จรัญ พงษ์จีน : ดราม่า “ราคายาง” กลับมาแล้ว!

จรัญ พงษ์จีน

“ชาวปักษ์ใต้บ้านเรา” มีประเด็นดราม่า “เก่า” ต้องมาเคลียร์กันอีกระลอกหนึ่งแล้ว จะเป็นเรื่องอะไรไปมิได้ นอกจาก “ราคายางพารา” ซึ่งขณะนี้กลับมาตกต่ำดำดิ่งอย่างน่าใจหาย ใกล้แตะหลัก “สามโลร้อย” ของจริงขนานแท้อยู่วันนี้วันพรุ่ง

สถานการณ์ราคายางผันผวน และมีแนวโน้มสูงว่าจะตกต่ำต่อเนื่อง สัปดาห์นี้มีการประมูลซื้อที่ตลาดกลางยางพาราทั้ง 3 แห่งในภาคใต้ ตกหมด เรียบเป็นหน้ากลอง

“ตลาดกลางหาดใหญ่” ยางแผ่นดิบ 44.38 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสดในพื้นที่ 43.00 บาท

“ตลาดกลางสุราษฎร์ธานี” ยางแผ่น 44.58 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด 43 บาท

“ตลาดกลางนครศรีธรรมราช” ยางแผ่นดิบ 44.58 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด 43 บาท ขาดตัว

“แกนนำ” ทั้งขาเล็ก-ขาใหญ่ หัวไม่ส่ายกันหน่อย ก็ดูจะกระไรอยู่ และเป็น “ถาวร เสนเนียม” อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำคนสำคัญของกองทัพ “กปปส.” ล้อหมุนนำร่องก่อนใครเพื่อน

โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้องให้ “รัฐบาล-คสช.” เร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นการด่วน โดยเสนอสภาพปัญหาและวิธีการแก้ไข เป็นวิทยาทาน โดยสรุปดังนี้คือ

1. ช่วง 3 เดือนแรกของต้นปี 2560 ราคายางได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่รักษาระดับราคาเอาไว้ได้เลย จนถึงปัจจุบันถือว่าต่ำมาก ยางแผ่นดิบขายได้ที่ 40 บาท/กิโลกรัมเศษ ในขณะที่ต้นทุนอยู่ 60 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อน ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

2. สาเหตุของปัญหาที่ทำให้ราคายางตกต่ำลงได้ขนาดนี้ พอประมวลได้ดังนี้

2.1 ปริมาณยางมีในสต๊อกผู้ใช้สูง เนื่องจากช่วงต้นมีราคาปรับขึ้นสูง มีผู้ส่งออกหลายรายไปขายยางในตลาดล่วงหน้า แล้วใช้วิธีส่งมอบยางจริงซึ่งอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ทำให้ยางไม่ขาดแคลนผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องซื้อยางเข้าสต๊อกในขณะนี้

2.2 ผู้ประกอบการขายยางล่วงหน้าไว้ในปริมาณที่มากและราคาไม่สูง จึงต้องออกมาซื้อในราคาที่ไม่ให้สูงกว่าต้นทุนขาย

2.3 “บริษัทร่วมทุน” ที่รัฐบาลโดย “การยางแห่งประเทศไทย” (กยท.) ดำเนินการ กิจการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และ “ขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการ” โดยการเข้าซื้อยางตลาดกลางของรัฐบาลทั้ง 6 ตลาด คือ สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา หนองคาย บุรีรัมย์ จนทำให้ยางแผ่นรมควันที่ซื้อไว้เป็นหมื่นตัน บางส่วนเกิดความเสียหาย เนื่องจากไม่ได้ขนยางไปดำเนินการหีบห่อที่ถูกต้อง ทำให้ยางค้างอยู่ในตลาดกลางกินพื้นที่ของตลาด จนไม่สามารถดำเนินการเปิดตลาดได้ “ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางไม่สามารถนำยางมาขายได้และถูกพ่อค้านอกตลาดกดราคา ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

3. “แนวทางแก้ปัญหา” ในฐานะที่เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องชาวสวนยาง เข้าใจปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด รู้สึกอึดอัดใจกับแนวทางการแก้ปัญหายางพาราของรัฐบาล ควรทบทวนบทบาทหน้าที่และโครงสร้างองค์กรของบริษัทร่วมทุนฯ เสียใหม่ ควรนำผลการประชุมของบริษัทร่วมทุนฯ 3 ประเทศระดับรัฐมนตรีครั้งล่าสุดมาเข้าสู่โหมดการปฏิบัติ ในเรื่องการควบคุมการส่งออก

 

