เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย มาถึง ‘3 จุดพลิกผัน’ สันติธาร เสถียรไทย แนะพัฒนาเศรษฐกิจแบบเน้นกองกลาง | บทความเศรษฐกิจ

การให้น้ำหนักต่อมุมมองเศรษฐกิจโลก ว่ากำลังจะถดถอยอีกครั้งและลากยาวถึงกลางปี 2566 มีมากขึ้นๆ

ซึ่งหัวข้อนี้ “สันติธาร เสถียรไทย” ประธานทีมเศรษฐกิจ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea Group กล่าวไว้น่าสนใจ

“เรากำลังมาถึง 3 จุดพลิกผันทางเศรษฐกิจที่สำคัญ หากเราปรับตัวไม่ทันอาจเป็นเสมือนขุนพลที่รบกับสงครามของเมื่อวาน และพลาดท่าสงครามของวันพรุ่งนี้”

“การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น และต้องจับตาดูให้ดี มี 3 ด้าน คือ หนึ่ง การพลิกจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ เป็นความกังวลด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจแทน ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของปีนี้คือการที่นักวิเคราะห์โดยเฉพาะธนาคารกลางของอเมริกา อ่านปัญหาเงินเฟ้อผิดไป เลยเสมือนต้องเหยียบเบรกด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง สิ่งที่ตามมาคือดอลลาร์แข็งค่าผิดคาดและไม่หยุดเสียที”

“ขณะที่อาเซียนและไทยเองต้องเผชิญกับความท้าทายจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จากราคาพลังงานเพิ่ม แต่ค่าเงินอ่อนลง ภาวะเงินเฟ้อจะกัดกร่อนกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้น จะเริ่มมีผลกับการลงทุนต่อไป ดังนั้น ปัญหาที่เราต้องเผชิญอาจพลิกจากนโยบายการเงินในโลกที่หย่อนไป กลายเป็นตึงไป จากเศรษฐกิจโลกที่มีอุณหภูมิร้อนไป กลายเป็นหนาวไป”

“สำหรับไทย สิ่งที่ต้องเผชิญคือจากเงินเฟ้อที่สูงไปกลายเป็น growth ที่ต่ำไป ขณะเดียวกันจากสถานการณ์ของแพงเร็ว เปลี่ยนไปเป็นประชาชนขาดรายได้มากเกินไป แต่เศรษฐกิจโลกจะพลิกไปสู่หนาวแค่ไหนขึ้นอยู่กับอีกสองพลิก คือ พลิกเครื่องยนต์เศรษฐกิจโลกจากอเมริกาไปเป็นจีน และพลิกจากเศรษฐกิจสินค้า ไปเป็นเศรษฐกิจบริการ หรือจากการส่งออกสินค้าไปเป็นท่องเที่ยวใหม่อีกครั้งเสมือนที่เคยเป็นก่อนยุคโควิด”

“ทั้งหมดนี้ เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เมื่อคนกลับมาเดินทางกันมากขึ้น จนเครื่องบินเต็ม รถติด และประเทศต่างๆ เปิดประตู แม้ยังไม่มีทัวร์จีนก็เห็นทัวร์จากเวียดนามแทน แม้หลายคนเคยพูดไว้ว่าไม่อยากให้ไทยพึ่งพาแต่ท่องเที่ยวเน้นปริมาณอีกแล้ว แต่ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ ท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญ”

“แต่ท่องเที่ยวก็คงไม่พอทำให้เศรษฐกิจไทยไปได้ในยามเศรษฐกิจโลกซบเซา โจทย์ปีหน้าน่าจะเป็นเรื่องการหาทางพยุงเศรษฐกิจให้ผ่านหน้าหนาวนี้ไปได้ ในวันที่นโยบายการเงินไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะเงินเฟ้อ นโยบายการคลังจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถพอนำมาใช้ได้ โดยการใช้นโยบายการคลังแบบตรงเป้า ให้ช่วยกลุ่มที่เปราะบางอย่างแม่นยำและไม่รั่วไหล จะเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายปีหน้า ที่จะช่วยให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

