‘ผีของเหม เวชกร’ ในฉากน้ำท่วมพระนคร 2485 (2) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

‘ผีของเหม เวชกร’

ในฉากน้ำท่วมพระนคร 2485 (2)

 

ใน “กรุงเทพฯ แช่น้ำ” เรื่องผีของเหม เผยเรื่องขยองขวัญเมื่อครั้งน้ำท่วมไว้ว่า “โอ๊ยตายแล้ว!…ครูคงตายมาสองสามวันแล้ว…แกอาบน้ำและตายคาบันได แช่น้ำตาย…อนิจจา ครูคงยังห่วงเพื่อน อุตส่าห์นำเรือไปรับนายยอดกับครูแก้วมาส่งถึงบ้าน”

(เหม, 169)

ปกหนังสือเรื่องสั้นแนวผี ของเหม เวชกร เครดิตภาพ : Ugly Ducky

เรื่องผีที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

“กรุงเทพฯ แช่น้ำ” เป็นเรื่องผีที่เหมเขียนขึ้นโดยใช้ฉากน้ำท่วมพระนคร 2485 เขาวางโครงเรื่องเล่าถึงชีวิตของข้าราชการครู กระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่ง ชื่อ “นายยอด” ซึ่งอาจสะท้อนชีวิตของเขาเมื่อครั้งทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบหนังสือเรียนให้กับกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ

ตามท้องเรื่อง เหมวางเรื่องไว้ว่า นายยอดและกลุ่มเพื่อนครู “ครูแก้ว” และ “ครูคง” ที่เป็นนักดื่มมักแวะดื่มก่อนกลับเข้าบ้านเสมอ

จนครั้งหนึ่ง เขาและครูแก้วดื่มติดลมเกิน 4 ทุ่ม จนไม่มีเรือกลับเข้าบ้าน พวกเขาเจอครูคงนั่งเรือจ้างมารับและไปส่งบ้าน แต่สภาพทางกลับบ้านต้องผ่านกุดังเก็บศพของวัดน้อย (วัดหิรัญรูจีวรวิหาร) กุโบของชาวมุสลิมย่านบ้านแขก

เมื่อถึงบ้าน เขาจึงทราบว่า ครูคงเสียชีวิตไปเมื่อวันก่อนแล้ว

ภาพปกผลงานเรื่องสั้นแนวผีของเหม เครดิตภาพ : Hem เหม เวชกร ที่รัก

ชีวิตชาวพระนครครั้งน้ำท่วมในเรื่องสั้นแนวผี

ในเรื่องสั้นแนวผีของเหม ให้บรรยากาศชีวิตการเดินทางชาวพระนครไปทำงานด้วยการขึ้นรถลงเรือและเดินลุยน้ำ ทั้งชายและหญิงต่างนุ่งกางเกงขาสั้น เพื่อสะดวกในการลุยน้ำท่วม เวลาเดินลุยน้ำต้องระวังคลื่นจากรถยนต์ขนาดใหญ่เพราะมันอาจซัดคนเดินถนนจนหกล้มได้ ต้องเขย่งตัวให้พ้นคลื่นสูง คนทั่วไปในช่วงนั้นนุ่งกางเกงขาสั้น รองเท้ายาง (เหม, 161)

เขาบันทึกภาพน้ำท่วมด้วยตัวอักษรอย่างมีอารมณ์ขันว่า เมื่อต้องลุยน้ำท่วม เกิดท่วงท่าเดินลุยน้ำ เช่น ท่าสเต็ปลุยน้ำด้วยการยกเข่าสูง แล้วจุ่มขาลง แล้วยกขึ้น ทำไปเรื่อยจนกว่าจะเดินได้ตามปกติ

ชุดลุยน้ำท่วมของข้าราชการมีลักษณะนุ่งกางเกงขาสั้น ผ้าขาวม้าคาดพุง บนหัวจะมีของเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระเป๋าเงิน บุหรี่ ใส่ผ้าเทินหัว เหมือนช่างไม้ออกจากบ้านลุยน้ำต่อเรือไปทำงาน (เหม, 160)