เมื่อมีหัวหมู่ทะลวงฟัน จากนั้นก็ทยอยยกพลมาเป็นชุดๆ จาก “ถาวร เสนเนียม” มาถึง “นายมนัส บุญพัฒน์” นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย ประกาศนัดรวมตัวกันเคลื่อนไหว แต่รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เบาใจได้ เพราะเขาบอกว่าที่ออกมาไม่ได้กดดันรัฐบาล แต่อยากให้รับรู้สิ่งที่ชาวสวนยางเดือดร้อน เพราะวันนี้ราคายางเศษเหลือกิโลกรัมละ 17 บาท น้ำยาง 38-39 บาท/กิโลกรัม

เช่นเดียวกับ “นายวุฒิ รักษ์ทอง” ตัวแทนสหกรณ์พ่วงพรมคร อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี ตีกรรเชียงไปโจมตีการร่วมทุนของ 5 บริษัทส่งออกยางพารารายใหญ่ ว่าเข้าไปประมูลยางพาราในตลาดกลางเพื่อยกระดับ แต่กลับทำให้ตลาดยางปั่นป่วนมากขึ้น จนล่าสุดตลาดกลางหาดใหญ่ไม่สามารถเปิดตลาดได้ เนื่องจากมียางแผ่นดิบที่บริษัทร่วมทุนประมูลได้แล้ว แต่ไม่นำยางออกจากตลาด ปริมาณกว่า 700 ตัน

ที่ดุดันนิดหน่อย เป็นรายของ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากนครศรีธรรมราช ที่ออกมาทุบโต๊ะเสียงดังว่า การแก้ไขปัญหาราคายางพาราล้มเหลวสิ้นเชิง ควรปลดผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

และอีกหลายเครือข่าย หลายองค์กรที่เกี่ยวดองข้องแวะกับเกษตรกรชาวสวนยาง ต่างพากันดาหน้ามาเคลื่อนไหว แต่ล้วนแล้วแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย คล้ายๆ กับอธิษฐานพึมพำในใจให้หลวงปู่ช่วยลูกช้างด้วยราวนั้น

“ใช่เลย” หนังคนละม้วนกับเมื่อครั้ง “ชะอวดโมเดล” ที่มีการชุมนุมปิดถนนสายเอเชีย 41 บริเวณสี่แยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2557 “ม็อบสวนยาง” เป็นหัวเชื้อสำคัญ เปิดประเด็นให้เกิด “ม็อบ กปปส.” จนท้ายที่สุด “บิ๊กตู่” ขนทหารออกมาโค่นกระดานรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้เป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แปลกแต่จริง ทั้งๆ ที่ขณะนั้นราคายางพาราอยู่ในระดับ 80 บาท/กิโลกรัม ชาวสวนยางเรียกร้องปิดถนนอยากได้กิโลกรัมละ 100 บาท ต่ำสุด 92 บาท

ขณะที่เวลานี้ ยางพารา สนนราคาอยู่ 40 บาท/กิโลกรัม

ด้วยสภาพของข้อเท็จจริง ยางพารา 1 ไร่ ผลิตน้ำยางได้ประมาณ 2 กิโลกรัม เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยมีพื้นที่ยางพาราอยู่ 10 ไร่ เท่ากับได้ปริมาณน้ำยาง 20 กิโลกรัม/วัน

เอาราคากลางคือ 40 บาท คูณด้วยปริมาณที่ได้รับ 20 กิโลกรัม เท่ากับมีรายได้วันละ 800 บาท

หนึ่งปีมี 12 เดือน 365 วัน แต่ปักษ์ใต้บ้านเรา เจอทั้งฤดูฝน และยางผลัดใบ มีการคำนวณจำนวนวันที่สามารถกรีดยางได้ในรอบ 1 ปี อยู่ที่ 110 วัน

เอา 800 รายได้ประจำวัน คูณด้วยวันที่ได้รับอานิสงส์ ทุกอย่างโปร่งใส คือ 110 วัน เท่ากับ 1 ปี เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยมีรายได้รวมแค่ 88,000 บาท

ถ้าหารด้วยสอง ระหว่างผู้รับจ้างกรีดยาง กับเจ้าของ วัดครึ่ง กรรมการครึ่ง เหลือคนละ 400 บาท/วัน ปีหนึ่งมีรายได้เฉลี่ยที่ 44,000 บาท คำนวณออกมาเป็นรายได้ต่อเดือน ตกราววันละ 125 บาท ถูกกว่าค่าแรงขั้นต่ำหลายอัฐ

“คนใต้” บ้านเรารักใครรักจริง ทำให้หลงรักได้แล้ว แม้จะจัดการปัญหาได้ไม่ค่อยดี แต่เราก็ยังเชื่อว่า “เก่งและดี” อยู่