จรัญ มะลูลีม : อาระเบียก่อนการมาถึงของอิสลาม (3)

จรัญ มะลูลีม

เผ่าพันธุ์

ชนชาวเซมิติก

ชาวอาหรับเป็นเผ่าพันธุ์เซมิติก (Semitic)

ชนชาวเซมิติกคือเชื้อสายของเชม (Shem) ซึ่งเป็นบุตรชายคนหัวปีของท่านศาสดานุห์ (Noah) หรือโนอา

เชื่อกันว่าอาระเบียเป็นแหล่งของชนชาวเซมิติก ในขณะที่ประชากรเซมิติกเพิ่มขึ้นนั้น พวกเขาก็ได้อพยพมายังดินแดนต่างๆ ที่อยู่ติดกับอาระเบียหลายกลุ่ม ชาวบาบิโลเนีย อัสซีเรีย คอลเดีย อมอรี (Amorites) อาร์มาเอียน (Armaeans)

ชาวโฟนิเซียน (Phoenicians) ชาวฮิบรูและอบิสซิเนียต่างก็เป็นเผ่าพันธุ์เซมิติกซึ่งอพยพจากถิ่นเดิมในอาระเบียมาในสมัยต่างๆ ทั้งนั้น

 

ชาวอียิปต์

เมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อน ค.ศ. ชนชาวเซมิติกได้อพยพจากอาระเบียไปยังลุ่มแม่น้ำไนล์และเข้ารวมกับชนชาวฮามิติก (Hamitic) แห่งอียิปต์

กลายเป็นชาวอียิปต์ผู้สร้างพีระมิด

พวกเขาเป็นพวกแรกที่มีปฏิทินสุริยคติใช้

 

ชาวบาบิโลเนีย

ในสมัยเดียวกับที่มีการอพยพไปยังอียิปต์

ชาวเซมิติกอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพไปทางเหนือสู่ลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรตีส

ตอนนี้ลุ่มแม่น้ำมีชาวสุเมอเรีย ซึ่งเป็นชุมชนที่เจริญแล้วอาศัยอยู่ก่อน

การผสมกันระหว่างชาวสุเมอเรียกับชาวเซมิติกนี้ได้เกิดเป็นชาวบาบิโลเนียผู้สร้างจักรวรรดิบาบิโลนขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ชาวบาบิโลเนียนี้เป็นพวกแรกที่ประดิษฐ์รถมีล้อและระบบการชั่งตวงวัดขึ้น

 

ชาวอมอรี (Amorites)

ในขณะเดียวกัน ผู้อพยพกลุ่มที่สามก็ไปยังดินแดนรูปจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ตามขอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ผู้ที่ไปอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าซีเรียตะวันตกและปาเลสไตน์สขณะนี้มีชื่อว่าพวกคะนาอัน (Canaanites)

และพวกที่ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ตามชายฝั่งทะเลก็เรียกว่าพวกโฟนิเซียน (Phoenicians) ซึ่งเป็นพวกแรกที่ประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้น

 

ชาวฮิบรู

ในราวกลางรอบพันปีที่สองก่อน ค.ศ. ท่านศาสดาโมเสส (มูซา) ได้นำพรรคพวกของท่านไปยังปาเลสไตน์และซีเรียใต้เพื่อไปตั้งหลักแหล่ง

รู้จักกันในนามชาวยิวหรือฮิบรู (Hebrews) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ส่วนพวกที่ไปตั้งหลักแหล่งทางซีเรียเหนือนั้นเรียกว่าพวกอาร์มาเอียน

 

ราชอาณาจักรอาหรับในอาระเบียตอนใต้

ชาวซาเบียน (Sabeans) เป็นกลุ่มคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้สร้างอาณาจักรซาบา (Saba) ขึ้นในตอนใต้ของแหลมอาระเบียเมื่อประมาณ 750 ปี ก่อน ค.ศ.

