ค่าไฟแพงขึ้นจริงมั้ย? เกิดอะไรขึ้นกับค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นกันแน่

ไฟฟ้านับเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล โดยธาลีส (Thales) นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีก เมื่อนำแท่งอำพันถูกับขนสัตว์เกิดไฟฟ้าสถิตสามารถดูดเส้นผมได้

หลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์หลายท่านค้นพบคุณสมบัติของไฟฟ้า เช่น ค.ศ.1752 Benjamin Franklin แสดงให้เห็นว่าสายฟ้าเป็นไฟฟ้ารูปแบบหนึ่ง

ค.ศ.1820 AAndré-Marie Ampère ค้นพบกฎของแอมแปร์ (Ampere’s Law) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเหล็กที่เกิดกับกระแสไฟฟ้า ต่อมาจึงตั้งชื่อหน่วยของกระแสไฟฟ้าว่า “แอมแปร์” ตามชื่อของเขา

ค.ศ.1827 Georg Ohm ค้นพบความต้านทานไฟฟ้า

ค.ศ.1831 Michael Faraday ค้นพบกฎการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า

จนกระทั่ง ค.ศ.1888 Nikola Tesla ได้รับสิทธิบัตรมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับและมีส่วนร่วมในการออกแบบระบบจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับโลกยุคใหม่จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน (รถยนต์ไฟฟ้าตั้งชื่อยี่ห้อตามชื่อของบุรุษผู้นี้)

ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจการแข่งขันระหว่างระบบจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับของ Tesla กับระบบจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงของ Thomas Alva Edison สามารถติดตามรับชมจากภาพยนตร์ เรื่อง The Current War (ฉายเมื่อปี 2019) ผู้เขียนรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว อินมากๆ ขอไม่สปอยครับ ต้องติดตามรับชมกันเอง

สําหรับประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรก พ.ศ.2427 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เมื่อครั้งดำรงบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ท่านได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เดินสายไฟฟ้า และติดดวงโคมไฟฟ้า ที่กรมทหารม้า ซึ่งเป็นที่ตั้งกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน

ไฟฟ้าเคยเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยส่งผลให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงในปัจจุบัน เพราะรัฐบาลต้องการให้ประชาชนเข้าถึงสื่อของรัฐทั้งวิทยุและโทรทัศน์ จึงเร่งขยายโครงข่ายไฟฟ้าให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานซึ่งประกอบไปด้วยกิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน มีการจัดตั้งกระทรวงพลังงานเพื่อรวมส่วนงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน

อย่างไรก็ดี เหนือขึ้นไปจากทั้งสองหน่วยงาน มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับมอบหมาย 1 ท่านเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรี 12 ท่านเป็นกรรมการ ทำหน้าที่เสนอนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน

สั้นๆ คือ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศ รวมถึงนโยบายไฟฟ้าด้วย

เสาไฟกินรี ที่ อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ

ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ค่าไฟฟ้าฐาน 2.ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เรียกย่อว่า ค่า Ft และ 3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft เริ่มใช้ครั้งแรกเดือนกันยายน 2535 ต่อมาในปี 2548 มีการปรับสูตรค่า Ft ให้คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าเท่านั้นเพื่อความโปร่งใส และมีการปรับปรุงค่า Ft ทุกๆ 4 เดือน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

เมื่อกันยายน 2535 ค่า Ft เริ่มต้นที่ 6.17 สตางค์/หน่วยการใช้ไฟฟ้า ซึ่งค่า Ft นี้สามารถเป็นบวกหรือเป็นลบได้ ในอดีตเคยสูงสุดที่ 92.55 สตางค์/หน่วย (มกราคม 2552-ธันวาคม 2553) และมีค่าต่ำสุดอยู่ที่ -37.29 สตางค์/หน่วย (มกราคม-เมษายน 2560)

ค่า Ft เฉลี่ยย้อนหลัง ตั้งแต่ 2560 ถึงปัจจุบัน เป็นดังนี้
ปี 2565 (มกราคม-สิงหาคม) 13.08 สตางค์/หน่วย
ปี 2564 -15.32 สตางค์/หน่วย
ปี 2563 -11.88 สตางค์/หน่วย
ปี 2562 -11.60 สตางค์/หน่วย
ปี 2561 -15.90 สตางค์/หน่วย
ปี 2560 -25.99 สตางค์/หน่วย

