เลือกตั้งทั่วไปมาเลเซีย มหกรรม ‘คมเฉือนคม’

วันที่ 19 พฤศจิกายนนี้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อนบ้านทางใต้ของไทย ที่การเมืองการปกครองปั่นป่วนมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ชนิดที่ช่วงระยะเวลาไม่ถึง 4 ปี มีนายกรัฐมนตรีผลัดเปลี่ยนกันขึ้นบริหารประเทศมากถึง 3 คนด้วยกัน

ความปั่นป่วนดังกล่าวสะท้อนออกมาให้เห็นในการเลือกตั้งครั้งที่จะเกิดขึ้นนี้เช่นกัน เพราะโดยภาพรวมแล้ว การเลือกตั้งมาเลเซียครั้งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันชิงชัยกันมากที่สุด ดุเดือดที่สุด และคาดเดาผลการเลือกตั้งได้ยากมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของที่นั่น

จำนวนที่นั่ง ส.ส.ทั้งหมด 222 ที่นั่ง มีผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งมากถึง 945 คน เท่ากับหนึ่งเก้าอี้มีผู้แย่งชิงโดยเฉลี่ยแล้วอย่างน้อย 4 คน

ในบทสรุปของคณะกรรมการการเลือกตั้งมาเลเซีย มีเพียง 9 เขตเลือกตั้งเท่านั้นที่เป็นการแข่งขันกันแบบ 1 ต่อ 1 ส่วนใหญ่ที่เหลือมักเป็นการแย่งชิงกันระหว่างผู้สมัคร 5 คน

มีที่มากที่สุดคือเขตเลือกตั้งบาตู ในกัวลาลัมเปอร์ ที่มีผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส.ส.ถึง 10 คน สูงที่สุดในประเทศ

มีพรรคการเมืองลงชิงชัยกันในครั้งนี้มากถึง 10 พรรค แยกกันจับมือเป็นกลุ่มพันธมิตรหลัก 3 กลุ่ม

และที่น่าสนใจก็คือ มีผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดอีกมากถึง 108 คน สูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกเช่นเดียวกัน

กลุ่มพันธมิตรแรกที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจก็คือ บาริซาน เนชั่นแนล อะไลแอนซ์ หรือกลุ่มพันธมิตรแนวร่วมแห่งชาติ นี่เป็นกลุ่มการเมืองเก่าแก่ที่มีหัวหอกคือพรรคอัมโนของนายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ผู้ประกาศให้มีการเลือกตั้งครั้งนี้ก่อนกำหนด (ในเดือนกันยายนปีหน้า) ถึงเกือบ 1 ปี โดยหวังจะอาศัยความปั่นป่วนจากการแตกคอกันของฝ่ายค้าน นำไปสู่การครองเสียงข้างมากในสภา

พันธมิตรกลุ่มที่สอง เพิ่งเกิดขึ้นใหม่หมาดเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองที่แยกตัวออกมาจากอัมโน แถมยังมีนโยบายหลัก โปรคนเชื้อชาติมาเลย์เช่นเดียวกันอีกด้วย เรียกตัวเองว่า เปริกาตัน เนชั่นแนล ผู้นำกลุ่มที่จะได้ขึ้นครองตำแหน่งนายกฯ หากได้เสียงข้างมากก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน นั่นเอง

พันธมิตรกลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มพรรคการเมืองกลางเก่ากลางใหม่และเป็นกลุ่มก้อนฝ่ายค้านที่สำคัญที่สุด เคยรวมตัวกันพลิกความคาดหมาย โค่นแชมป์เลือกตั้งตลอดกาลในช่วงระยะเวลาราว 60 ปีอย่างอัมโนและบาริซาน เนชั่นแนลได้จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาเมื่อปี 2018 คือกลุ่มปากาตัน ฮารัปปัน ที่มีนโยบายหลักลดค่าครองชีพ และสนับสนุนการอยู่ร่วมอย่างสันติในสังคมพหุชาติพันธุ์

ผู้นำกลุ่มเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกอย่างอันวาร์ อิบรอฮิม ในวัย 75 ปี

อีกกลุ่มที่แม้จะไม่ได้เป็นกลุ่มพันธมิตรการเมืองใหญ่ในระดับชาติ แต่ไม่พูดถึงก็ไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยมหาธีร์ โมฮัมหมัด ในวัย 97 ปี เรียกว่า “พรรคนักสู้เพื่อมาตุภูมิ”

มหาธีร์ที่ประกาศว่าจะลงเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย พยายามดึงเอาพรรคนิยมเชื้อชาติมาเลย์เข้ามาอยู่ด้วยกัน เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านอัมโนโดยเฉพาะ ในขณะที่ตนเองลงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเกาะลังกาวี เจอคู่แข่งรวดเดียว 4 คน

มหาธีร์แย้มๆ ออกมาอีกครั้งเช่นกันว่า พร้อมที่จะหนุนอันวาร์ อิบราฮิม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าหาก “ตกลงเงื่อนไขกันได้”

อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ รักษาการนายกรัฐมนตรีในเวลานี้ ยังคงเชื่อมั่นว่า จะพาอัมโนและบาริซาน เนชั่นแนล ได้รับชัยชนะอีกครั้ง และจะกลายเป็นรัฐบาลที่แข็งแกร่งมั่นคงกว่าเดิม

แต่หลายฝ่ายไม่ได้คิดเช่นนั้น รวมทั้งองค์กรทางวิชาการอย่างศูนย์เมอร์เดกาเพื่อทัศนะวิจัย (the Merdeka Center for Opinion Research) ที่มีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อย่างอิบราฮิม ซัฟฟียาน ร่วมก่อตั้งขึ้น

อิบราฮิมเชื่อว่า การเกิดขึ้นของเปริกาตัน เนชั่นแนล จะส่งผลดึงเสียงสนับสนุนของอัมโนและบาริซาน เนชั่นแนล ให้ลดน้อยลง เอื้อประโยชน์ให้กับปากาตัน ฮารัปปัน ของอันวาร์ อิบรอฮิม เต็มๆ

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นด้วย และเชื่อว่า อัมโนกับบาริซาน เนชั่นแนล ไม่น่าจะได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด หากต้องการเป็นรัฐบาลก็ต้องหาทางจับมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ อีกเหมือนเดิม

ศูนย์เมอร์เดกาเองเพิ่งเผยแพร่ผลสำรวจล่าสุดออกมาเมื่อ 4 พฤศจิกายนนี้ แนวโน้มของผู้ที่จะลงคะแนนเสียงให้กับบาริซาน เนชั่นแนล ลดลงจาก 27 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกันยายน เหลือเพียงแค่ 24 เปอร์เซ็นต์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ระดับการยอมรับในตัวนายกฯรักษาการอย่างอิสมาอิลก็ลดลงอย่างฮวบฮาบในทันทีที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่

ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรใหม่ภายใต้การนำของอดีตนายกฯ มูห์ยิดดิน เพิ่มขึ้นถึง 4 เปอร์เซ็นต์ มาเป็น 13 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่เปกาตัน ฮารัปปันของอันวาร์ เสียงสนับสนุนยังคงทรงตัวอยู่ที่ 26 เปอร์เซ็นต์ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

นักวิชาการของเมอร์เดกาเซนเตอร์ ชี้ว่า ผลการสำรวจแสดงให้เห็นชัดเจนว่า แรงสนับสนุนของกลุ่มชาติพันธุ์มาเลย์ต่อ อัมโนและบาริซาน เนชั่นแนล ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้มาก

ทำให้เป็นไปได้สูงอย่างยิ่งที่ว่า คงไม่มีกลุ่มก้อนการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก้าวขึ้นมาครองเสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาลได้แบบสบายๆ

แต่แนวโน้มที่ว่านี้อาจพลิกผันได้เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ด้วยสองเหตุผล

หนึ่งคือ ในแบบสำรวจมีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 31 เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจเลือกกลุ่มใดพรรคใด

อีกหนึ่งก็คือการเลือกตั้งครั้งนี้ ในจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 21 ล้านคน ยังคงมีกองทัพของคนหนุ่มสาวที่เพิ่งได้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรกอยู่ด้วยหลายล้านคน

มากจนอาจกลายเป็นปัจจัยพลิกผันผลการเลือกตั้งที่ดุเดือดสูสีครั้งนี้เอาได้โดยง่ายนั่นเอง