เมื่อถามถึงเทรนด์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2566 “สันติธาร” ระบุว่า “ปี 2565 เป็นปีปราบเซียน เรื่องการอ่านเทรนด์อนาคต เพราะทุกเทรนด์ที่ต่างคิดจะเป็นอนาคตถูกกระชากกลับเกือบหมด ขณะที่เศรษฐกิจดั้งเดิมกลับมาแรง เรียกเล่นๆ ได้ว่าเป็น Revenge of the old economies หรือการแก้คืนของเศรษฐกิจเก่า

ยกตัวอย่าง 3 ธีม คือ ด้านเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการมาของเศรษฐกิจเอเชีย ดูจะอ่อนแรงไปมากจนเราต้องถามตัวเองว่า การตั้งยุทธศาสตร์องค์กร ธุรกิจ ประเทศ หรือแม้แต่สำหรับตัวเองบนฐานของธีมพวกนี้ จะเป็นแนวทางที่ใช่อยู่ไหม ซึ่งผมคิดว่ายังไปได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนปรับธีมบ้าง นั่นคือ หนึ่ง ‘ความยั่งยืนต้องมีตัวเอส’ ที่ผ่านมาเทรนด์ที่กล่าวถึงคือ ESG ( Environment Social Governance) แต่บางทีเราชอบลืมตัว ‘S’ มิติด้านสังคม เรื่องของคน เป็นตัวสำคัญให้เทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว เช่น การลดคาร์บอน เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดสะดุดได้”

“อย่างสถานการณ์ปีนี้ขาดแคลนพลังงาน ราคาพลังงานสูงขึ้น เป็นผลให้หลายประเทศถูกกดดันให้ต้องกลับไปใช้แหล่งพลังงานฟอสซิลอีกครั้ง หากมองระยะสั้นอาจดูเหมือนเศรษฐกิจสีดำ (เช่น น้ำมัน ถ่านหิน) กำลังคัมแบ๊ก ไม่ใช่เศรษฐกิจสีเขียว แต่ความเป็นจริงคือเทรนด์สีเขียวยังมาแรง และคงไปต่อได้จากการผลักดันของนักลงทุนทั่วโลก และผู้บริโภครุ่นใหม่”

Photo by Giuseppe CACACE / AFP

“เรื่องที่สอง ‘ดิจิทัลต้องช่วยคนตัวเล็ก’ ซึ่งช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประเทศในอาเซียน รวมทั้งไทยมีผู้ใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดประมาณ 10 ล้านคน ใช้บริการดิจิตอลจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไป”

“แม้ปีนี้เมื่อโควิดผ่านพ้นไป ใช้ชีวิตออฟไลน์แทนออนไลน์มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลชะลอลงอย่างชัดเจน สิ่งที่อยากเห็นคือดันเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าไปช่วยคนตัวเล็ก เพราะอย่างไรเทคโนโลยีจะช่วยเสริมพลังติดปีกให้กับคนตัวเล็กจำนวนมากได้เหมือนช่วงโควิดระบาด”

“ข้อที่สาม ‘เอเชียต้องมีอาเซียน’ เมื่อคุยกับนักลงทุนต่างประเทศขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลก กำลังเอียงไปเอเชียมากขึ้น หมายถึงจีน อินเดีย และจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ธุรกิจหันมาใช้โมเดล China+1 คือตั้งโรงงานผลิตนอกจีนในอาเซียนด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยงอีกด้วย เอเชียยังมองอาเซียนเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญ อาเซียนเนื้อหอมขึ้นในสายตานักลงทุนต่างชาติ นี้ก็เป็นประโยชน์กับประเทศไทยหากรู้จักคว้าโอกาส”

อีกเรื่องที่มักถูกถาม ไทยถดถอยกว่าประเทศเพื่อนบ้านจริงหรือ “สันติธาร” สะท้อนว่า ประเทศไทยไม่ใช่ไม่มีนักลงทุนสนใจเลย ยังมีคนสนใจลงทุนในไทยแต่เดิมอยู่แล้ว ล่าสุดกรณีรถอีวี แต่หากถามนักลงทุนว่าประเทศใดในอาเซียนเนื้อหอมที่สุด มักได้ยินถึงเวียดนามและอินโดนีเซียมากกว่าไทย หากถามว่าที่ไหนที่บริษัทอยากตั้งกองทุนไว้ลงทุน ตั้งสำนักงานใหญ่ คำตอบจะเป็นสิงคโปร์ ซึ่งกลายเป็นทั้งฮับของสตาร์ตอัพ และเพิ่งแซงฮ่องกงในการจัดอันดับศูนย์กลางการเงินของโลก

