จิตรกรรมฝาผนังลุ่มเจ้าพระยา : ที่มา หน้าที่ และความหมาย (2) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

จิตรกรรมฝาผนังลุ่มเจ้าพระยา

: ที่มา หน้าที่ และความหมาย (2)

 

ข้อเสนอของ อ.คริส และ อ.ผาสุก ว่าด้วยการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถและพระวิหารเพื่อให้คนทั่วไปได้มองเห็น เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ทำให้ผมนึกถึงปรากฏการณ์ใหม่ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างหนึ่งที่ดูจะสอดคล้องกันอย่างพอดี

เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วในวงวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมว่า ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายได้เกิดความนิยมอย่างใหม่ในการสร้างพระอุโบสถให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และสร้างในตำแหน่งที่เป็นประธานของวัดแทนที่พระปรางค์หรือพระเจดีย์ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นประธานของวัดมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น วัดบรมพุทธาราม วัดตึก วัดหน้าพระเมรุ และวัดครุธาราม เป็นต้น ในขณะที่บางวัดก็นิยมสร้างพระอุโบสถคู่กับวิหารในฐานะประธานหลักของวัด เช่น วัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรี

ความนิยมดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาขึ้นอีกระดับจนกลายมาเป็นการออกแบบแผนผังวัดที่มีพระอุโบสถขนาดใหญ่เป็นประธานโดยมีระเบียงคตล้อมรอบในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดดุสิดาราม วัดพระแก้ว เป็นต้น

หรือการออกแบบแผนผังวัดให้มีพระอุโบสถและพระวิหารตั้งคู่กันโดยมีระเบียงคตล้อมรอบทั้งสองอาคาร เช่น วัดมหาธาตุฯ และวัดปทุมคงคา เป็นต้น

การมีระเบียงคตล้อมพระอุโบสถ (และวิหารด้วยในบางวัด) ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ได้ทำให้พระอุโบสถกลายสถานะมาเป็นอาคารประธานของวัดโดยสมบูรณ์แบบ (ในสมัยอยุธยามีเพียงวัดโลกยสุธารามเพียงวัดเดียวซึ่งมีการสร้างระเบียงคตล้อมพระอุโบสถ ซึ่งถือว่าเป็นกรณีเฉพาะที่น่าสนใจมาก แต่จะไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียด ณ ที่นี้)

ส่วนพระปรางค์และพระเจดีย์แม้จะไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ก็มักถูกสร้างขึ้นในขนาดที่เล็กลง และอยู่ในตำแหน่งที่มิได้มีนัยยะสำคัญมากนัก (ยกเว้นกรณีพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่ถือเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากต้องการสร้างมหาธาตุกลางเมืองกรุงเทพฯ)

คำถามที่ตามมา คือ การให้ความสำคัญกับขนาดและตำแหน่งของพระอุโบสถที่เพิ่มมากขึ้นกับความนิยมใหม่ในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

แผนผังพุทธาวาสวัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ ที่ออกแบบขึ้นให้มีความหมายเป็นดั่งชมพูทวีปอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาสร้างความหมายดังกล่าวให้สมบูรณ์ขึ้น

โดยส่วนตัว แม้จะคล้อยตามอยู่ไม่น้อยกับข้อเสนอของ อ.คริส และ อ.ผาสุก ที่วิเคราะห์เชื่อมโยงเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายโครงสร้างทางสังคมแบบจารีตมากขึ้น เป็นสังคมแบบทางโลกมากขึ้น เป็นปัจเจกมากขึ้น

อยู่ในระบบเศรษฐกิจการค้ามากขึ้น มีจำนวนของผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจมากขึ้นจนสามารถเข้ามาอุปถัมภ์การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีราคาแพงได้

ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของภาพเขียนเหล่านี้ที่เข้ามาช่วยสั่งสอนและกระตุ้นศีลธรรมทางศาสนาของผู้คนในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไร้ระเบียบของสังคมอยุธยาตอนปลาย