อีกอาณาจักรหนึ่งในอาระเบียใต้ก็คือราชอาณาจักรของชาวมินาเอียน (Minaeans) ซึ่งตั้งขึ้นในราว 700 ปีก่อน ค.ศ. นครซิวระห์ (Sirwah) ทางทิศตะวันตกของเขื่อนมะอาริบ (Maarib) ในปัจจุบันเป็นนครหลวงของอาณาจักรซาบา

ชาวซาเบียนบูชาเทพดวงจันทร์ ต่อมาชาวซาเบียนได้ปราบปรามชาวมินาเอียนเพื่อนบ้านของตนจนตกเป็นทาส ประมาณปี 610 ก่อน ค.ศ. กษัตริย์ของซาบาได้สูญเสียลักษณะที่เป็นพระด้วยนั้นกลายเป็นกษัตริย์ทางโลกแต่อย่างเดียว ในขณะนั้นได้ย้ายนครหลวงไปอยู่ที่มะอาริบ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 3,900 ฟุต

ส่วนนครหลวงของอาณาจักรมินาเอียนคือนครกัรเนา (Qarnaw) หรือปัจจุบันกลายเป็นนครมะอาน (Maan) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครกัรเนา

 

กอตอบัน (Qataban) และหะเฏาะเราะเมาต์ (Hadramawt)

นอกจากราชอาณาจักรซาบาและมินาเอียนแล้วก็ยังมีอีกสองรัฐเกิดขึ้นในอาระเบียใต้คือรัฐกอตอบันและหะเฏาะเราะเมาต์

อาณาจักรกอตอบันอยู่ทางทิศตะวันออกของนครเอเดน ปัจจุบันมีนครหลวงชื่อตัมนา (Tamna) ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่านครกูห์ลาน (Kuhlan)

อาณาจักรนี้สร้างขึ้นในราว 400 ปีก่อน ค.ศ.

ส่วนอาณาจักรหะเฏาะเราะมาต์นั้นอยู่ในดินแดนที่เป็นรัฐหะเฏาะเราะเมาต์ในปัจจุบัน มีนครหลวงชื่อซับวาห์ (Shabwah)

 

ชนชาวฮิมยารี (Himyarites)

ประมาณปี 115 ก่อน ค.ศ. ชาวซาเบียนและมินาเอียนได้ถูกแทนที่โดยชาวฮิมยารีซึ่งมีรากเหง้าเดียวกับชาวซาเบียน

พวกนี้ได้ย้ายนครหลวงไปอยู่ที่นครซอฟัร (Zafar) ในช่วงสมัยของชาวฮิมยารี

นี่เองที่กษัตริย์เอเลียส กอลลัส (Aelius Gallus) แห่งโรมันยกทัพมารุกรานประเทศแต่พ่ายแพ้กลับไป

เพื่อปกป้องตัว ชาวฮิมยารีจึงได้สร้างป้อมปราการขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันพวกเบดุอิน ที่รู้จักกันดีที่สุดคือป้อมฆุมดาน (Ghamdan) ซึ่งมี 20 ชั้น

ในระยะแรกชาวฮิมยารีได้เข้าครองเอกสิทธิ์การค้าทางน้ำในทะเลแดงและมีอำนาจมากมาย กษัตริย์ซัมมาร์ ยัรอัช (Shammar Yarash) มีชื่อเสียงที่สุดได้ขยายเขตแดนออกไปจนรวมเอาส่วนมากของอาระเบียขึ้นไปถึงยะมามะฮ์ (Yamamah)

กล่าวกันว่าพระองค์ได้ขยายเขตแดนไปถึงทรานโซเซียนา (Tranxoxiana) ทีเดียว

และได้สร้างนครสะมาคานด์ (Samarkand) กษัตริย์อะบี การิบา อัสด์ (Abi-Kariba Asd) ผู้อยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 เอาชนะเปอร์เซียได้

 

ราชอาณาจักรอักซัม (Aksum)

