ผลเลือกตั้งมาเลย์ ยังวนเหมือนวัวพันหลัก

มาเลเซียจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนกำหนดเวลาที่ควรจะเป็นร่วมปี เพื่อหวังแก้ปัญหาภายในรัฐสภาที่ทำให้รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้น อยู่ในสภาพง่อนแง่นเพราะมีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ

ถึงขนาดส่งผลให้รัฐบาลล่มมาแล้ว 2 ครั้ง 2 ครา ในช่วงระยะเวลาเพียง 2 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น

ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลผสมภายใต้การนำของนักการเมืองลายครามอย่างมหาธีร์ โมฮัมหมัด เกิดล่มกลางคันเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มที่สนับสนุนอันวาร์ อิบราฮิม ถอนตัวออกมา

ในตอนนั้นไม่มีใครสามารถหาเสียงสนับสนุนได้มากเพียงพอต่อการก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เดือดร้อนถึงสุลต่าน อับดุลลาห์ สุลต่าน อาหมัด ชาห์ ผู้ดำรงตำแหน่ง ยังดิเปอตวน อากง หรือพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย ต้องเรียก ส.ส.ทั้ง 222 เข้าไปสอบถามการสนับสนุน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่าใครควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ก่อนที่จะแต่งตั้งมูยิดดิน ยัสซิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อรัฐบาลมูยิดดินล่มกลางสภาอีกครั้ง อากงทรงตัดสินใจทางการเมืองอีกครั้ง เลือกอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ให้นั่งรักษาการนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ขึ้น

ปัญหาก็คือ ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาหมาดๆ ไม่เพียงไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เท่านั้น หากแต่ยังยิ่งก่อให้เกิดสภาพตีบตันทางการเมืองมากยิ่งขึ้นไปอีก ชนิดที่ทำให้การเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 2-3 วันยังหาตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่กันยังไม่ได้

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กลุ่มพันธมิตร ปากาตัน ฮารัปปัน (พีเอช) ที่นำโดยอันวาร์ อิบราฮิม ได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุด แต่ก็เพียงแค่ 82 ที่นั่ง ยังไม่ถึง 112 ที่นั่งที่เป็นเสียงข้างมากทั่วไป รองลงมาคือ กลุ่มของนายมูยิดดิน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้ ส.ส. 73 ที่นั่ง อันดับที่ 3 ที่ในตอนแรกคิดกันว่าจะกลายเป็น “คิงเมกเกอร์” หลังเลือกตั้งหนนี้ คือกลุ่มพันธมิตร บาริซาน เนชั่นแนล (บีเอ็น) ที่มีพรรคเก่าแก่แต่อื้อฉาวหนักเพราะคอร์รัปชั่นอย่าง “อัมโน” เป็นแกนนำ ได้ ส.ส.มา 30 ที่นั่ง ส่วนที่เหลือเป็น ส.ส.จากพรรคเล็กและผู้สมัครอิสระ

เมื่อผลเลือกตั้งปรากฏออกมาใหม่ๆ เชื่อกันว่า มูยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกรัฐมนตรีน่าจะได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่เล็กน้อย เนื่องจากมีพรรคการเมืองอีกสองพรรคเข้าร่วมกลุ่ม ทำให้จำนวน ส.ส.เพิ่มเป็น 101 ที่นั่ง แต่ถ้าหากต้องการจัดตั้งรัฐบาลจริงๆ ก็ยังต้องหาเสียงสนับสนุนจาก “บีเอ็น” เพิ่มเติม เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในสภา แม้ไม่จำเป็นต้องดึงมาทั้ง 30 คนก็ตามที

ในขณะที่กลุ่มพีเอชของอันวาร์ หากต้องการจัดตั้งรัฐบาลจริงๆ ต้องเจรจากับ “บีเอ็น” เพื่อให้ ส.ส.ทั้ง 30 คนร่วมสนับสนุนด้วย ซึ่งจะทำให้เสียงสนับสนุนในสภาเพิ่มเป็น 112 เสียง เกินครึ่งมาเล็กน้อย แต่เอาเข้าจริงการเจรจาการเมืองครั้งสำคัญนี้ก็ยังไม่เป็นผล

ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้อย่างน้อย 112 เสียงที่จำเป็นได้ แม้จะผ่านกำหนดเส้นตายในวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้วก็ตามที

สาเหตุสำคัญที่ปรากฏยืนยันชัดเจนในวันนั้นก็คือ กลุ่มพันธมิตรบีเอ็น ที่มีอัมโนเป็นแกนหลัก ปฏิเสธที่จะทำความตกลงหนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ประกาศตัวขอเป็น “ฝ่ายค้าน” ในรอบนี้

สุดท้ายแกนนำคนสำคัญของทั้งสามฝ่ายก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกอย่างคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของยังดิเปอตวน อากง อีกครั้ง

สุลต่านอับดุลลาห์ เบิกตัวทั้งอันวาร์ และมูยิดดิน เข้าเฝ้าฯ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน เสนอทางออกทางแรก นั่นคือ ขอให้กลุ่มที่สนับสนุนอันวาร์ และมูยิดดิน ร่วมกันจัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ” ซึ่งไม่เพียงเป็นทางออกของปัญหา ยังเป็นทางที่ทำให้รัฐบาลมีเสียงข้างมากเด็ดขาดสนับสนุนในสภาด้วยอีกต่างหาก

มูยิดดินปฏิเสธยืนกรานที่จะไม่ร่วมงานกับอันวาร์ อิบราฮิม กับกลุ่มพันธมิตรที่ยึดแนวทางหลากหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในขณะที่นโยบายหลักของกลุ่มของมูยิดดินคือแนวทางชาตินิยมเพื่อคนเชื้อสายมาเลย์ “นี่คือจุดยืนของเราตั้งแต่เริ่มแรก และจนถึงบัดนี้ท่าทีนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง” มูยิดดินยืนยัน

ที่ทำให้ยุ่งเหยิงมากขึ้นไปอีกก็คือ ความแตกแยกภายในที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบีเอ็น ข้อมูลจาก “วงใน” ระบุว่า ในเวลาเดียวกัน ขณะที่อาหมัด ซาอิด ฮามิดี้ แกนนำของกลุ่มบีเอ็นต้องการนำกลุ่ม ส.ส.เข้าสนับสนุนอันวาร์ อิบราฮิม อีกกลุ่มต้องการสนับสนุนมูยิดดิน อันเป็นที่มาที่ทำให้บีเอ็นประกาศอย่างเป็นทางการ ไม่สนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้มีคะแนนเสียงเพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล

หลัง 14.30 น. ทางสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ 2 ประเด็น

หนึ่งคือ หลังการตรวจสอบเสียงรับรองของ ส.ส. ยังไม่มีแคนดิเดตรายใดเหมาะสมกับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เปิดเผยว่าทางสำนักพระราชวังได้เชื้อเชิญ 30 ส.ส.จากกลุ่มพันธมิตรบีเอ็น มาเข้าเฝ้าฯ สุลต่านอัลดุลลาห์แบบรายตัวในวันที่ 23 พฤศจิกายน เพื่อตรวจสอบว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นว่าควรสนับสนุนผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่องค์สุลต่านเคยใช้ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 2 คนก่อนหน้านี้

หลายฝ่ายคาดกันว่า สถานการณ์การฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียจะยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าบีเอ็นจะเปลี่ยนแปลงท่าทีของกลุ่ม หรือไม่ก็องค์สุลต่านอับดุลลาห์ เล็งเห็นว่า ไม่ควรปล่อยให้การปกครองประเทศตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ได้อีกต่อไป

สุลต่านอาจตัดสินใจมอบหมายให้อันวาร์ อิบราฮิม ในฐานะผู้มีเสียง ส.ส.จากการเลือกตั้งสูงสุด จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้น ยอมรับการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่แน่นอนในสภาอนาคต เพราะขาดเสถียรภาพอย่างชัดเจน

ซึ่งอาจนำการเมืองมาเลเซียวนกลับมายังจุดเดิม คือรัฐบาลล่มเพราะแพ้เสียงในสภา แล้วกลับมามีการเลือกตั้งใหม่กันอีกครั้ง ในอีกไม่ช้าไม่นานนั่นเอง