น้ำท่วมพระนคร 2485 และภาพผี ผลงานของเหม เวชกร

วาดภาพน้ำท่วมด้วยตัวอักษร

ในเขตเมืองยามน้ำท่วม พ่อค้าแม่ค้าปรับหาบเร่กลายเป็นเรือเร่ขายของ ในยามเวลาค่ำ ท้องน้ำในพระนครเต็มไปด้วย “เรือเสียโป ข้าวต้มปลา มาหน้าบ้าน ค่ำคืนขาน ร้องขาย มากมายหน้า เนื้อปลาผัก แห้งสด สุดพามา เร่เรือค้า ขายเกลื่อน เหมือนลำคลอง” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 40) ส่วนในเขตนอกเมืองย่านฝั่งธนบุรี มีเรือขายข้าวสารกันคึกคักเหมือนตลาด (เหม, 163)

แม้นพระนครมีน้ำเต็มเมือง แต่น้ำดื่มก็ต้องซื้อดื่ม

เหมเล่าว่า นอกจากอาหารแลผักสดจะแพงและหายากแล้ว แต่ไม่มีอะไรหายากเท่าน้ำดื่ม เพราะท่อประปาถูกน้ำท่วม ไม่สามารถเปิดน้ำก๊อกออกมา จึงต้องซื้อน้ำที่มีเรือขายน้ำปี๊บมาขายเป็นน้ำดื่ม แต่จะใช่น้ำประปาหรือไม่นั้น ไม่มีใครรับรองได้

การหาน้ำดื่มช่วงน้ำท่วมช่างยากเย็นยิ่งนัก (เหม, 161)

เหม เวชกร สมัยหนุ่มที่สวนบางระมาด ตลิ่งชัน 2477 และภาพประกอบเรื่องกรุงเทพฯ น้ำท่วม

ชีวิตคนฝั่งธนฯ ยามน้ำท่วม

เหมเล่าไว้ในเรื่องสั้นของเขาว่า ค่ำวันหนึ่ง ตัวละครของเรื่องทำงานที่กระทรวงศึกษาฯ การเดินทางมีเรือแจวที่บรรทุกผู้โดยสาร 10 คน จอดรับผู้คน เรือลำใหญ่จะไปบริเวณที่น้ำตื้นไม่ได้ เพราะท้องเรือจะติด ดังนั้น ผู้โดยสารต้องเดินต่อไปตามเป้าหมาย เรือโดยสารส่งได้เพียงโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ที่มีระดับน้ำเกินตาตุ่มเล็กน้อย

ระหว่างที่เขาเดินลุยน้ำต่อไปไม่ลึกนัก ขณะกำลังเดินมุ่งไปข้ามสะพานพุทธกลับไปยังฝั่งธนบุรี เพราะบ้านเขาอยู่แถววัดน้อยหรือวัดหิรัญรูจีฯ ต่อมาเขาขอเกาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่เป็นรถสูบส้วมข้ามสะพานพุทธไปลงที่วงเวียนเล็ก เพราะรถสูบส้วมจะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนไปทางวัดอนงคารามวรวิหาร ไปส่งมูลที่ท่าเรือคลองสาน เขาจึงต้องลงเดินลุยน้ำระดับบั้นเอวกลับบ้าน

มีอยู่คืนหนึ่ง นายยอดไปกินดื่มที่ภัตตาคารหรูย่านเยาวราช จนถึงตีสาม เขาและครูแก้วต้องกลับบ้าน เพราะพรุ่งนี้ต้องทำงาน เขาและครูแก้วนั่งเรือรับจ้างหน้าภัตตาคารมาส่งที่เชิงสะพานพุทธ จากนั้น ก็เดินข้ามสะพานมายังฝั่งธนบุรี แต่ไม่มีเรือรับจ้างต่อไปส่งบ้าน เขาทั้งสองเดินลุยน้ำจากเชิงสะพานมาถึงวงเวียนเล็ก