แต่ผมกลับคิดว่า น่าจะมีเหตุผลที่มากไปกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลในมิติของการออกแบบเพื่อเป้าหมายในการสร้างความหมายใหม่บางอย่างให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ภายในของพระอุโบสถ ซึ่งความหมายใหม่ดังกล่าวสอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคมตามที่ อ.คริส และ อ.ผาสุก ได้นำเสนอไว้

ผมอยากเริ่มต้นด้วยการยกข้อสังเกตของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา” เมื่อนานมาแล้ว

 

ในงานชิ้นนั้น อ.นิธิได้อธิบายความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่น่าสนใจในเชิงเนื้อหาที่เกิดขึ้นกับการแต่งคัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” อันเป็นคัมภีร์ว่าด้วยโลกศาสตร์ (ความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาล) ซึ่งถูกแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยเปรียบเทียบกับคัมภีร์โลกศาสตร์ฉบับอื่นๆ ที่เขียนขึ้นก่อนหน้านั้น

โดยในเวอร์ชั่นใหม่ของรัชกาลที่ 1 นั้น ผู้แต่งมีการเขียนที่ให้ความสำคัญกับแกนหลักทางภูมิศาสตร์ของโลกและจักรวาลไปที่ “โพธิบัลลังก์” (ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้) ที่ตั้งอยู่กลาง “มัชฌิมประเทศ” ใน “ชมพูทวีป” อย่างมีนัยยะสำคัญมากเป็นพิเศษ

ในขณะที่คัมภีร์โลกศาสตร์ที่เขียนขึ้นก่อนหน้านั้นดูจะให้ความสำคัญกับการพรรณนาแกนหลักของโลกและจักวาลไปที่ “เขาพระสุเมรุ” มากกว่า

อ.นิธิวิเคราะห์จุดเน้นที่ต่างกันตรงนี้เอาไว้ว่า การเปลี่ยนหลักของโลกจาก “เขาพระสุเมรุ” มาเป็น “โพธิบัลลังก์” กลาง “มัชฌิมประเทศ” ใน “ชมพูทวีป” มีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อแนวคิดเกี่ยวกับกษัตริย์และรัฐในยุคต้นรัตนโกสินทร์

เป็นการสื่อด้วยนัยว่า แนวคิดเดิมที่ให้ความสำคัญกับกษัตริย์ที่เคยเป็นเสมือน “เทวะ” บนยอดเขาพระสุเมรุ ได้ถูกลดทอนลงหรือมีการเพิ่มความสำคัญใหม่ให้แก่สถานะของกษัตริย์ในฐานะที่เป็น “พุทธะ” ของโลกแทน

ดังจะเห็นได้จากการอธิบายกำเนิดของกษัตริย์พระองค์แรกของโลกว่าเป็นพระโพธิสัตว์ และจะมาบังเกิดขึ้นบนแผ่นดินมัชฌิมประเทศกลางชมพูทวีป สิ่งนี้สอดคล้องกับอุดมคติใหม่ของกษัตริย์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่เน้นความเป็น “ธรรมราชา” มากกว่าการเป็น “เทวราชา”

อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้มิได้หมายความว่า ความสำคัญของเขาพระสุเมรุ และสถานะของกษัตริย์ในบทบาทขอการเป็นเทวะราชาจะหายไปอย่างสิ้นเชิงนะครับ เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงคำอธิบายในรายละเอียดบางอย่าง และเริ่มให้ความสำคัญกับกษัตริย์ในบทบาทของธรรมราชาเข้ามามากขึ้น

 

นอกจากนี้ ในคัมภีร์เวอร์ชั่นรัชกาลที่ 1 ยังมีการอธิบายด้วยว่า โพธิบัลลังก์คือ “ศีรษะแผ่นดิน” ที่จะเป็นผืนดินแห่งสุดท้ายที่จะโดนไฟประลัยกัลป์เผาทำลาย และจะเป็นผืนดินผืนแรกที่จะโผล่ขึ้นพ้นน้ำเมื่อมีการก่อกำเนิดโลกและจักรวาลขึ้นใหม่

