เกมยุบสภา…ยุบอย่างไรให้ได้เปรียบสูงสุด? อยู่สั้นหรืออยู่ยาวได้เปรียบ?

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การยุบสภา เป็นกลไกที่ถูกออกแบบมาในการทางการเมืองเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในกรณีที่การบริหารราชการแผ่นดินในระบบรัฐสภาเกิดการติดขัด เช่น สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับรัฐบาลจนไม่สามารถบริหารงานต่อไปได้จึงต้องเลือกการคืนอำนาจให้ประชาชนในการตัดสินใจเลือกตั้ง และหากประชาชนเห็นควรสนับสนุนฝ่ายใดก็จะใช้สิทธิของตนในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในซีกฝั่งดังกล่าวคืนมาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่

การยุบสภายังมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ตามมาอันจะก่อให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบต่อพรรคการเมืองเช่นกันทั้งในเรื่องระยะเวลาการเป็นสมาชิกพรรค ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการหาเสียง

ยิ่งเข้าใกล้การครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ข่าวเกี่ยวกับการยุบสภายิ่งดังจนผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทบอยู่ไม่ติดสภา ต้องขยันลงพื้นที่เพราะเกรงว่าการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นไม่นาน เพราะเกรงว่าหากมัวแต่อยู่ในสภา อาจไม่ได้กลับเข้าสภา

จากวันนี้ถึงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2566 เหลือเวลาเพียงไม่ถึง 4 เดือน การยุบสภาจะเกิดขึ้นและถูกใช้เป็นเกมการเมืองอย่างไรได้บ้าง เป็นประเด็นที่น่าติดตาม

 

ผลที่เกิดทางกฎหมาย

หากสภาผู้แทนราษฎรอยู่จนครบวาระสี่ปี ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2566 การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องดำเนินการภายในกรอบเวลา 45 วันนับแต่วันครบอายุของสภา (มาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญ 2560) และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 97 (3) ของรัฐธรรมนูญ 2560) ส่วนการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงให้นับตั้งแต่ 180 วันก่อนวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งไปจนถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 64 (1) พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561)

แต่หากเป็นกรณียุบสภา การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันและไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีการยุบสภา (มาตรา 103 วรรคสาม รัฐธรรมนูญ 2560)

ส่วนการมีคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองสำหรับผู้ต้องการสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ลดระยะเวลาจากไม่น้อยกว่า 90 วัน เหลือเพียง 30 วัน

ในขณะที่การคำนวณค่าใช้จ่ายการหาเสียงให้เริ่มนับจากวันที่ยุบสภาไปจนถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 64 (2) พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561)

การยุบสภา จึงเป็นวิธีการที่สร้างความยืดหยุ่นในเชิงการบังคับใช้กฎหมายแก่พรรคการเมืองได้ดีกว่ากรณีสภาอยู่ครบวาระโดยนักการเมืองสามารถถ่ายเทย้ายสังกัดพรรคได้อย่างอิสระเมื่อมีการยุบสภา

ตลาดซื้อขายนักการเมือง หรือการชักชวนให้เปลี่ยนค่ายย้ายโปร จึงเป็นไปอย่างคล่องตัวตามแบบการเมืองไทย

 

จังหวะของการยุบสภา

อํานาจการยุบสภาเป็นของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียวในจังหวะที่เหมาะสม การใช้อำนาจดังกล่าวจึงมาจากการประเมินถึงผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นทางการเมือง

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ครองอำนาจมายาวนานถึงกว่า 8 ปี และยังแสดงเจตนาที่จะลงแข่งขันทางการเมืองเพื่อการคงอยู่ในอำนาจต่อไป จังหวะการตัดสินใจในการยุบสภาจึงเป็นอาวุธทางการเมืองที่สำคัญที่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และที่สำคัญ ท่านใช้ได้ครั้งเดียวเท่านั้น จึงต้องใคร่ครวญเป็นที่สุด

 