เขาเล่าต่อว่า จากวงเวียนเล็ก น้ำลึกระดับบั้นเอว ตอนกลางสายน้ำยันกันระหว่างกระแสน้ำจากคลองบ้านสมเด็จฯ และกระแสน้ำจากคลองบางหลวงเป็นเวิ้งน้ำลึกกว้างน่ากลัว กลายเป็นวังน้ำวนตรงแยกบ้านแขก ระดับน้ำตรงทางไปสะพานเจริญพาศน์ระดับน้ำลึกเท่าอก ทั้งครูแก้วร่ำลานายยอด ว่าจะต้องแยกทางกลับบ้านไปดูแลภริยาและลูก ใจหนึ่งก็ห่วงเพื่อนด้วย

ส่วนหากเข้าไปในสวนนั้น ระดับน้ำลึกขนาดต้องว่ายน้ำเข้าบ้าน ลุยน้ำไม่ได้เลย น้ำท่วมฝั่งธนฯ มีสัตว์ร้ายมาก เช่น จระเข้ งูชุกชุมเพราะออกมาจากสวน และบ้านคนห่างๆ กัน (เหม, 164-165)

แยกบ้านแขกปัจจุบัน ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ด้านตรง ถนนประชาธิปก ด้านขวา

ผี “ครูคง” ในฉากน้ำท่วมพระนคร

หลังจากที่พรรณนาสภาพบ้านเมืองเมื่อครั้งน้ำท่วมแล้ว เหมวางโครงเรื่องผีของเขาว่า ปกติทั่วไปแล้ว สามสหายมักไปดื่มหลังเลิกงานและกลับบ้านด้วยกัน แต่มีอยู่วันหนึ่ง นายยอดกลับบ้านพร้อมครูแก้วเพียงสองคน เนื่องจากครูคงไม่มาทำงาน และคืนนั้นสองสหายไปกินดื่มกันจนดึก จึงไม่มีเรือรับจ้างจากสะพานพุทธกลับบ้าน

เขาทั้งสองจึงตัดสินใจเดินลุยน้ำกลับบ้าน ระหว่างทางในความมืด พวกเขาได้ยินเสียงครูคงร้องเรียกให้เขาทั้งสองขึ้นเรือ ครูคงสั่งให้เรือรับจ้างไปส่งครูคงที่บ้านก่อน หลังจากนั้น จึงให้เรือไปส่งนายยอดและครูแก้ว เรือได้พาทั้งสองคนผ่านเขตสุสานหรือกุโบของชาวมุสลิม และโกดังเก็บศพของวัดหิรัญรูจีฯ จนสามารถมาส่งนายยอดและครูแก้วที่บ้านของนายยอดได้

พอนายยอดขึ้นบ้าน เขาก้มลงหยิบเงินเพื่อชำระค่าเรือจ้าง ปรากฏว่า ไม่ทราบว่าเรือลำนี้หายไป ทำไมจึงพายเรือออกจากเขตบ้านได้รวดเร็วนัก และต่อมานายยอดทราบจากภริยาของเขาว่า ครูคงที่หาเรือรับจ้างมาส่งพวกเขานั้นเสียชีวิตไปตั้งแต่สองวันแล้ว หลังจากที่นายยอดและครูแก้วฟังเรื่องราวจากภริยานายยอดแล้วนิ่งอึ้ง ไม่ได้โต้เถียงอะไรอีก

“อนิจจา ครูคงยังห่วงเพื่อน อุตส่าห์นำเรือไปรับนายยอดกับครูแก้วมาส่งถึงบ้าน”

เหมปิดท้ายเรื่องสั้นผีในยุคน้ำท่วมว่า “นับแต่วันนั้น ผมกะครูแก้วนัดกันเลิกกินเหล้าดึกๆ ผิดเวลา ต่างกลับบ้านตรงเวลาด้วยกัน ขืนโอ้เอ้ไปจะโดนทั้งลุยน้ำและผีหลอก จะยิ่งร้ายใหญ่ ขอกลับตัวเป็นคนดีเสียทีเถิด”