ในงานศึกษาของผมเมื่อนานมาแล้วเรื่อง “การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1” ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาขยายความต่อ และได้ข้อสรุปว่า ความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปจาก “เขาพระสุเมรุ” มาสู่ “โพธิบัลลังก์” (ศีรษะแผ่นดิน) กลางชมพูทวีปนั้น มิได้ถูกนำเสนอผ่านเนื้อหาในคัมภีร์ไตรภูมิโลกยวินิจฉยกถาเพียงเท่านั้น

แต่ยังถูกนำเสนอผ่านการออกแบบวัดในสมัยรัชกาลที่ 1 และอีกหลายวัดในยุคต้นรัตนโกสินทร์ด้วย

กล่าวอย่างรวบรัด ข้อเสนอในงานชิ้นนั้นของผมอธิบายว่า พระอุโบสถที่มีระเบียงคตล้อมรอบในสมัยรัชกาลที่ 1 คือแผนผังที่ถูกออกแบบขึ้นอย่างตั้งใจเพื่อให้เป็นพื้นที่ที่สื่อแทนความหมายของชมพูทวีปอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีตำแหน่งพระประธานภายในพระอุโบสถสื่อแทนความหมายของโพธิบัลลังก์

ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นภายในทั้งหมดคือสัญลักษณ์ที่สื่อแสดงความหมายของ “สัตตมหาสถาน” (สถานที่เสวยวิมุติสุข 7 แห่งของพระพุทธเจ้าภายหลังการตรัสรู้) และ “อัฏฐมหาสถาน” (สถานที่สำคัญ 8 แห่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ครั้งสำคัญตลอดพระชนม์ชีพ) ซึ่งภาพของสถานที่ทั้งหมดดังกล่าวเป็นองค์ประกอบเชิงสัญลักษณ์สำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลยในการนิยามว่า พื้นที่แห่งใดคือชมพูทวีป

หากเชื่อตามข้อเสนอข้างต้นของผม ก็จะเห็นได้ชัดว่า บทบาทหน้าที่ของภาพจิตรกรรมฝาผนังคงมิได้มีเพียงเท่าที่ อ.คริส และ อ.ผาสุก นำเสนอเท่านั้น

แต่หน้าที่หลักอีกอย่างของภาพเหล่านี้ คือ การเข้ามาเป็นองค์ประกอบทางสัญลักษณ์อันสำคัญที่จะสร้างความหมายของการเป็นชมพูทวีปให้เกิดขึ้นภายในพื้นที่พระอุโบสถ

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงสัญลักษณ์ “สัตตมหาสถาน” และ “อัฏฐมหาสถาน” มิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นะครับ แต่เป็นสิ่งที่มีหลักฐานร่องรอยมาแล้วตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ตัวอย่างสำคัญที่มักถูกกล่าวถึงเสมอก็คือ การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรี ที่เขียนภาพบนฝาผนังด้านยาวทั้งสองข้างเป็นภาพสัญลักษณ์แทน “สัตตมหาสถาน” และ “อัฏฐมหาสถาน” อย่างชัดเจน

รวมไปถึงภาพองค์ประกอบอื่นๆ บนฝาผนังด้านสกัดทั้งสองด้านที่เราอาจตีความเชื่อมโยงไปสู่การสร้างสัญลักษณ์สำคัญอื่นๆ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ประกอบกันในเชิงความหมายของการเป็นชมพูทวีปอันศักดิ์สิทธิ์

หากข้อเสนอของผมถูกต้อง บทบาทหน้าที่ในยุคแรกเริ่มของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ในที่ที่ต้องการให้คนทั่วไปมองเห็นได้ตามข้อเสนอของ อ.คริส และ อ.ผาสุก) คือความตั้งใจที่จะสร้างความหมายของการเป็นชมพูทวีปให้เกิดขึ้นภายในพื้นที่พระอุโบสถและวิหารนั่นเอง