ทำนาภาคเหนือมีก่อนภาคกลาง นับเดือนภาคเหนือเร็วกว่าภาคกลาง

ฝนตกทางโซเมียตอนบนก่อนตอนล่าง ส่งผลให้ชาวบ้านทำนาและเกี่ยวข้าวทาง โซเมียตอนบนมีก่อนตอนล่าง

ภาคเหนือของไทยอยู่โซเมียตอนบน ได้ฝนทำนาก่อนภาคกลางซึ่งอยู่โซเมียตอนล่าง

เมื่อได้ฝนทำนาก่อน ดังนั้น ภาคเหนือจึงเกี่ยวข้าวก่อนภาคกลาง

เกี่ยวข้าว หมายถึงได้ผลผลิตใหม่เป็นข้าวเปลือกเอาไว้ทำข้าวสารหุงกินตลอดปี บรรดาชุมชนคนทั้งหลายพร้อมใจกันยกเป็นเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ เรียกตามคำพื้นเมืองว่า “เดือนอ้าย” (ทางจันทรคติ) แปลว่าเดือนที่หนึ่ง ซึ่งตรงกับ “ปีใหม่” ทุกวันนี้

หลังจากนั้นภาคกลางจึงเริ่มเกี่ยวข้าว แล้วเริ่มนับเดือนอ้ายหลังภาคเหนือ โดยเฉลี่ยแล้วภาคเหนือเริ่มนับเดือนอ้ายก่อนภาคกลางราว 2 เดือน

 

ลมฝนพัดเข้าภาคเหนือ

ภาคเหนือทำนาก่อนภาคกลาง เพราะลมพัดพาเมฆฝนไปทางภาคเหนือก่อน ดังนั้นฝนตกภาคเหนือก่อนภาคกลาง

ลมฝนชุดแรกถึงภาคเหนือราวพฤษภาคม-มิถุนายน หมายถึงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดจากทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ขึ้นไปทางพม่าแล้วเข้าไทยทางภาคเหนือ

นอกจากนั้น ยังมีลมพายุ, ลมไต้ฝุ่น, ดีเปรสชั่น ฯลฯ จากทะเลจีน มหาสมุทรแปซิฟิก พัดเมฆฝนเข้าทางตะวันออกของโซเมียถึงภาคเหนือของไทย

ตารางแสดงการนับเดือนทางจันทรคติในภาคกลาง ล้านนา และไทลื้อ [ถ่ายแบบจากวิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาเชิงวิเคราะห์คัมภีร์สุริยยาตรฉบับภาคกลาง ฉบับล้านนา และฉบับไทลื้อ โดยยุทธพร นาคสุข บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2548]

ลอยกระทง

เดือน 12 ทางจันทรคติของภาคกลาง ประมาณพฤศจิกายน (ปฏิทินสากล) แต่ภาคเหนือเป็นเดือนยี่ (เดือนที่ 2)

เดือนอ้าย (เดือนที่ 1) ทางจันทรคติของภาคกลาง ประมาณธันวาคม (ปฏิทินสากล) แต่ภาคเหนือเป็นเดือนสาม

“ลอยกระทง วันเพ็ญเดือน 12” ของกรุงเทพฯ และภาคกลาง ราวพฤศจิกายน แต่ทางเหนือเรียก “ยี่เป็ง” หมายถึง “วันเพ็ญเดือน 2” เป็นหลักฐานว่าเทศกาลชื่อ “ลอยกระทง” ไม่ใช่ประเพณีดั้งเดิมของภาคเหนือ แต่เป็นประเพณีรับจากภาคกลางโดยเฉพาะรับจากกรุงเทพฯ หลังแผ่นดิน ร.3

แผนที่โซเมียแสดงบริเวณที่สูงแห่งเอเชียและพื้นที่โดยรวมทางใต้ของจีน อันเป็นหลักแหล่งของคนพื้นเมืองที่ “ไม่จีนไม่ฮั่น” โดยมีบรรพชนคนพูดภาษาไทยรวมอยู่ด้วย (ปรับปรุงจากต้นแบบตามคําแนะนําของนิธิ เอียวศรีวงศ์ อยู่ในเอกสารประกอบบรรยายรายการทอดน่องท่องเที่ยว ของมติชนทีวี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563)

โซเมีย มาจากไหน?

โซเมีย (Zomia) หมายถึง “ที่สูงแห่งเอเชีย” เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มิทิวเขาสลับซับซ้อนกลางทวีปเอเชียค่อนลงทางใต้ จากเวียดนามไปทางตะวันตก (และย้อยลงไปในกัมพูชา) จนถึงด้านตะวันออกของอินเดีย รวมรัฐเล็กรัฐน้อยในเทือกเขาหิมาลัย มีพื้นที่มากกว่า 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร ความสูงประมาณ 300 เมตร ขึ้นไปเหนือระดับน้ำทะเล

[กรณีกล่าวถึงผู้คนบน “ที่สูงแห่งเอเชีย” นี้ มักไม่นับรวมเสฉวน ซึ่งถูกผนวกเข้าไปในจักรวรรดิจีนมานานแล้ว และไม่รวมรัฐในเทือกเขาหิมาลัย เพราะไม่มีประวัติสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คนบนโซเมียอื่นๆ]

บริเวณโซเมียมีที่ราบในหุบเขากระจายอยู่ทั่วไปทั้งขนาดใหญ่และน้อยอันเป็นที่ตั้งของชุมชนเมือง ซึ่งบางแห่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่อื่น บางแห่งเป็นอิสระในตัวเอง บางแห่งแม้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติกลับมีอิสระปกครองและดําเนินความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยตนเอง

ลักษณะภูมิประเทศของโซเมียเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน ทําให้การเดินทางระหว่างหุบเขาเป็นไปได้ยาก

ส่วนเส้นทางน้ำหลายสายซึ่งมีแหล่งกําเนิดบนโซเมีย ได้แก่ พรหมบุตร, อิรวดี, สาละวิน, โขง, เจ้าพระยา, น้ำดํา-น้ำแดง ก็ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมไม่ดีนัก เพราะเขตต้นน้ำมีเกาะแก่งมาก หรือน้ำไหลเชี่ยวจนเกินกว่าจะใช้เดินเรือ

“ที่สูงแห่งเอเชีย” ซึ่งวิลเลม ฟาน สเคนเดิล (Willem Van Schendle) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) สมมุติชื่อเรียกโซเมีย-Zomia มาจากตระกูลภาษาทิเบต-พม่าว่า Zomi แปลว่า ประชากรบนที่สูง

[สรุปจากคําอธิบายหลายเวลาและสถานที่ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้แก่ จากหนังสือ ความไม่ไทยของคนไทย (พ.ศ.2559), จากเอกสารประกอบรายการ ทอดน่องท่องเที่ยว ของมติชน (พ.ศ.2563), จากคํานําเสนอในหนังสือ กาดก่อเมือง (พ.ศ.2564)] •