ไม่เหลือใครให้เชื่อเท่า ‘ตู่’ | เมนูข้อมูล

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

ไม่เหลือใครให้เชื่อเท่า ‘ตู่’

 

ไม่น่าจะพลิกไปจากความคาดหมายแล้วว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เลือกที่จะอาศัย “นาวา กปปส.” ในนาม “พรรครวมพลังสร้างชาติ” ที่มีเงา “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ยืนเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง

หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” ตัดสินใจลงสนามการเมืองเอง แทนที่จะเป็นแค่นายทุนเบื้องหลัง

จากวันนั้นถึงวันนี้ การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ “ฝ่ายชินวัตร” และ “ฝ่ายไม่ใช่ชินวัตร”

เป็นการต่อสู้ที่สร้างความรุนแรงในทุกมิติ ทั้งในรูปพรรคการเมือง รูปของทุน และรูปของมวลชน

คู่ต่อสู้ของ “ชินวัตร” ในรูปของพรรคการเมืองเริ่มต้นจาก “ประชาธิปัตย์”

ความพ่ายแพ้มาทุกยุคทำให้ “ประชาธิปัตย์” ประสานกับการเมืองในมิติอื่น เข้ายึดอำนาจจาก “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

ช่วงชิงอำนาจได้ด้วยกลไกของระบอบประชาธิปไตย

แต่อาจจะเป็นเพราะไม่ยึดมั่นในเส้นทางอำนาจประชาชน ถึงวันนี้ ทำให้ “ประชาธิปัตย์” หมดสภาพในการเป็นคู่ชิงกังกับ “ชินวัตร”

เปลี่ยนมาเป็น “พลังประชารัฐ” ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

และครั้งนี้แตกตัวออกมาเป็น “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ฝากความหวังไว้ในความเชื่อว่าบารมีของ “พล.อ.ประยุทธ์” จะฉุดให้ “พรรค กปปส.” พอจะเกิดและเติบโตได้

จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ “บิ๊กตู่” เนื้อหอมเฉพาะกับ “นักการเมืองที่ไม่มีที่พึ่ง” หรือยังเรียกคะแนนนิยมจาก “ประชาชนทั่วไป” ได้

ผลสำรวจที่ดูจะให้คำตอบมากที่สุดเป็น “นิด้าโพล” ที่สอบถามความคิดจากประชาชนทุกภาคทั่วประเทศ ในคำถาม “บุคคลที่จะสนับสนุนในเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้” สำหรับ “พล.อ.ประยุทธ์”

ภาคอีสาน มาเป็นอันดับ 4 มีความนิยมอยู่แค่ร้อยละ 9.85, ภาคใต้ มาอันดับ 1 ร้อยละ 23.93, กทม. อยู่อันดับ 2 ร้อยละ 15.20, ภาคเหนือ อยู่อันดับ 4 ร้อยละ 12.50, ภาคกลาง อันดับ 3 ร้อยละ 16.23, ภาคตะวันออก อันดับ 3 ร้อยละ 13.64

ว่ากันตรงๆ ดูจากความนิยมในภาพรวมแล้วไม่ได้มีความโดดเด่นอะไร

หากเจาะไปในรายละเอียดอยู่ในระดับที่ “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” ทาทยาท “ชินวัตร” ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นักการเมืองหนุ่ม ทิ้งขาดลอย

หากวัดกันที่ “อำนาจประชาชน” ไม่เหลือความหวังอะไรไว้ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ฝันหวาน

แต่การเมืองไทยที่ “นักการเมือง” ไม่เคารพอำนาจประชาชนสักเท่าไร

“กติกาการจัดการอำนาจ” ที่เขียนขึ้น และ “กลไก” ที่วางตัวบุคคลเข้าไปควบคุม ทำให้นักการเมืองที่ “ไม่ให้ราคากับการตัดสินใจของประชาชน” พวกนี้ ยังฝันหวานว่าที่สุดแล้ว “ผู้นำจัดตั้งรัฐบาล” จะยังเป็น “พล.อ.ประยุทธ์”

นักการเมืองที่ต้องอาศัยเสียงของประชาชนส่งขึ้นมาสู่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ ยังมีความเชื่อนทางที่หมิ่นแคลนการใช้สิทธิของประชาชน ว่า “เงิน” จะซื้อได้ทุกอย่าง

และนั่นน่าจะหมายถึงความไม่เชื่อมั่นต่อ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ว่าทำหน้าที่ให้การเลือกตั้งเกิดความโปร่งใส สามารถเดินไปในทิศทางที่มีความหวังกับการพัฒนาประชาธิปไตยด้วย

แต่ความเชื่อก็คือความเชื่อ

อีกไม่นานเกินรอ เวลาจะพิสูจน์ให้เห็นว่า “ความเชื่อกับที่เป็นจริง” นั้น เป็นเดียวกันหรือไม่