ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และ การปฏิสังขรณ์อดีต (4) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา

: ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และ การปฏิสังขรณ์อดีต (4)

 

ภายหลังการจัด “พระราชพิธีรัชมงคล ร.ศ.126” อย่างยิ่งใหญ่ (ตามที่ได้กล่าวไว้ในสัปดาห์ก่อน) พื้นที่พระราชวังกรุงเก่า ก็ได้กลายมาเป็นสถานที่ที่กษัตริย์รัตนโกสินทร์ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญเรื่อยมา เช่น รัชกาลที่ 6 ได้มาประกอบพระราชพิธีสังเวยอดีตมหาราช ณ พลับพลาตรีมุข ในพระราชวังเก่า เมื่อ พ.ศ.2453 และรัชกาลที่ 7 ก็ได้เสด็จมาประกอบพิธีเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2469

นอกจากนี้ พระราชวังเก่าและพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ วิหารพระมงคลบพิตร และวัดร้างอีกหลายแห่ง ก็เริ่มกลายมาเป็นสถานที่ที่ชนชั้นนำสยามและแขกบ้านแขกเมือง เดินทางมาเยี่ยมชมอย่างสม่ำเสมอ

ณ ห้วงเวลาดังกล่าว เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนทางความหมายของเมืองเก่าอยุธยา จากเมืองทิ้งร้างที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเป็นศูนย์กลางราชอาณาจักร มาสู่เมืองโบราณที่เป็นหลักฐานของอดีตราชธานีเก่าอันยิ่งใหญ่ของประเทศสยาม กลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นยอดในการปฏิสังขรณ์อดีตของอยุธยาขึ้นมาใหม่ภายใต้บริบททางสังคมการเมืองแบบรัฐ-ชาติ สมัยใหม่ (รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ก่อนหน้าพระราชพิธีรัชมงคลหลายปี สิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นงานโบราณคดียุคแรกในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยาก็ได้เริ่มต้นขึ้นบ้างแล้วโดยพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นพระยาโบราณบุรานุรักษ์ ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยา

ท่านได้ทำการสำรวจและรวบรวมโบราณวัตถุตามวัดร้างต่างๆ มาเก็บไว้ที่วังจันทรเกษม จนสามารถจัดตั้งขึ้นเป็น “โบราณพิพิธภัณฑ์” ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2445 (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม) ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีอีกส่วนที่เข้ามาช่วยในการปฏิสังขรณ์อดีตให้แก่อยุธยา

แม้พระยาโบราณราชธานินทร์จะมีหน้าที่หลักเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย แต่ในอีกด้านหนึ่งของท่านที่มีหน้าที่สำรวจ ขุดค้น และรวบรวมโบราณวัตถุจากแหล่งต่างๆ ก็ได้ทำให้ท่านกลายเป็นผู้มีความรอบรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยามาก จนถึงขนาดที่สามารถแต่งหนังสือ “ตำนานกรุงเก่า” ขึ้นถวายรัชกาลที่ 5 ในคราวพระราชพิธีรัชมงคล

ซึ่งหนังสือเล่มนี้ในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญอีกชิ้นในการศึกษาอดีตของอยุธยา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระสยามเทวาธิราชทูลเชิญพระอิศวรเสด็จลงมาจุติเป็นพระนเรศวร ภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม

ราวกลางทศวรรษ 2470 ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้เกิดโครงการใหญ่อีกชิ้น คือ การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังประวัติพระนเรศวรภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม

ภาพชุดนี้สำคัญมากและจะส่งผลมิใช่แค่เพียงต่อการปฏิสังขรณ์อดีตอยุธยา แต่ยังส่งผลต่อการสร้างอดีตของราชวงศ์จักรี และประเทศสยามไปพร้อมกัน

ภาพชุดดังกล่าวเขียนขึ้นในช่วง พ.ศ.2473-2474 โดยพระยาอนุศาสนจิตรกร ช่างเขียนภาพฝีมือดีในสมัยรัชกาลที่ 6-7

โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ภาพทั้งหมดที่ปรากฏอยู่บนผนังทั้งหมด 14 ห้องภายในวิหารหลังนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้กำหนดเนื้อหาและโครงเรื่อง ตลอดจนตำแหน่งของภาพทั้งสิ้น

ประวัติพระนเรศวร สำนวนที่คนไทยรู้จักดีมีที่มาจากหนังสือ “พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” แต่งโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะเขียนขึ้นในขณะที่ยังเสด็จลี้ภัยอยู่ในปีนังหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แน่นอน แม้ก่อนหน้าหนังสือเล่มนี้จะปรากฏเรื่องราวของพระนเรศวรจะเป็นที่รับรู้กันมานานแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีการนำเสนอในรูปแบบชีวประวัติครบสมบูรณ์ตั้งแต่เกิดจนตายมาก่อน (เรื่องเล่าพระนเรศวรแต่เดิมจะมีลักษณะกระจัดกระจายตามเอกสารต่างๆ)

ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงมีความพิเศษต่อการประกอบสร้างพระนเรศวรให้กลายมาเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยยุคใหม่

 

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจคือ โครงเรื่องประวัติพระนเรศวรแบบที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ กลับปรากฏมาก่อนแล้วในชุดภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดสุวรรณดารามที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ภาพจิตรกรรมชุดนี้เปรียบเสมือนเป็นต้นฉบับแรกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ในการเขียนประวัติพระนเรศวรในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ การเลือกเขียนภาพประวัติพระนเรศวร ณ วัดสุวรรณดาราราม อันเป็นวัดสายตระกูลของราชวงศ์จักรียังสื่อนัยยะถึงความเชื่อมโยงกัน (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ระหว่างราชวงศ์จักรีกับพระนเรศวร

ต้องไม่ลืมนะครับว่า รัชกาลที่ 4 เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่พยายามอธิบายสายตระกูลของราชวงศ์จักรีว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงมาจากพระนเรศวร โดยอธิบายว่า พ่อของรัชกาลที่ 1 สืบเชื้อสายมาจากโกษาปาน ซึ่งตัวโกษาปานคือลูกที่เกิดจากลูกสาวของพระเอกาทศรถ ซึ่งพระเอกาทศรถก็คือน้องชายของพระนเรศวร

ชุดคำอธิบายนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือปฐมวงศ์และอภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งแพร่หลายอยู่อย่างจำกัดในหมู่ชนชั้นนำสยามที่อ่านหนังสือออกเท่านั้น ดังนั้น การเขียนภาพประวัติพระนเรศวรลงบนฝาผนังวัด ซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่คนทั่วไปมองเห็นได้ง่ายและเข้าใจได้โดยไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือออกจึงมีพลังมากกว่า

แน่นอนนะครับว่า ภาพชุดนี้มิได้เขียนภาพเล่าประวัติยาวมาจนถึงราชวงศ์จักรี แต่การปรากฏเรื่องราวของพระนเรศวรในพื้นที่วัดประจำราชวงศ์จักรี ก็ได้สร้างความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์เข้าหากันได้ไม่มากก็น้อย และเมื่อหนังสือปฐมวงศ์และอภินิหารบรรพบุรุษตีพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์สมัยใหม่ในปริมาณมาก เข้าถึงคนวงกว้าง และถูกใช้สอนในโรงเรียนต่อมา ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระนเรศวร กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาติไทย กับกษัตริย์ราชวงศ์จักรี ผสานกลืนเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

ความพิเศษประการสุดท้ายของภาพจิตกรรมชุดนี้ คือ เนื้อเรื่องตอนแรกสุดบริเวณมุมผนังอาคารที่มีการเขียนภาพเล่าเรื่องตอนพระสยามเทวาธิราชทูลอัญเชิญพระอิศวรให้แบ่งภาคลงมาเกิดเป็นพระนเรศวรบนโลกมนุษย์

แม้การอธิบายว่าพระนเรศวรคือพระอิศวรมาจุติจะไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมที่เชื่อเรื่องการอวตารของเทพลงมาเป็นกษัตริย์บนโลกมนุษย์

แต่ที่น่าสนใจคือ การที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เลือกที่จะให้พระสยามเทวาธิราชมาทำหน้าที่ทูลเชิญพระอิศวรลงมาเกิดต่างหาก

พระสยามเทวาธิราชคือเทพสมัยใหม่ที่ถูกคิดขึ้นโดยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเกิดจากแนวคิดของพระองค์ที่มองว่าประเทศสยามเคยมีเหตุที่จะต้องเสียอิสรภาพหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็รอดพ้นมาได้เสมอ ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งคุ้มครองไว้ และด้วยความเชื่อนี้ พระองค์จึงสั่งให้ปั้นเทพขึ้นมาองค์หนึ่งและตั้งชื่อให้ว่าพระสยามเทวาธิราช

ชื่อก็สื่อตรงตัวว่าเป็นเทวดาที่ปกปักรักษาเฉพาะประเทศสยาม ซึ่งเป็นแนวคิดสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลกทัศน์ที่เริ่มให้ความสำคัญแก่รูปแบบของรัฐและประเทศในแบบใหม่ที่ต่างออกไปจากรัฐแบบจารีตดั้งเดิม

ในรัฐจารีต เทพหรือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะปกปักรักษาผู้มีบุญและทำความดีโดยไม่แบ่งแยกรัฐหรือประเทศ เช่น พระแก้วมรกตพร้อมที่จะเดินทางไปทุกรัฐและทุกบ้านเมืองที่กษัตริย์มีบุญบารมีสูงและตั้งอยู่ในพระพุทธศาสนา แต่พระสยามเทวาธิราชจะปกปักรักษาเฉพาะคนสยามและประเทศสยามเท่านั้น

ดังนั้น การเลือกเขียนภาพพระสยามเทวาธิราชทูลเชิญพระอิศวรลงมาเกิดเป็นพระนเรศวรเพื่อปกป้องเอกราชของชาติไทย จึงสะท้อนให้เห็นถึงการผสานระหว่างแนวคิดแบบรัฐชาติสมัยใหม่กับความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติแบบโบราณเข้าด้วยกันอย่างน่าทึ่ง (เพราะแม้แต่หนังสือประวัติพระนเรศวรที่ถูกตีพิมพ์ภายหลังก็ยังไม่มีเรื่องเล่าชุดนี้ปรากฏอยู่)

อีกทั้งพระนเรศวรที่เป็นอวตารของพระอิศวรยังเป็นบรรพบุรุษสายตรงของราชวงศ์จักรีอีกด้วย

ยังไม่นับรวมถึงการเลือกภาพยุทธหัตถีให้มาเป็นฉากใหญ่บนฝาผนังด้านสกัดหน้าพระประธาน (ซึ่งตามขนบแบบจารีตผนังผืนนี้จะเขียนเรื่องมาญผจญ) อันเป็นการสื่อความหมายซ้อนทับกันระหว่าง การเอาชนะมารของพระพุทธเจ้าจนสุดท้ายได้ตรัสรู้ กับ ภารกิจรบชนะมาร (พม่า) ของพระนเรศวรจนสามารถรักษาเอกราชของชาติไทยไว้ได้

ทุกประเด็นที่กล่าวมา ล้วนร้อยรัดเชื่อมโยงผสานเป็นเนื้อเดียวกัน จนทำให้ภาพจิตรกรรมวัดสุวรรณดารารามที่เมืองเก่าอยุธยาชุดนี้มีความพิเศษและพลังทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ทั้งต่อประวัติศาสตร์อยุธยา ราชวงศ์จักรี และประเทศสยามในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่