ล่าสุดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ค่า Ft ปรับขึ้นเป็น 93.43 สตางค์/หน่วย จากเดิม 24.77 สตางค์/หน่วย ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ทำลายสถิติเก่าในช่วง มกราคม 2552-ธันวาคม 2553

ค่า Ft มกราคม-เมษายน อยู่ที่ 1.39 สตางค์/หน่วย
ค่า Ft พฤษภาคม-สิงหาคม อยู่ที่ 24.77 สตางค์/หน่วย
ล่าสุด ค่า Ft กันยายน-ธันวาคม ขึ้นมาเป็น 93.43 สตางค์/หน่วย

ด้วยความสงสัยอย่างยิ่ง ผู้เขียนจึงอ่านเอกสารเผยแพร่ เรื่อง ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 จากเว็บไซต์ของ กกพ. ซึ่งมีกล่าวไว้ในการประชุมครั้งที่ 12/2565 (ครั้งที่ 779) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ว่าจริงๆ แล้วค่า Ft ต้องอยู่ที่ 129.91 สตางค์/หน่วย ตั้งแต่งวดพฤษภาคม-สิงหาคมแล้ว แต่เดชะบุญของคนไทย กกพ. เห็นว่าควรเรียกเก็บเพียง 24.77 สตางค์/หน่วย เพื่อลดผลประทบต่อประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อ่านถึงตรงนี้ผู้เขียนงงเข้าไปใหญ่ ค่า Ft จาก 1.39 สตางค์/หน่วย จะปรับขึ้นเป็น 129.91 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้น 128.52 สตางค์/หน่วย หรือ +9,246.04% หรือ 92.46 เท่า แต่ราคาพลังงานเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นตามประมาณการ เพียงประมาณ 15% ดังนี้

ราคาก๊าซธรรมชาติทุกแหล่ง (รวมค่าผ่านท่อ) ปรับเพิ่มขึ้น 12.19%
ราคาน้ำมันเตา ปรับเพิ่มขึ้น 4.84%
ราคาน้ำมันดีเซล รวมโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และ IPPs ปรับเพิ่มขึ้น 16.37%
ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ย (IPPs) ปรับเพิ่มขึ้น 27.84%

เกิดอะไรขึ้นกับค่า Ft กันแน่?

จริงๆ แล้วที่เราเห็นข่าวในโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมา เป็นการพาดหัวเรียกกระแสเหมือนที่ผู้เขียนทำ เพราะอย่างที่กล่าวถึงตอนต้นของบทความว่าจริงๆ แล้วค่าไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน การพิจารณาจากค่า Ft ที่ปรับตัวสูงขึ้นเพียงค่าเดียวแล้วสรุปว่าค่าไฟแพงนั้นเห็นจะไม่ถูกต้อง ต้องพิจารณาราคารวมว่าปรับขึ้นในอัตราร้อยละเท่าใดจะถูกต้องกว่า

หากเราเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1 บ้านอยู่อาศัย ใช้ไฟฟ้า 150 หน่วย/เดือน ในเดือนมกราคม เราจะต้องเสียค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 564.50 บาท แต่เดือนกันยายน ใช้ไฟฟ้าเท่าเดิมจะต้องเสียค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 712.22 บาท หรือเพิ่มขึ้น 26.17%

ค่าไฟที่เพิ่มขึ้น 26.17% มากกว่าราคาพลังงานเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องถือว่าค่าไฟฟ้าแพงจริง ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการบิดเบือนราคาไฟฟ้าในช่วงพฤษภาคม-สิงหาคมที่ผ่านมาที่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง พอขาดดุลเข้ามากๆ ครั้งจะตั้งงบประมาณมาชดเชยสภาผู้แทนราษฎรคงไม่ผ่านวาระให้ง่ายๆ เลยทบต้นกลับเข้าไปอย่างที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็มาเจอปัญหาค่าครองชีพแพง ปัญหาต้นทุนการผลิตแพงเสียอีก คงเป็นคราวเคราะห์ของประชาชนผู้ใช้ไฟทุกคน

การบิดเบือนกลไกตลาดในเรื่องค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ ยังส่งผลกระทบขนาดนี้ หากบิดเบือนกลไกตลาดของค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นเป็น 35 บาทอย่างที่ท่านรักษาการนายกรัฐมนตรีให้นโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ ซึ่งสวนทางกับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยขนาดไหน