ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : Foundation of Joan Miró

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : Foundation of Joan Miró

สัมผัสมรดกอันเป็นส่วนตัวที่สุด ของศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ผู้แท้ทรู (1)

 

หลังจากที่เราไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ตัวพ่ออย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี กันไปในตอนที่แล้ว

ในตอนนี้เราขอต่อด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของศิลปินเซอร์เรียลลิสม์คนสำคัญในโลกศิลปะอีกคนที่มีความโดดเด่นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ฆวน มิโร (Joan Miró)

จิตรกร, ประติมากร, ศิลปินเซรามิก ชาวกาตาลัน ประเทศสเปน ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในโลกศิลปะจากผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยการทดลองอันน่าตื่นตา และการเล่นกับรูปทรงอันแปลกประหลาดอันไม่อาจระบุที่มา

ผลงานของเขาเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของจิตใต้สำนึก ที่แสดงออกถึงความปรารถนาอันแรงกล้าและไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ด้วยภาพวาดที่เต็มไปด้วยภาพสัญลักษณ์ รูปทรงชีวภาพ ที่คล้ายกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจระบุสายพันธุ์, รูปทรงเรขาคณิต และรูปทรงนามธรรมและกึ่งนามธรรม

นอกจากภาพวาดแล้วเขายังทำงานในหลากสื่อหลายแขนง ทั้งเซรามิก, ภาพพิมพ์ หรือแม้แต่ประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ เขามักเสาะแสวงหาการทดลองใหม่ๆ ทางศิลปะอย่างไม่เกรงกลัวความล้มเหลวเลยแม้แต่น้อย

สไตล์การทำงานอันแหวกแนว ล้ำยุคสมัยอย่างรุนแรงของมิโร สร้างแรงขับเคลื่อนอย่างมากให้กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อพัฒนาการของศิลปะนามธรรม

เขายังเป็นศิลปินที่อยู่ร่วมในขบวนการศิลปะที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษนั้นอย่างเซอร์เรียลลิสม์

โดยในปี 1924 เมื่อ อองเดร เบรอตง เจ้าลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ ประกาศแถลงการณ์ของเซอร์เรียลลิสม์ที่ปารีส “มิโรคือจิตรกรผู้มีความเป็นเซอร์เรียลลิสม์ที่สุดในหมู่จิตรกรทุกคน”

ผลงานของมิโรเป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงพลังของจิตไร้สำนึกที่ถ่ายทอดความเป็นไปได้ทางศิลปะ ในการสื่อสารด้วยการวาดภาพแบบอัตโนมัติ และการเชื่อมโยงอย่างอิสระกับจินตนาการที่ปลดปล่อยออกมาอย่างไร้ขีดจำกัดของศิลปะเซอร์เรียลลิสต์ ซึ่งส่งอิทธิพลให้ศิลปินรุ่นหลังอย่างมากมาย

และยังคงเป็นศิลปินสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยากจะหาใครเสมอเหมือนจวบจนทุกวันนี้

พิพิธภัณฑ์ Foundation of Joan Miró

พิพิธภัณฑ์ของศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ผู้แท้ทรูที่สุดผู้นี้มีชื่อว่า Fundació Joan Miró หรือ Foundation of Joan Miró (มูลนิธิ ฆวน มิโร) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ฆวน มิโร ริเริ่มก่อตั้งขึ้นด้วยตัวเองในปี 1975 เพื่อจัดแสดงผลงานส่วนตัวที่เขาเก็บสะสมไว้ โดยมีเป้าหมายในการสร้างศูนย์กลางทางศิลปะที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลขึ้นในเมืองบาร์เซโลนา ด้วยการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะและการจัดโครงการการศึกษาต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงผลงานของมิโรเข้ากับงานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ Foundation of Joan Miró ตั้งอยู่บนเนินเขามองต์คูอิก ในเมืองบาร์เซโลนา แคว้นกาตาลุญญา

ตัวอาคารออกแบบโดย โจเซฟ หลุยส์ แซร์ต (Josep Lluís Sert) สถาปนิกชาวสเปน เพื่อนสนิทของมิโร การทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินและสถาปนิกคู่นี้

ทำให้อาคารแห่งนี้เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ไม่กี่แห่งในโลกที่มีบทสนทนาระหว่างผลงานและตัวอาคารที่จัดแสดง เพราะนอกจากจะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของการออกแบบอาคารและบริจาคผลงานของเขาให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว มิโรยังมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดแสดงผลงานของเขาทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ Foundation of Joan Miró

ถ้าอาคารพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum แลดูเต็มไปด้วยความแปลกประหลาดน่าพิศวง คล้ายกับปราสาทในนิทานแฟนตาซี พิพิธภัณฑ์ The Fundació Joan Miró ก็เป็นอะไรที่ตรงกันข้าม

เพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอาคารรูปทรงโมเดิร์น เส้นสายเรียบง่าย สีขาวสะอาดตา ที่ได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมเมดิเตอร์เรเนียน ลานกว้างหน้าพิพิธภัณฑ์ประดับประดาด้วยสีเขียวชอุ่มของสนามหญ้าและเหล่าบรรดาต้นมะกอกร่มรื่น ให้บรรยากาศ เงียบสงบ สดใส น่ารัก

ไม่ผิดกับผลงานของมิโรที่จัดแสดงอยู่ภายในเลยแม้แต่น้อย

พิพิธภัณฑ์ Foundation of Joan Miró

ก่อนเดินทางไปถึง เรายังไม่แน่ใจว่าเราจะได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้หรือเปล่า เพราะวันที่เรากำลังจะไปนั้นเป็นวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันหยุดตามปกติของพิพิธภัณฑ์ทั่วๆ ไป

แต่โชคดีที่วันนั้นเป็นวันเปิดทำการชดเชยวันหยุดเทศกาลเฉลิมฉลองนักบุญประจำเมืองบาร์เซโลนา (ที่เราเล่าให้ฟังไปในตอนชมพิพิธภัณฑ์แห่งแรก) พิพิธภัณฑ์ก็เลยเปิดทำการให้เราเข้าชมเป็นพิเศษ (โชคดีไป!)

Personage (1970)

ระหว่างรอเวลาพิพิธภัณฑ์เปิดทำการ พวกเราก็เดินเล่นกันบนลานหน้าพิพิธภัณฑ์ พลางชมผลงานประติมากรรมน้อยใหญ่ที่ประดับอยู่ด้านหน้า ทั้งประติมากรรมหน้าตาน่ารักปนพิลึก ดูคล้ายมนุษย์ต่างดาวอีที แต่ดันมีจู๋ตั้งเด่อย่างน่าขันปนทะเล้น ที่มีชื่อว่า Personage (1970) และประติมากรรมโลหะรูปร่างคล้ายกลีบดอกไม้สีแดงสด บนสนามหญ้าหน้าอาคาร (เดี๋ยวค่อยเล่าให้ฟังทีหลังละกันนะ)

เมื่อประตูเปิดให้เราเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ เราทุกคนต่างตื่นตะลึงไปกับผลงานอันหลายหลากละลานตาของมิโร ทั้งภาพวาด, ประติมากรรม, งานวาดเส้น, ศิลปะจัดวาง หรือแม้แต่ผลงานสื่อผสมต่างๆ อย่างภาพวาดสีบนแผ่นหินที่ดูราวกับเป็นผลงานของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ยังไงยังงั้น

และก็เป็นเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของศิลปินคนก่อนหน้าที่มีผลงานในช่วงต้นๆ ของศิลปินเหล่านี้ให้เราเห็นว่ามิโรนั้นไม่ได้ทำงานนามธรรมเหนือจริง หรืองานในเชิงทดลองรูปทรงแปลกประหลาดมาตั้งแต่แรก

หากแต่เริ่มต้นด้วยการทำงานตามขนบในแนวทางเหมือนจริงตามปกติทั่วไป

อย่างภาพวาดบุคคลและภาพวาดทิวทัศน์ต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะหลากหลาย อย่างอิมเพรสชั่นนิสม์, โฟวิสม์ (Fauvism) และคิวบิสม์

Portrait of a young Girl (1919)

อย่างเช่น ผลงาน Portrait of a young Girl (1919) ภาพวาดลูกสาวชาวนาในเมืองมอนต์-รัจก์ (Mont-roig) ในแคว้นกาตาลุญญา ที่มิโรได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดประกอบพระคัมภีร์ขนาดจิ๋วในยุคกลาง (Medieval Miniature) และภาพประกอบสิ่งพิมพ์ของศิลปินชั้นครูชาวญี่ปุ่นในยุคเอโดะ

จนกลายเป็นสไตล์อันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างเด่นชัด

Woman encircled by a flight of birds in the night (1968)

ผลงานที่โดดเด่นเตะตาเรานับแต่ย่างเท้าเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ Woman encircled by a flight of birds in the night (1968) ที่มิโรวาดภาพบนผ้าใบกันน้ำที่ชาวไร่ใช้บรรทุกผลองุ่นในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลงานชิ้นนี้ของมิโรแสดงให้เห็นถึงกิจวัตรของเกษตรกรที่มีต่อผืนโลก และปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษยกับธรรมชาติ

ผลงานชุด Poetry-Painting (1925 – 1927)
ผลงานชุด Poetry-Painting (1925 – 1927)

หรือผลงานในชุด Poetry-Painting (บทกวี-จิตรกรรม) ซึ่งในช่วงต้นยุค 1920 มิโรเสาะแสวงหาแนวทางการทำงานอันก้าวล้ำนำสมัยที่ก้าวข้ามพรมแดนระหว่างงานจิตรกรรมและกวีนิพนธ์ เขาหยิบเอาแรงบันดาลใจจากแนวทางศิลปะแบบคิวบิสม์ของปิกัสโซ หลอมรวมกับความลุ่มหลงในการสังสรรค์เสวนาของแวดวงวรรณกรรมและกวีนิพนธ์ในปารีส

ผลงานชุด Poetry-Painting (1925 – 1927)

มิโรมุ่งหมายในการผสานงานจิตรกรรมและบทกวีเข้าไว้ด้วยกันด้วยผลงานที่ถ่ายทอดสีสันเอกรงค์บบนผืนผ้าใบในช่วงปี 1925 และ 1927 ที่ถ่ายทอดรูปทรงเส้นสายที่คล้ายกับถ้อยคำของบทกวี ขับขาน ลอยละล่อง ท้าทายแรงโน้มถ่วง ราวกับกำลังเคว้งคว้างอยู่กลางอวกาศ

ดังคำกล่าวของมิโรที่ว่า “ผมต้องการให้ผลงานของผมเป็นดังบทกวีที่ไม่ต่างอะไรกับดนตรีที่บรรเลงโดยจิตรกร”

ผลงานของมิโรไม่ต่างอะไรกับบทกวีในรูปของภาพวาด หรือภาพวาดในรูปของบทกวีก็ไม่ปาน

ผลงานชุด Poetry-Painting (1925 – 1927)
ผลงานชุด Poetry-Painting (1925 – 1927)

พิพิธภัณฑ์ Foundation of Joan Miró ตั้งอยู่บนเนินเขามองต์คูอิก เมืองบาร์เซโลนา เปิดทำการวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. ปิดวันจันทร์

สนนราคาค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ราคา 13 ยูโร, นักเรียนนักศึกษาอายุ 15-30 ปี และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ราคา 7 ยูโร, เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าชมฟรี

ดูรายละเอียดและจองตั๋วเข้าชมได้ที่ https://www.fmirobcn.org/

ข้อมูล หนังสือ Catalog Miró. His Most Intimate Legacy, หนังสือ HIS LIFT’S WORK Joan Miró

ภาพวาดสีบนแผ่นหิน

 

พิเศษ! MIC WALKING TRIP #08 เที่ยววัดชมศิลปะระดับโลก

เมื่อ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ คอลัมนิสต์ชื่อดังในมติชนสุดสัปดาห์ ผู้เล่าเรื่องศิลปะได้น่าฟังที่สุดในปัจจุบัน

และ ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัดและโบราณสถาน จับมือพากันไปเที่ยวในวัดสำคัญย่านบางกอก พร้อมชมงานศิลปะระดับโลก

ทำความเข้าใจประวัติวัดและความสำคัญจากอดีตจนถึงปัจจุบันของ 2 วัดดังในย่านบางกอก-ธนบุรี และอาคารประวัติศาสตร์มิวเซียมสยาม

พร้อมฟังที่มาที่ไปของผลงานศิลปินระดับโลก ที่นำผลงานมาจัดแสดงใน BAB 2022

 

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2565 เวลา 13.00 -17.00 น.

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์