เขื่อนมะอาริบใหญ่ได้แตกทำลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 5

จึงทำให้เผ่าพันธุ์ในอาระเบียใต้บางเผ่าต้องอพยพข้ามทะเลแดงไปยังแอฟริกาตะวันออก

และสร้างราชอาณาจักรอักซัมขึ้น

ซึ่งต่อมากลายเป็นใจกลางของประเทศอบิสสิเนียหรือเอธิโอเปียในปัจจุบัน

 

ความขัดแย้งทางศาสนา

ศาสนาจูดาห์กลายเป็นศาสนาประจำรัฐของชาวฮิมยารีในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 คริสต์ศาสนาก็มีอิทธิพลอยู่มากในอาระเบีย รัฐอบิสสิเนียก็เข้ารับนับถือคริสต์ศาสนา ในอาระเบียเองชาวนครนัจญ์รอน (Najran) ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ก็รับนับถือคริสต์ศาสนาเช่นกัน

กษัตริย์ดู นาวาส (Dhu Nawas) ชาวฮิมยารีนั้นนับถือศาสนาจูดาห์และมีความเป็นปรปักษ์ต่อชาวคริสเตียนอย่างยิ่ง ใน ค.ศ.523 พระองค์ทรงฆ่าหมู่ชาวนครนัจญ์รอนที่นับถือศาสนาคริสต์

ชาวคริสเตียนที่รอดชีวิตไปได้ได้ไปร้องเรียนกษัตริย์จัสตินที่ 1 (Justin I) แห่งอาณาจักรโรมันให้แก้แค้นให้ จักรพรรดิโรมันจึงทรงแนะนำให้เนกุสแห่งอบิสสิเนียยกทัพไปยังอาระเบียภายใต้กองทัพชาวคริสเตียนจำนวน 70,000 คน ภายใต้บัญชาการของอับรอฮะฮ์ (Abraha) ซึ่งได้เดินทัพไปยังอาระเบียใต้ใน ค.ศ.625 และกษัตริย์ดูนาวาสพ่ายแพ้จึงเป็นการสิ้นสุดของชาวฮิมยารี

ตอนนี้อับรอฮะฮ์ได้เข้าครองอาระเบียใต้ มีนครหลวงอยู่ที่นครซานาอ์ (Sanaa) อาระเบียใต้จึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของคริสต์ศาสนา

ในระหว่างนี้ชาวเผ่าฆ็อสซาน (Qhassan) ได้อพยพไปที่ตำบลเฮาราน (Haran) ในซีเรียและชาวเผ่าลัคห์ (Lakh) ได้อพยพไปยังตำบลหิรอฮ์ (Hirah) ในอิรัก ระหว่างนั้นชาวอบิสสิเนียในอาระเบียใต้ไม่เป็นที่ชอบพอของผู้คน

ได้มีขบวนการแห่งชาติซึ่งนำโดย ซัยฟ์ ดี ยชาน (Sayf Dhi Yzan) ซึ่งเป็นเชื้อไขของชาวฮิมยารีเดิมแข็งข้อขึ้น

ชาวคริสเตียนขอความช่วยเหลือจากพวกไบแซนไตน์ ซัยฟ์ ดี ยซาน จึงไปขอความช่วยเหลือจากเปอร์เซีย ใน ค.ศ.575 กษัตริย์กิสรอ (Kisra) แห่งเปอร์เซียได้ส่งกองทัพเปอร์เซียมาโค่นล้มการปกคอรงของอบิสสิเนียในอาระเบียใต้ และได้ตั้งให้ ซัยฟ์ ดี ยซาน เป็นประมุขแต่ในนาม

ส่วนการปกครองทั้งหมดเป็นของเปอร์เซีย โดยมี ฆุมดาน (Ghumdan) เป็นนครหลวง ต่อมาไม่กี่ปีเขาถูกปลดออก และให้ชาวเยเมนเป็นเจ้านครแทน