‘ปริญญา’ ชี้ปม คดีแสงเดือนฯ ‘คนอยู่มาก่อนต้องได้สิทธิ’ กังขา จะเอาเข้าคุกให้ได้?

‘ปริญญา’ คาใจ จะเอาเข้าคุกให้ได้? ชี้ปม คดีแสงเดือนฯ ‘คนอยู่มาก่อนต้องได้สิทธิ’ อย่าดูแค่แผนที่แล้วตีเส้น

 

สืบเนื่องกรณี นางแสงเดือน ตินยอด ผู้ถูกทวงคืนผืนป่า วัย 55 ปี จากชุมชนบ้านแม่กวัก อ.งาว จ.ลำปาง ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายอภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่องค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 12 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อขอความช่วยเหลือโดยด่วน ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันที่ 28 กันยายนนี้นั้น

วันที่ 21 กันยายน เวลา 08.00 น. ที่ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ภาคีsaveบางกลอย และเครือข่าย จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “คดีทวงคืนผืนป่ากรณีแสงเดือน กับกระบวนการยุติธรรมไทย”

บรรยากาศ เวลา 09.00 น. ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดและนำการเสวนาในหัวข้อ “นโยบายทวงคืนผืนป่ากับกระบวนการยุติธรรมไทย”

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ปัญหาเรื่องป่าไม้ที่ดิน เป็นปัญหาเรื้อรังในประเทศไทยมานาน เป็นเรื่องของการประกาศพื้นที่เป็นเขตป่าสงวนบ้าง เขตอุทยานแห่งชาติบ้าง เขตอนุรักษ์ในชื่อต่างๆ บ้าง โดยที่ไม่ได้ดูว่าตรงนั้นมีประชาชนอยู่มาก่อนหรือไม่ เป็นการประกาศพื้นที่โดยอาศัยแค่แผนที่ และตีเส้น แล้วประกาศเป็นกฎกระทรวงออกมาว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่อนุรักษ์ หรือแผนที่อุทยานแห่งชาติ

“ผลคือ ไม่ใช่เรื่องของคนบุกรุกป่า แต่ป่าต่างหากที่ไปบุกรุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนบุกรุกอุทยาน แต่เป็นอุทยานแห่งชาติต่างหากที่บุกรุกคน การเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทยก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะพื้นที่ป่าของเราในปัจจุบันจากตัวเลขของ กรมป่าไม้ คือ 31% ของพื้นที่ ซึ่งก็ถือว่าน้อยเกินไป การที่จะมาทวงคืนผืนป่าก็ฟังดูมีประโยชน์ แต่ต้องไม่ไปทวงคืนผืนป่ากับคนที่เขาอยู่มาก่อนจะเป็นป่า

ดังนั้น เรื่องนี้ทางการต้องแยกแยะระหว่างคนที่อยู่มาก่อน กับคนที่มาทีหลัง ซึ่งเรื่องนี้หลักฐานข้อเท็จจริงดูได้จากภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังได้หมด ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติ (พรบ.) ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 การประกาศเขตต่างๆ ซึ่งทยอยประกาศตั้งแต่ปี 2523-2524 นั้น มีแผนที่ดูได้ทั้งหมดว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่าแล้ว แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่รอบๆ เป็นป่า แต่เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอยูมาก่อน ดังนั้น ถ้าเป็นเรื่องของคนที่อยู่มาก่อน ก็ต้องใช้คอนเซ็ปต์ของคนกับป่าต้องอยู่ร่วมกัน โดยสิ่งที่ควรจะทำคือทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านกับป่าอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งปกติทั่วไปก็เป็นเช่นนั้น ทั้งเรื่องของที่ดินทำกินและเรื่องของป่าชุมชน” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อว่า สิ่งที่เราจัดกิจกรรมในวันนี้จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้คนนับล้านคน ถ้าหากประชาชนพิสูจน์ทราบได้ว่า เขาอยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่ให้เป็นเขตป่า หรือเป็นทายาทที่รับสืบทอดมา ก็ต้องถือว่าเขาอยู่มาก่อนป่า ก็ต้องปฏิบัติกับเขาในแบบหนึ่ง ถ้าหากคนที่มาทีหลังหรือแม้กระทั่งได้มาจากคนที่อยู่มาก่อน แต่เป็นการได้มาแบบไปซื้อมา ไม่ใช่เรื่องของการเป็นทายาทที่ทำกินสืบทอดมา การปฏิบัติอีกแบบหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำได้

ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า เรื่องนี้มี 2 ประเด็น คือเรื่องที่ทำกินและเรื่องอาญา ตนคิดว่าเรื่องอาญาต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก และคิดว่ามติ ครม.หรือประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นตัวที่น่าจะช่วยเราบอกได้ว่า จริงๆ ชาวบ้านมีการผ่อนผัน ผ่อนปรน จะถือว่ามีเจตนาไม่ได้

ส่วนประเด็นเรื่องที่ดินทำกินทำอย่างไร แนวทางปฏิบัติตนคิดว่าทางภาครัฐหากเป็นฝ่ายบริหารนั้นตนเห็นต่าง จริงๆ ศาลชั้นต้นพิพากษาไปแล้ว ถ้าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ไปอุทธรณ์ ก็จบ จะอุทธรณ์ทำไมในเมื่อแนวทางดีอยู่แล้ว

ใจคอจะเอาคนเข้าคุกให้ได้หรือ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติจะช่วยอะไรได้บ้าง ตนคิดว่าในส่วนของเครือข่าย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ก็คงพยายามผลักดันเรื่องนี้กับฝ่ายนิติบัญญัติในแง่ของข้อกฎหมาย

“วันนี้จึงจะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก ที่เราจะได้มีการพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ให้เรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณแสงเดือนไม่เกิดอีก หรือว่าให้มีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป เรื่องคดีอาญา อย่าไปเน้นที่การเอาประชาชนเข้าคุกเลย และรวมถึงการไปเรียกค่าปรับในราคาซึ่งไม่มีชาวบ้านที่ไหนจะมีปัญญาจ่ายได้หรอก 400,000 บาท ไม่ทราบว่ามีเจตนาอะไร ถ้าปรับต้องเหมาะสมกับรายได้ด้วย นี่เป็นข้อที่ผมคิดว่าในเรื่องคดีก็อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องที่ทำกินก็เรื่องหนึ่ง ก็ต้องแก้ไขกันโดยที่ต้องเน้นที่ว่าถ้าใครอยู่มาก่อน ส่วนในการแก้ปัญหาคนไม่มีที่ทำกินที่ไม่ได้อยู่มาก่อน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนที่อยู่มาก่อนเราต้องให้เขาได้สิทธิในที่ทำกิน” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ทั้งนี้ เวลา 13.00 น. ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) จะไปยื่นหนังสือ ถึงประธานศาลฎีกา ที่สำนักงานศาลฎีกา สนามหลวง และคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร