ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา และตลอดสัปดาห์นี้

กลุ่มประเทศอาเซียน มีบทบาทสำคัญบนเวทีการเมืองและเศรษฐกิจโลก

ทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 41 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ทั้งการประชุม จี 20 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

และทั้งการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย

 

อาจารย์อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ แห่งคอลัมน์ “โลกทรรศน์”

มีข้อสังเกตถึงบทบาทของผู้นำประเทศที่เป็นเจ้าภาพการประชุมข้างต้นอย่างน่าสนใจว่า

ทั้งอินโดนีเซียและกัมพูชา ผู้นำของทั้งสองประเทศแสดงบทบาท “ผู้นำ” ในการเข้าร่วมแก้ปัญหาระดับโลก อย่างโดดเด่น

อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เดินทางไปพบปะกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย

เดินทางไปพบกับประธานาธิบดีโวโลดิเมีย เซเรนสกี ของยูเครน

เดินทางไปพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน

เพื่อหาทางออกและทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ส่วนสมเด็จฮุน เซน เคลื่อนไหวและเสนอให้อาเซียนทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในหลายประเด็น

บทบาทของประธานาธิบดีวิโดโดและนายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุน เซน ดังกล่าว

ในสายตาของอาจารย์อุกฤษฏ์ เห็นว่าทำให้อาเซียนได้รับการยอมรับความสำคัญของอาเซียนอย่างมาก

เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์ในเมียนมา

สมเด็จฮุน เซน ในฐานะประธานอาเซียนได้วิจารณ์ความล้มเหลวของผู้นำเมียนมา ที่ไม่ปฏิบัติตามฉันทานุมัติ 5 ข้อ เขาและผู้แทนพิเศษของเขาเดินทางและเจรจากับผู้นำเมียนมาอย่างมาก

เช่นเดียวกัน ประธานาธิบดีวิโดโดได้วิจารณ์ผู้นำเมียนมาและเสนอไม่ให้เจ้าหน้าที่ของเมียนมาเข้ามามีบทบาท

ทำให้ผู้นำอินโดนีเซียและกัมพูชาโดดเด่นเช่นกัน

 

ย้อนกลับมาดูบทบาทผู้นำไทย ในฐานะเจ้าภาพประชุมเอเปค

เราควรคาดหวังอย่างไร

ดูเหมือนอาจารย์อุกฤษฏ์จะคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า คงจะวนเวียนอยู่ในโลกเก่า

โดยโลกเก่าสำหรับไทยคือ

“อาหารอร่อย คนไทยใจดี ยิ้มแย้ม”

ทำให้ “แขก” ที่มาเยือน พึงพอใจกับสิ่งเหล่านี้

และเราก็คงปลาบปลื้มว่าประสบความสำเร็จแล้ว ในการพลักดันซอฟต์เพาเวอร์ ออกไปให้โลกรู้จัก

ส่วนวิกฤตการณ์โลกและเมียนมา

อาจารย์อุกฤษฏ์วิจารณ์ว่า ผู้นำไทยก็ดูเหมือนจะ “จม” อยู่ในโจทย์เก่าและท่าทีเก่าเช่นกัน

“…ผมติดตามท่าที วิสัยทัศน์และแนวทาง (ของผู้นำไทย) ต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ผมได้ข้อมูลจากข่าววิทยุแห่งประเทศไทย และข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ประเด็นที่จับต้องได้มี 3 คำ

สร้างความเข้มแข็ง พัฒนาอย่างยั่งยืน วิถีทางอาเซียน

ฟังทีไร ดูดี น่ารัก สวยหรู

อย่างไรก็ตาม เหมือนเทียบกับถ้อยแถลงและการเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีวิโดโด ท่าทีไทยเหมือนไม่มีวิกฤตการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในโลกและอาเซียนเลย

ผู้นำไทยท่องคาถา แล้วท่านผู้นำไทยก็ว่าตามสคริปต์…”

สคริปต์อะไร อย่างไร โปรดพลิกอ่านที่หน้า 88

แล้วอาจได้คำตอบว่า ไฉนเราจึงไม่ควรคาดหวังกับผู้นำไทยที่เป็นประธานการประชุมเอเปคครั้งนี้

 

อนึ่ง การอยู่ในโลกเก่า

ก็มิได้หมายความว่าเราจมอยู่แต่ในอดีต จนมิอาจแปรเป็นประโยชน์ในปัจจุบันได้

อยู่ที่ท่าทีและการตีความให้เป็นบวกมากกว่า

อย่างในคอลัมน์ “พื้นที่ระหว่างบรรทัด” ของชาตรี ประกิตนนทการ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

ให้เกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ

โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 นายกรัฐมนตรีอู นุ ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

และได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยพาคณะรัฐบาลจากพม่าเดินทางไปเยี่ยมชมโบราณสถานที่อยุธยา เพื่อสักการะวัดสำคัญต่างๆ

ที่สำคัญที่สุดคือ อู นุ ได้มอบเงิน 2 แสนบาทเพื่อปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตร

และได้ทำพิธีเพื่อขอขมาต่อการที่กองทัพพม่าได้เคยยกทัพเข้าตีและเผาอยุธยา

ซึ่งอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ บอกว่าเป็นที่น่าเสียดายว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้รับการขยายความและยกระดับให้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญเท่าที่ควรในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา

ทั้งที่เราสามารถสร้างความหมายเชิงบวกที่เป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกได้

ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องพูดถึงแต่สงคราม ความเกลียดชัง และการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมเท่านั้น

เรื่องนี้คนที่จะมาเป็นผู้นำ

ควรจะเข้าใจและตระหนักถึงให้มาก-มาก –จริงไหม?? •