เปิดหู | สงครามกลางเมือง กลิ่นดินปืน คาวเลือด และเสียงดนตรี

อัษฎา อาทรไผท

ย้อนกลับไปช่วงปี .. 1861-1865 สมัยที่แผ่นดินอเมริกาลุกเป็นไฟ เนื่องจากศึกสงครามระหว่างอเมริกันชนสองฝ่าย ได้แก่ฝ่ายเหนือ United States นำโดยประธานาธิปดี อับลาฮัม ลินคอล์น และฝ่ายใต้ Confederate นำโดย เจฟเฟอร์สัน เดวิส โดยมีสาเหตุมาจากความไม่เห้นพ้องต้องกันเรื่องขอบเขตการค้า และการมีอยู่ของทาส เป็นเหตุให้ชาวอเมเริกาต้องมาเข่นฆ่ากันเอง มีผู้คนล้มตาย ทั้งพลเรือน ทาส และทหาร รวมกันกว่า 1 ล้านชีวิต

ในศึกสงครามครั้งนี้ ดนตรีถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างใหญ่หลวง สำคัญถึงขนาดทุกกองร้อย หรือแม้กระทั่งหน่วยที่เล็กกว่านั้น มีการกำหนดให้มีพลดนตรีประจำอยู่ทั้งหมด โดยมีขนาดเล็กใหญ่ตามขนาดของหน่วยนั้น

เครื่องดนตรีหลัก ที่จำเป็นต้องมีคือแตรเดี่ยว (Bugle) ที่ใช้เป่าส่งสัญญาณตั้งแต่ปลุกให้เหล่าทหารตื่นนอน ตามทานข้าว ไปจนถึงเรียกให้ทุกคนเข้านอน และในสมรภูมิพลแตรเดี่ยว จะอยู่เคียงข้างผู้บังคับบัญชา คอยเป่าส่งสัญญาณ (bugle call) ให้ทหารกล้าระวังภัย บุกเข้าทำลาย หรือถอยทัพ อีกด้วย โดยจะมีการเป่าทั้งหมดอย่างต่ำ 49 แบบ สำหรับหลากหลายคำสั่งการ

เครื่องดนตรีที่มีความสำคัญรองลงมาจากแตรเดี่ยวคือกลองแต๊ก (snare drums) เป็นหน้าที่ของทหารเด็ก ตัวเล็ก เพราะเขาให้ผู้ใหญ่ตัวโตไปออกรบกันหมด มือกลองจะมีบทบาทอย่างมากในการให้จังหวะการเดินของทหารพร้อมเพรียงกัน และยังช่วยเร้าอารมณ์ได้เป็นอย่างดีในช่วงทำศึกสงคราม มือกลอง

อีกเครื่องดนตรีหนึ่ง ที่อาจจะไม่ได้มีประจำอยุ่ในทุกหน่วยคือขลุ่ยเล็ก (Fifer) ที่จะมาเสริมความไพเราะเมื่อเป่าเคล้ากับเสียงกลอง

ว่ากันว่าในคืนวันก่อนศึกในหลาย สมรภูมิเลือด เมื่อกองทัพของฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้มาตั้งค่ายอยู่ไม่ไกลจากกันนัก ชนิดที่วันรุ่งขึ้นจะได้ฤกษ์ปะทะกัน วงดนตรีของแต่ละฝ่าย จะบรรเลงเพลงเอกของแต่ละฝ่ายโต้ตอบกันไปทั้งคืน และมีอยู่หลายครั้งที่ทั้งสองฝ่ายลงเอยมาเล่นเพลง Home Sweet Home เป็นเพลงสุดท้ายร่วมกันอย่างอบอุ่น ก่อนจะตื่นมาเข่นฆ่ากันต่อไป!

ในระหว่างการทำสงคราม เขาก็ประโคมเพลงกันไปด้วย เพื่อสร้างความฮึกเหิมให้ทหาร ซึ่งผมคิดว่ามันมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะยุคนั้นกว่าจะยิงได้แต่ละนัด ขั้นตอนช่างยาวนาน ถ้าไม่มีดนตรีคลอ อาจจะจิตใจเตลิดได้ง่าย ครับ

ลองจินตนาการบรรยากาศเมื่อครั้งนั้น เหล่าทหารจำนวนนับไม่ถ้วน มือถือปืนยาวไรเฟิลติดใบมีดที่ปลายลำกล้อง พร้อมออกรบ เมื่อได้ยินเสียงแตรเป็นคำสั่งเตรียมเข้าปะทะกองทัพศัตรู เหล่าทหารนำปืนไรเฟิลตั้งบนพื้น หันกระบอกขึ้นฟ้า จากนั้นควักดินปืนและลูกกระสุนออกมาจากกระเป๋าสะพายหลัง พวกเขาค่อย บรรจงเทดินปืนลงไปในลำกล้อง ตามด้วยหย่อนลูกกระสุนลงไป จากนั้นใช้ไม้กระทุ้งดินปืนอัดเข้าไปในลำกล้อง นำไม้ออกมาเก็บที่ ติดตั้งแก๊ป แล้วจึงเหนี่ยวไกปืนยิงกระสุนออกไป ใครทำสำเร็จก็ได้ยิง ทำไม่ทันก็คงโดนสอยเสียก่อน

ส่วนเกร็ดน่าสนใจของการบรรเลงเพลงท่ามกลางสมรภูมที่มีบันทึกไว้ และน่าสนใจมีตัวอย่างเช่น ในขณะที่ทหารฝ่ายเหนือกำลังสู้รบกับฝ่ายใต้อยู่ สมรภูมิ Williamsburg ผู้บังคับบัญชาฝ่ายเหนือมองเห็นมีนักดนตรีพ่วงอยู่แถวหลัง ของกองร้อย จึงสั่งให้เล่นเพลงอะไรก็ได้ เพื่อปลุกใจทหารแถวหน้า เมื่อเพลงบรรเลงขึ้น จากที่ดูเหมือนไม่มีฝ่ายไหนเป็นต่อ ฝ่ายเหนือรู้สึกเสมือนมีพลรบเพิ่มอีกสักพันนาย แล้วสามารถต้อนฝ่ายใต้จนพ่ายแพ้ถอยทัพหนีไปในที่สุด

จะว่าไปแล้วดนตรีก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการสร้างขวัญและกำลังใจให้เหล่าทหาร หากสมรภูมิเงียบงัน ทุกคนคงมีความเครียด บางทีอาจจะกลัวตายด้วยซ้ำไป แต่เมื่อมีเพลงคอยปลุกใจ มีเพลงให้ร้องสร้างพลัง สร้างความกล้าไปด้วย ในชั่ววินาทีนั้นความตายอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป

หากสงสัยว่าเหล่าทหารกล้าแห่งสงครามกลางเมืองอเมริกาเขาฟังเพลงแบบไหนกันระหว่างทำศึกสงคราม ผมขอแนะนำให้ลองฟัง “Battle Cry of Freedom” และ “ The Battle Hymn of the Republic” ของฝ่ายเหนือ จากนั้นลองฟัง “Dixie” และ “God Save the South” ของฝ่ายใต้ดู จะพบว่าเพลงทั้งหมด ไม่ได้แตกต่างกันเลย ฟังแล้วก็เหมือนเพลงสไตล์เดียวกันโดยชนชาติเดียวกัน น่าเศร้านักที่ครั้งนั้นพวกเขามาเข่นฆ่ากันเสียเอง ท่ามกลางเพลงอันไพเราะแบบนี้