ยุบอย่างไรให้ได้เปรียบสูงสุด

ช่วงที่ 1 ก่อนวันปีใหม่ เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยทางการเมือง แทบจะไม่มีเหตุที่จะนำไปสู่การยุบสภาก่อนวันปีใหม่ แม้การทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในจังหวะที่ผ่านมาดูจะไม่สามารถรักษาองค์ประชุมของสภาได้จนเป็นเหตุให้สภาล่มหลายครั้ง แต่รัฐบาลไม่มีกฎหมายสำคัญที่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร การเตรียมการของพรรคการเมืองที่มุ่งส่งเสริมให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างลงตัว และนโยบายประชานิยมชุดสุดท้ายที่ใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

อีกทั้งการปล่อยข่าวว่าจะต้องยุบสภาก่อนวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2565 เพื่อให้ผู้สมัครสามารถสมัครเข้าพรรคการเมืองก่อน 90 วันนับถึงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2566 เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด

จึงคาดการณ์ได้ว่าจะไม่มีการยุบสภาก่อนปีใหม่

ช่วงที่ 2 หลังปีใหม่ จนถึงก่อน 7 กุมภาพันธ์ 2566 เนื่องจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 เป็นวันเส้นตายสุดท้ายหากสภาอยู่ครบวาระที่ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน ดังนั้น การยุบสภาก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 จึงเป็นอีกหนึ่งการคาดการณ์ของผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง

หากไม่มีการยุบสภาก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 จะมีปรากฏการณ์ทางการเมืองให้เห็นคือ การทยอยลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประสงค์จะเปลี่ยนค่ายย้ายโปร

เพราะเป็นความเสี่ยงเกินไปที่จะเชื่อแม้จะมีข้อมูลภายในที่ยืนยันว่าอย่างไรก็จะมีการยุบสภา

เนื่องจากไม่มีใครที่รู้สิ่งที่อยู่ในใจนายกรัฐมนตรี

ความแน่นอนโดยการลาออกเพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ ย่อมอุ่นใจกว่าความไม่แน่นอนที่หากไม่ลาออกแล้วถึงเวลาไม่มีการยุบสภาก็จะเสียโอกาสในการเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ใครจะสนใจเงินเดือนที่เหลือ 2-3 เดือน เอา 4 ปีข้างหน้าไม่ดีกว่าหรือ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ แม้คนอื่นจะตื่นเต้นหวาดเสียวแต่ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวนายกรัฐมนตรี เพราะหลังวันที่ 7 เขายังเป็นฝ่ายเลือกว่าจะอยู่ครบวาระ หรือจะยุบสภาเมื่อใดก็ได้

ช่วงที่ 3 หลัง 7 กุมภาพันธ์ 2566 ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎร เป็นช่วงที่มีความเป็นไปได้ในการยุบสภามากที่สุด เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะอาศัยการยุบสภาเป็นไพ่ใบสุดท้ายก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดโอกาสให้ดึงดูดผู้สมัครเจ้ามาสู่พรรคที่ตนเองสนับสนุนเป็นครั้งสุดท้าย

การยุบสภาก็จะเกิดในจังหวะสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่สภาจะครบ 4 ปี

ยกเว้นเขาประเมินว่า จะถูกดูดออกมากกว่าดูดเข้า ก็จะไม่มีการยุบสภา ทนอยู่ต่อให้ครบวาระเป็นเกียรติเป็นศรีต่อวงศ์ตระกูล

 

อยู่สั้นหรืออยู่ยาวได้เปรียบ

มีทฤษฎีว่า หากคะแนนนิยมที่มีต่อประชาชนในปัจจุบันยังไม่ดี การยืดเวลาออกไปให้นานแล้วสร้างผลงานให้เป็นที่พอใจของประชาชน คะแนนนิยมจะคืนกลับในระดับที่สามารถชนะการเลือกตั้งได้

นี่อาจเป็นเหตุที่ฝ่ายค้านรีบยุให้มีการยุบสภา แต่ฝ่ายรัฐบาลจะพยายามยืดออกไปให้นานที่สุด

แต่อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เวลาที่เพิ่มขึ้นอาจกลายเป็นความนิยมที่เสื่อมลงก็เป็นไปได้

อนาคตของการสืบต่ออำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะใช้การยุบสภาเป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบและชัยชนะทางการเมือง จึงอยู่ในมือและการตัดสินใจของเขาเองว่า จะทิ้งไพ่ใบนี้ลงในจังหวะใด

ตัดสินใจเอง แต่หากว่าตัดสินใจผิด คงไม่สามารถโทษผู้อื่นได้นอกจากตัวเองเท่านั้น