“คนมาใหม่ อย่าฟั่งใส่ก๋าน เมียมาน อย่าฟั่งไปก๊า” สำนวนล้านนาไว้เตือนใจ

ฅ฿นฯมาใหมฯ่อยฯ่าฟั่งฯใส่กานฯ เมยฯมานฯอยฯ่าฟั่งฯไพค้าฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “คนมาใหม่ อย่าฟั่งใส่ก๋าน เมียมาน อย่าฟั่งไปก๊า”

ฟั่ง แปลว่า รีบ
มาน แปลว่า ท้อง
ไปก๊า แปลว่า ไปค้า

รวมความแล้วหมายความว่า อย่าเพิ่งใช้งานหรือรีบสั่งการคนที่เพิ่งมาทำงานใหม่ โดยเฉพาะงานที่มีความสำคัญหรืองานหนัก

หากเมียมีท้องก็อย่าเพิ่งไปค้าขายต่างเมือง

นับเป็นคำสอนจากผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มาก่อน

 

เอาเรื่องไปค้าก่อน

สมัยก่อนจะมีนักธุรกิจระดับชาวบ้านที่ต้องไปค้าขายไกลๆ ต่างเมือง โบราณนั้นการเดินทางลำบาก สำหรับทางเหนือเป็นการเดินทางในป่าเสียเป็นส่วนใหญ่ และต้องเดินเท้า หรืออย่างดีก็ใช้ช้าง การเดินทางจึงใช้เวลานาน ไม่มีอะไรแน่นอน มีอันตรายเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งจากสัตว์ร้ายในป่า จากโจร และที่เชื่อกันยังมีผีป่าอีกด้วย

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนไปค้าแบบตำนานเรื่อง “เอื้องผึ้ง จันทน์ผา” เสมอ

กล่าวคือ หนุ่มสาวรักกัน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะรอกัน แต่หนุ่มต้องไปค้าขายแดนไกล แล้วไม่กลับมาอีกเลย สาวเจ้าเฝ้าแต่รอจนตรอมใจตาย กลายเป็นเอื้องผึ้งที่เกาะอยู่ริมทาง เฝ้ารอคนรัก

ส่วนหนุ่มก็กลายเป็นต้นจันทน์ผาตามโขดหิน

แม่ช่างฯกับฯฯแม่มานฯ
แม่จ้างกับแม่มาน
แปลว่า หมอตำแยกับผู้หญิงท้อง

สําหรับเรื่องของเมียท้อง ในสมัยก่อน ระหว่างตั้งครรภ์ ตลอดจนการคลอดนั้นอันตราย มีความเสี่ยงสูง อย่างเรื่องเล่าของแม่นาคพระโขนงนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ถ้าสามีจากบ้านไปค้าขายในขณะที่ภรรยากำลังท้อง ก็อาจจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นที่จะต้องทำให้เสียใจในภายหลัง

อีกประการหนึ่ง การทำคลอด ถึงจะมีหมอตำแยมาช่วยทำคลอด แต่คนเป็นสามีก็ต้องมีหน้าที่ที่แน่นอนอยู่ดี ไม่ว่าจะต้องหาฟืนมาเตรียมต้มน้ำ เพื่อใช้ในการอยู่ไฟ การเอารกไปฝัง ฯลฯ

แถมในสมัยโบราณ จะกะเกณฑ์เวลาคลอดที่แน่นอนไม่ได้ เจ็บท้องคลอดเมื่อใดก็เมื่อนั้น คนเป็นสามีจึงต้องอยู่เฝ้า เพื่อไปตามหมอตำแย

จากประสบการณ์ ผู้ใหญ่จึงสอนกันมาว่า ถ้าเมียกำลังท้องก็อย่าเพิ่งไปไหนไกลๆ ถ้าจะไปค้าขายต่างเมืองนั้นจึงไม่สมควรอย่างยิ่ง

 

ส่วนที่ว่าอย่าเพิ่งใช้งาน หรือสั่งการคนที่มาใหม่ในเรื่องที่สำคัญ หรืองานที่หนักนั้น

ก็เพราะคนที่มาทำงานใหม่ยังไม่คุ้นเคยกัน ยังไม่รู้จักกัน สมัยก่อนการทำงานไม่ได้มีโปรไฟล์ หรือเรซูเม่มาแสดง การมอบหมายงานให้คนที่มาทำงานด้วยใหม่ๆ อาจจะเสียการ หรือผลงานออกมาอาจไม่ได้ดังใจ หรือกระทั่งเป็นผลเสียได้

สำนวนนี้จึงเป็นคำสอนของผู้ใหญ่ล้านนาที่สอนต่อๆ กันมา

ทำนองเอาประสบการณ์มาสรุปบทเรียนให้คนรุ่นหลัง •