หากประเทศไทยเป็นนักกีฬาคนหนึ่ง เราเป็นนักกีฬาที่เคยเก่งมาก ร่างกายแข็งแรง มีพรสวรรค์ ปัจจุบันยังใช้ได้อยู่ สิ่งที่มักพูดเสมอว่าไทยโชคดีที่ในน้ำมีปลาในนามีข้าว อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีระหว่างจีน อินเดีย เป็นฮับการบิน มีธรรมชาติ มีวัฒนธรรมดึงดูดคนมาเที่ยว เคยเกือบเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียที่จีดีพีโตเฉลี่ยเกิน 5% ต่อปี แต่นั่นนานมาแล้ว

ตอนนี้เราเป็นนักกีฬาที่แก่ตัวลงแล้ว ไม่ได้วิ่งเร็ว กระโดดสูงเหมือนเดิม สมรรถนะร่างกายเสื่อมลง จะให้แข่งกับนักกีฬาเด็กๆ เช่น เวียดนาม ก็ยาก เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ก็ไม่ค่อยมี ขณะที่ประเทศอื่นเจอปัญหาแก่ลงเหมือนกัน แต่เขาฝึกฝนทักษะอื่นจนกลายเป็นผู้เล่นที่เก่งแม้อายุมากขึ้น

เช่น สิงคโปร์ สร้างตัวเองกลายเป็นฮับของสตาร์ตอัพ แต่เรายังยึดอยู่กับอดีต และยังไม่เข้าใจอนาคต

ดังนี้ทางรอด หนึ่ง ต้องยอมรับสภาพและเลิกบอกตัวเองว่าเรายังเป็นนักกีฬาไฟแรงเนื้อหอมแบบในอดีต

สอง ต้องเป็นน้ำครึ่งแก้ว ควรไปศึกษายุทธศาสตร์และวิธีการของประเทศที่ทำสำเร็จแล้วนำมาปรับให้เหมาะกับเรา

 Photo by Mladen ANTONOV / AFP

และสาม อย่ารอแมวมอง ต้องไปหาแมว

“สิ่งหนึ่งที่ผมถูกถามบ่อยๆ เวลาไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ คือประเทศไทยควรเลือกอุตสาหกรรมไหนบ้างให้เป็นพระเอก คำถามที่ผมเองเริ่มตั้งกับตัวเองเหมือนกันคือเรายังยึดติดกับโมเดลบริหารเศรษฐกิจแบบ ‘เสือเศรษฐกิจ’ แห่งเอเชียในอดีต เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง มากไป ที่ให้รัฐช่วยเลือกว่าอุตสาหกรรมไหนจะเป็นอนาคตของประเทศ และมีส่วนลงมาบริหารเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เป็นโมเดลจากบนลงล่าง เปรียบเทียบกับทีมฟุตบอลคือรัฐลงมาช่วยเลือกกองหน้าว่าใครจะเป็นคนยิงประตูและเล่นยังไง”

“เราอาจต้องเปลี่ยนวิธีการและmindset จากเน้น ‘กองหน้า’ ว่าอุตสาหกรรมไหนเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักเป็นเน้นการบริหาร ‘กองกลาง’ ให้ดีขึ้น

กองกลางคือภาคเศรษฐกิจที่อาจไม่ได้เน้นส่งออกแต่เป็นปัจจัยการผลิตให้กับภาคเศรษฐกิจต่างๆ เช่นเดียวกับกองกลางมีหน้าที่คุมเกมและส่งบอลให้กองหน้าไม่ได้เน้นยิงประตูเอง หากกองกลางพื้นฐานแน่น คุมเกมดีส่งแม่น จะทำให้กองหน้าเล่นได้ดีขึ้น”

เพราะเขาเชื่อว่า การพัฒนาเศรษฐกิจแบบเน้นกองกลาง จึงเป็นการยิงนัดเดียวได้นกหลายตัว