วัดและพระ ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยโดยปริยาย | คำ ผกา

คำ ผกา

คำ ผกา | วัดและพระไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยโดยปริยาย

ได้อ่านข่าวพระตบหน้าเด็กเพียงเพราะโกรธที่เด็กสวดมนต์เสียงไม่ดังพอ แล้วคิดว่าสังคมไทยมีเรื่องให้กังวลในหลายระดับ

ตั้งแต่ระดับของการเมืองการปกครองที่อำนาจทางการเมือง สิทธิความเป็นเจ้าของประเทศยังไม่เป็นของประชาชน ระดับเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ปากท้อง

สุดท้ายระดับที่ฉันอยากจะเรียกว่าเป็นระดับซอฟต์เพาเวอร์ นั่นคือ ระดับวัฒนธรรม ความเชื่อที่ปลูกฝังกันมาอย่างผิดๆ เช่น ความเชื่อที่ว่า วัดเป็น “สถานที่ปลอดภัย” โดยปริยาย

และยังเชื่ออย่างผิดๆ ว่า “วัด” คือสถานที่ที่ทำให้คน “ไม่ดี” กลายเป็น “คนดี” ได้ เพียงเพราะมันเป็น “วัด”

เรื่องราวที่ปรากฏในข่าวสะท้อนความเข้าใจที่ผิดอย่างมหันต์ของระบบการศึกษาไทย และน่าตกใจที่สุดคือมันได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นมีความชอบธรรมเพราะกระทรวงศึกษาธิการของเราไป endorse หรือเป็นผู้สนับสนุนแวความคิดเสียเอง

เพราะเรื่องของเรื่องคือ โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี นำนักเรียน 29 คนไป “เข้าค่ายจริยธรรม” ที่วัด และเหตุที่นำนักเรียนไปเข้า “ค่าย” ก็เพราะนักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถูกหักคะแนนความประพฤติเนื่องจากมาโรงเรียนสาย

ฉันไม่แน่ใจว่าแค่มาโรงเรียนสายต้องถูกเข้าค่ายปรับพฤติกรรมเลยหรือ แต่ก็นั่นแหละ ความน่าโมโหข้อแรกคือ โรงเรียนไทยเป็นอะไรนักหนากับการมาโรงเรียนสายที่แปลว่าไม่ทันเข้าแถวเคารพธงชาติ?

เพราะสิ่งที่ควรจะเป็นคือ การเข้าแถวเคารพธงชาติและการร้องเพลงชาติหน้าเสาธงทุกวันๆ ควรจะเป็นสิ่งที่ถูกยกเลิกมากกว่า เพราะไม่มีความจำเป็น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ในโลกปัจจุบันที่ทั้งโลกเขาพูดกันเรื่องการเป็นพลเมืองโลก และแม้แต่ประเทศไทยเองก็มีนโยบายอยากให้คนต่างชาติมาลงทุน มาใช้จ่าย มาอยู่อาศัยในประเทศไทย อีกหลายประเทศในโลกก็ต้อนรับคนทุกชาติ ทุกภาษาที่มีความรู้ ความสามารถไปทำงาน ไปตั้งรกราก ไปลงทุนในประเทศของตนเองเช่นกัน สำนึกแห่งความ “รักชาติ” ในมิติของการเกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย นั้นเป็นสิ่งที่ตกยุคไปโดยสิ้นเชิง และไม่ควรถูกนำมาปลูกฝังล้างสมองเด็กอย่างผิดๆ อีกต่อไป

ความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับ “ชาติ” ไม่ได้สัมพันธ์กันบนพื้นฐานของความรักอย่างมืดบอด ปราศจากสติ ปัญญา และการตั้งคำถาม แต่ต้องสัมพันธ์บนฐานคิดที่ว่าประชาชนเป็นเจ้าของ “ชาติ” เมื่อเป็นเจ้าของก็ย่อมมี “สิทธิ” ในการบริหารจัดการ “ชาติ” ตามเจตจำนงของตน ถามว่า บริหารผ่านเจตจำนงอย่างไร ก็ผ่านการเลือก “ผู้แทนฯ” เลือกคนที่จะไปเป็นรัฐบาล และทั้งหมดนี้เราทุกคนเรียนเรื่องเหล่านี้ผ่านวิชา “หน้าที่พลเมือง” กันมาหมดแล้วทั้งสิ้นที่ว่า “สิทธิ” ที่เราเป็นเจ้าของประเทศ และ “หน้าที่” ของเราคือการเสียภาษีเพื่อ “บำรุง” ประเทศ และทั้งสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องจับคนมาเข้าแถวร้องเพลงชาติทุกวันเป็นพิธีกรรม

เป็นพิธีกรรมไม่พอ ยังล้างสมองว่า “ชาติ” เป็นสิ่งที่เราต้อง “รัก” อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ

ความผิดปกติข้อแรกของสังคมไทยที่เราเห็นจากข่าวนี้คือ เด็กไม่ควรถูกทำโทษเพราะไปโรงเรียนสายในความหมายของการไปไม่ทันเคารพธงชาติ

และสิ่งที่ควรเกิดขึ้นทดแทนกันคือ พิธีกรรมร้องเพลงเคารพธงชาติหน้าเสาธงควรถูกยกเลิก เพราะไม่มีประโยชน์ มีแต่ “โทษ”

เนื่องจากเป็นพิธีกรรมที่ไม่ส่งเสริมการสร้างสำนึกของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นเครื่องมือของการทำให้ระบอบอำนาจนิยมปรากฏอยู่ในสำนึกของเด็ก ลดทอนศักยภาพ ความคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นมนุษย์ของเยาวชน

ความผิดปกติข้อที่สอง สังคมไทยโดยทั่วไป และโดยพฤตินัย ไม่เข้าใจ ทำเป็นไม่เข้าใจเรื่อง “รัฐฆราวาส” หรือ secular state ประเทศไทยไม่ใช่รัฐศาสนา

คำว่า ไม่ใช่รัฐศาสนา แปลว่า เราจะใช้หลักคำสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่งในกิจการที่เกี่ยวกับ “รัฐ” ไม่ได้ เช่น ในโรงเรียนรัฐบาลจะไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนาโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะศาสนาไหน เพราะต้องคงความ “เป็นกลาง” โรงเรียนที่สามารถใช้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิธีกรรมหลักของโรงเรียน ทำได้แต่เพียงโรงเรียนเอกชนเท่านั้น และเป็นสิทธิของผู้ปกครองที่ตระหนักอยู่ก่อนแล้วว่าได้ส่งลูกเข้าโรงเรียนเอกชนที่เป็นโรงเรียน “คริสต์” “พุทธ” หรือ “อิสลาม” และหรืออื่นๆ

แต่สิ่งที่ผิดเพี้ยนคือ รัฐไทย โรงเรียนรัฐบาลไทย สังคมโดยรวม ทึกทักว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ คนไทยร้อยละเก้าสิบนับถือศาสนาพุทธ ดังนั้น จึงถูกต้องแล้วที่ในโรงเรียน สถานที่ราชการ จะประกอบพิธีทางพุทธ และทางสงฆ์เป็นหลัก เพราะถือว่าคนนับถือศาสนาอื่น เป็น “คนส่วนน้อย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดโดยหลักการ “รัฐฆราวาส”

แต่เราก็อยู่ในวิถีนี้จนมันกลายเป็นความ “ปกติ” กลายเป็น “ความถูกต้อง” หนักกว่านั้นกลายเป็นสิ่งที่ “ล่วงละเมิดมิได้” ไปเสียด้วยซ้ำ การตั้งคำถามต่อเรื่องนี้กลายเป็นความประหลาด นอกรีต กลายเป็นก้าวร้าว ไม่มีศีลธรรม เป็นคนชั่ว เป็นผู้ต่ำช้า เพราะในทาง “ซอฟต์เพาเวอร์” ทั้งละคร หนัง นวนิยาย นิตยสาร สายธารซอฟต์เพาเวอร์ไทยล้วนแต่ส่งผ่านภาพ “คนดี” ที่มาพร้อมกับการเป็นพุทธมามกะที่ดี ภาพการตื่นมาตักบาตรตอนเช้าด้วยความสงบนบนอบ เป็นองค์ประกอบสำคัญของการสื่อนัยแห่งการเป็น “คนไทย” ที่ถูกต้องดีงามเสมอมา

ดังนั้น แม้ในทางลายลักษณ์อักษรรัฐไทยถือเป็นรัฐฆราวาส แต่ในทางปฏิบัติ รัฐไทยเป็นรัฐศาสนา ทั้งการนำเอาพุทธศาสนามาเป็นศาสนาหลักในสถานที่ราชการ โรงเรียน การห้ามขายเหล้าในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และจนกระทั่งการเอานักเรียนไปบวชสามเณรภาคฤดูร้อนที่ผ่านการจัดการผ่านโรงเรียน เรื่องนี้ควรถูกทัดทาน ห้ามปรามไม่ให้เกิดขึ้น ในแง่ที่ว่า ถ้าพ่อแม่คนไหนอยากเอาลูกไปบวชเป็น “สิทธิส่วนบุคคล” ไม่มีใครห้าม

แต่ในนามของรัฐฆราวาส โรงเรียนรัฐบาลไม่มีสิทธิจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไรก็ตาม ยกเว้นเป็นโรงเรียนเอกชนที่ประกาศตัวว่า จะเป็นโรงเรียน “วิถีพุทธ”

ถ้าการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนไม่พึงเป็นกิจของโรงเรียน การจับเด็กไปเข้าค่ายจริยธรรมที่วัดก็ยิ่งผิดต่อหลักการรัฐฆราวาสอย่างมหันต์ ผิดชนิดที่กระทรวงศึกษาธิการควรออกกฎได้ว่า ห้ามโรงเรียนเอาเด็กไปทำกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับศาสนาโดยการบังคับ

และหากใครได้อ่านข่าวจะพบกว่า ภิกษุรูปที่ตบหน้าเด็กบอกว่า “โดนฉันตบเนี่ยได้บุญ” พร้อมทั้งยอมรับว่า ตบเด็กจริง ตบแรงด้วย และในอนาคตก็อาจจะตบอีก เพราะเด็กไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามคำสั่ง และพร้อมจะจ่ายเงินทำขวัญเด็กสองหมื่นบาท

ฉันถามว่า คนที่มีทัศนคติแบบนี้หรือที่มีสิทธิในการดูแลเยาวชน?????

โรงเรียน และกระทรวงศึกษาฯ ควรคิดได้เองว่า เหตุที่เราต้องมีโรงเรียน เหตุที่เราต้องมีกระทรวงศึกษาฯ เพราะเรารู้ว่าการให้การ “ศึกษา” มนุษย์นั้น ต้องได้รับการเรียน การฝึกฝน และมันเป็น “วิชาชีพ” อันจำเพาะเจาะจง ครู และนักการศึกษาต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนทางจิตวิทยาเด็ก รู้เรื่องพัฒนาการเด็ก รู้วิธีสอนให้เด็กมีวินัย รู้เรื่องการส่งเสริมศักยภาพของเด็กเรื่องการเรียนรู้ รู้เทคนิคการสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และคิดเป็น – พระและวัด ไม่ได้เป็นผู้รู้ ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้จบมาทางศึกษาศาสตร์ ไม่ได้เรียนจิตวิทยา

ดังนั้น เราไม่ควรผลักภาระที่ควรเป็นของครู ของโรงเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการไปให้วัด!!!!!

ฉันจะไม่บอกว่า พระทำผิดหรือทำถูก เพราะฉันคิดว่า วัดจะดีไม่ดี พระจะดีไม่ดี ไม่ใช่กิจของฉันในฐานะประชาชนเหมือนกัน

เรื่องความดีความถูกต้องพฤติกรรมของพระสงฆ์ ฉันก็จะปล่อยให้ญาติโยมอุปัฏฐากเขาคิดเองเลือกเอง รสนิยมใครก็รสนิยมใคร เราจะไม่ยุ่งกัน แต่คนที่ผิดแน่ๆ คือโรงเรียนที่ส่งเด็กไปให้วัดและพระดูแล เพราะนั่นไม่ใช่กิจของสงฆ์เลยแม้แต่น้อย

มันเป็นกิจ เป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบของโรงเรียนที่ต้องให้การศึกษาเด็ก ฝึกวินัยเด็กตามวิชาชีพที่ตนเองได้ร่ำเรียนมา ถ้าไม่มีปัญญาทำก็ลาออกไปให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำ

และในฐานะที่เป็นผู้บริหารโรงเรียน เป็นถึงครูบาอาจารย์ ร่ำเรียนมาทางวิชาชีพนี้ สิ่งแรกที่พึงรู้คือสิ่งที่ฉันเขียนไปในย่อหน้าแรกคือ วัดไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยโดยปริยาย

พระไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะเสกเด็กดื้อเป็นเด็กดี

ตรงกันข้าม พระและวัดเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการเมือง ผลประโยชน์ มีวัฒนธรรมองค์กรอันจำเพาะเจาะจงเป็นของตนเอง เป็นกิเลส ตัณหา เงินตรา อำนาจ โทสะ โมหะ ครบถ้วนอยู่ในนั้นทุกประการ

ถ้าเรื่องแค่นี้ ครูไม่รู้ ผู้บริหารโรงเรียนไม่มีปัญญาจะรู้ ก็ไม่สมควรจะเป็นหรืออยู่ในอาชีพ “นักการศึกษา”

ที่สำคัญสิ่งที่กระทรวงศึกษาฯ ต้องทำต้องตระหนักก่อนใครคือ วัดกับโรงเรียน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเอาไว้คู่กัน ในมิติของโลกสมัยใหม่และการศึกษาสมัยใหม่ ถ้าอยากคู่กันให้ไปตั้งโรงเรียนใหม่เป็นโรงเรียนเอกชนวิถีพุทธ

และคนไทย พ่อแม่ชาวไทยก็ต้องรู้ว่า ถ้าอยากให้ลูกมีพฤติกรรมดีขึ้นควรไปหาจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา ไม่ใช่พาไปวัด