมั่นเพียร ให้พรไปก็เท่านั้น

แต่เมื่อโตขึ้นจึงรู้ว่า ความจนไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะความขยันหรือขี้เกียจของปัจเจกบุคคล แต่มีทั้งเรื่องโอกาส โครงสร้างเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ของรัฐซึ่งโยงใยไปยังเรื่องอื่นอีกมาก เช่นความเป็นธรรม การผูกขาด ชนชั้น ระบบการศึกษา ฯลฯ

ดังนั้น ความยากจนจึงมีหลายสาเหตุหลายปัจจัย จะไปโทษแต่ปัจเจกบุคคลไม่ได้ ผมจึงเปลี่ยนความคิด

 

ผมเองจะไม่เคยประสบกับความยากจน แต่ตอนทำงานครั้งแรกแล้วหลวงตกเบิกถึงสามเดือน ต้องหยิบยืมเงินของทางบ้านมาใช้นั้น ประสบความลำบากมิใช่น้อย กระนั้นก็เทียบไม่ได้เลยกับคนจนอีกหลายล้านในประเทศนี้ที่ต้องทุกข์ยากแสนสาหัส

ความจนไม่เพียงสร้างความทุกข์สารพัด ที่ผลักให้เรากระเสือกกระสนดังคำว่าปากกัดตีนถีบ แต่ยังค่อยๆ กัดกินจิตใจของเราไปเรื่อยๆ และสุดท้ายก็ทำให้เรากัดกินกันเองด้วย

แม้ผมเองจะไม่ได้ยากจนตามเกณฑ์ เพราะทำงานมีเงินเดือน แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองมีเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ ยิ่งในปีที่ผ่านๆ มา หลายคนคงเห็นผมทำงานสารพัด นอกจากงานประจำผมยังทำรายการต่างๆ เพราะมีแรงขับดันลึกๆ ในใจที่รู้สึกว่าตัวเองนั้นยากจน อาจเพราะมัวไปเปรียบเทียบรายได้กับเพื่อนๆ ที่ทำอาชีพอื่นในวัยเดียวกัน หรือไม่ก็เห็นคนที่ร่ำรวยอย่างก้าวกระโดดโดยใช้ชื่อเสียงทางออนไลน์

จะว่าเป็นความอิจฉาริษยาก็ได้ครับ แถมยังทระนงตนคิดว่า เฮ้ย กูนี่อินฟลูฯ รุ่นเก๋าเลยนะ แต่ทำไมถึงรวยอย่างเขาไม่ได้

ช่วงสองปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดทำให้ผมและภรรยาจำต้องหาที่พักซึ่งมีพื้นที่มากขึ้น เพียงพอที่เราทั้งสองคนจะทำงานออนไลน์ได้โดยไม่รบกวนกัน

หลังจากย้ายมาเช่าบ้านอยู่ฝั่งธนฯ แม้ค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มมากขึ้นโดยรายได้คงเดิม แต่ผมกลับรู้สึกอีกแบบ เหมือนตัวเองมั่งมีขึ้นหน่อย เพราะพอมีบ้านก็มีผู้คนแวะมาเยี่ยมหา ผมได้มีโอกาสต้อนรับเพื่อนๆ ได้ทำอาหารต่างๆ เลี้ยงอย่างสนุกสนาน

ครั้งหนึ่งเพื่อนๆ ชาวสังฆะวัชรปัญญามาที่บ้าน วิจักขณ์ พานิช ได้ขอให้ผมต้อนรับเพื่อนๆ เหล่านั้น ในงานเลี้ยงปิดการภาวนาประจำปี ไม่น่าเชื่อว่า บ้านเช่าเล็กๆ จะรองรับผู้มาเยือนได้ถึงยี่สิบคน แถมยังมีเก้าอี้เพียงพอให้ทั้งยี่สิบคนนั่ง จนวิจักขณ์แซวว่า นี่มันบ้านของวิมลเกียรติ! (บ้านของท่านวิมลเกียรติในพระสูตร “วิมลเกียรตินิทเทสสูตร” สามารถรองรับพุทธสาวกและเหล่าโพธิสัตว์ได้เป็นพันคนในคราวเดียวอย่างอัศจรรย์)

หลังจากนั้น ผมรู้สึกยินดีที่จะต้อนรับผู้คน แบ่งปันอะไรที่พอจะมีได้บ้างโดยเฉพาะอาหาร ผมเริ่มจัดดอกไม้ไว้ในส่วนต่างๆ ของบ้าน มีเสียงเพลงจากเครื่องเสียงราคาถูก มีความสะดวกและน่าพึงใจตามสมควร

 

ปลายปีนี้ คุณนิ้วกลมนักเขียนใหญ่แห่งยุคสมัยมากินข้าวที่บ้าน ผมเผลอพูดกับเขาว่า ตอนนี้ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนรวย ผมไม่ได้รู้สึกยากจนทางจิตใจเหมือนเมื่อก่อน เพราะรู้สึกว่าพอจะแบ่งปันอะไรกับคนอื่นได้บ้าง และเริ่มมีความรื่นรมย์อื่นๆ เพิ่มเติมมาในชีวิตโดยที่ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือยอะไรนัก

พูดแบบนี้ดูน่าหมั่นไส้และล่อแหลมมากทีเดียว ตะกี้ผมยังพูดอยู่เลยว่าความจนไม่ใช่เรื่องของปัจเจก จู่ๆ ก็มาบอกว่าความรวยเป็นความรู้สึก ที่จริงผมคิดว่าสองเรื่องนี้มันไปด้วยกันได้ ผมไม่ได้เห็นว่าเราควรมีคำอธิบายอะไรทางศาสนาหรือนามธรรมมาบดบังปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจริงๆ (ดังที่เราชอบทำมาโดยตลอด) ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ต้องแก้กันไปภายนอก แต่เราก็อาจเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจไปด้วยได้เช่นกัน

ดังนั้น แม้ผมจะรู้สึกว่าตัวเองรวยทางใจ แต่ผมก็ยังต้องทำงานเหมือนเดิม และยังเห็นว่าเราก็ยังควรส่งเสริมรัฐสวัสดิการให้เป็นจริง คนในสังคมจะได้เลิกจนกันโดยทั่วหน้า

 

มีสุภาษิตอินเดียอันหนึ่งที่ผมจำขึ้นใจว่า “ความจนคือสภาพแห่งการขอ มิใช่การมีทรัพย์น้อย เพราะแม้พระศิวะจะมีเพียงโคแก่ๆ เป็นสมบัติ แต่ก็ทรงเป็นปรเมศวร์”

คนที่รวยทรัพย์ล้นฟ้าจึงอาจจนทางจิตใจมากๆ ก็ได้ เช่น เศรษฐีที่ยังคงทำธุรกิจผูกขาดกินรวบโดยไม่แบ่งปันส่วนให้ใครเลย หรือคนที่ยิ่งมีเยอะก็ยิ่งหวงแหนจนแม้ลูกหลานก็ไม่ได้อะไร

ในคติอินเดีย เขาจึงจำแนกความยากจนไว้ถึงแปดประการ ได้แก่ ความยากจนเงินทอง (ธนทริทระ), ความยากจนอายุและสุขภาพ (อายุทริทระ), ความยากจนความรู้ (วิทยาทริทระ), ความยากจนเกียรติยศ (กีรติทริทระ), ความยากจนวาจา มีคำพูดไม่น่าฟัง ไม่มีใครเชื่อถือ (วาคทริทระ), ความยากจนคุณงามความดี (คุณทริทระ), ความยากจนกามสุข (กามทริทระ) และความยากจนธรรม (ธรรมทริทระ)

คนเราจึงอาจจนบางอย่างและรวยบางอย่างได้เสมอ แต่จะดีกว่าหากไม่ใช่รวยแค่อย่างหนึ่งอย่างใด ทว่า อีกเจ็ดอย่างไม่มีเลย เช่น รวยเงินหรือเกียรติแต่ยากจนคุณสมบัติทุกประการที่เหลือ

ความรวยที่ตรงข้ามกับความยากจนแปดประการนี้ เขาเฉลิมรูปให้เป็นพระเทวีลักษมีแปดปาง (อัษฏลักษมี) แม้บางตำราจะไม่ได้ตรงตามคำบรรยายข้างต้น แต่ก็ช่วยเตือนให้ได้ระลึกว่าเวลาจะบูชาพระลักษมี พระองค์เป็นตัวแทนความรวยหลากมิติ ไม่ควรคิดถึงความรวยเงินเท่านั้น

นอกจากนี้ ผมยังระลึกถึงท้าวชัมภละหรือท้าวกุเวร ซึ่งมักถือว่าเป็นองค์เดียวกับท้าวเวสสุวรรณ ในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานนับถือกันว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ประทานความร่ำรวย อันมีอยู่ห้าปาง ความร่ำรวยที่ว่านี้มิใช่ความร่ำรวยทางโลก แต่จิตใจอันร่ำรวย ที่จะช่วยหนุนเสริมการปฏิบัติทางจิตวิญญาณให้ลุล่วง

ท้าวชัมภละทั้งห้าปาง มิได้เพียงสะท้อนถึงธาตุทั้งห้าหรือความสัมพันธ์กับปัญจพุทธกุล แต่ยังสะท้อนการเอาชนะสภาวะจิตแห่งความยากจนทั้งห้า อันได้แก่ ความหยิ่งผยอง, ความยึดมั่นถือมั่น, ความขุ่นเคืองหรือโกรธ, ความอิจฉาริษยาและความโลภ

สภาวะจิตแห่งความยากจนทั้งห้านี้ ใครมีมากเพียงไรก็ยากจนเพียงนั้น หากเอาชนะได้ สภาวะจิตก็เปลี่ยนไปสู่ความร่ำรวยได้

ผมจึงอยากฝากทุกท่านที่นับถือท้าวเวสสุวรรณหรือท้าวชัมภละ ซึ่ง “กำลังมา” ในตอนนี้ว่า เราอย่าลืมขอพร ให้เราพ้นจากสภาวะจิตแห่งความยากจนทั้งห้าไปพร้อมๆ ความร่ำรวยภายนอกด้วย และอยากชวนให้อธิษฐานไปอีกว่า

ขอให้ความร่ำรวยจงหว่านโปรยไปทั่วถึงเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย มิใช่เรารวยคนเดียวแต่จนทั้งสังคม เพราะความรวยแบบนั้นช่างโหดร้าย

สุดท้ายนี้ ผมจึงขออธิษฐานด้วยใจจริง

ขอให้ทุกท่าน “ร่ำรวย” และ “รุ่มรวย” ในทุกมิติของชีวิต

สวัสดีปีใหม่ ขอให้รวยครับ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง