เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง อารมณ์ความรู้สึกปัจเจกนิยม / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง

อารมณ์ความรู้สึกปัจเจกนิยม

 

“เห่เรือ” ที่พบในเพลงยาวเล่าเรื่องเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาฯ ควรหมายถึงวรรณกรรมกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) จึงไม่ควรหมายถึงร้องเห่เรือในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

เพลงยาวเล่าเรื่องเสียกรุง 2310

เพลงยาวเล่าเรื่องเสียกรุงศรีอยุธยาฯ (ไม่ระบุนามผู้แต่งว่าหญิงหรือชาย) เริ่มด้วยรำพึงรำพันการพลัดพรากจากความสุขสบายกลายเป็นตกยากลำบากวิบัติขัดสน แล้วย้อนเล่าว่าก่อนเสียงกรุงเคยมีสุขสำราญสนุกสนานทั้งกายใจท่ามกลางนางอนงค์วงหน้างามดังดวงจันทร์ นอกจากนั้นยังเคยเอนอิงพิงหมอนเสพกาพย์กลอนอย่างมีความสุขด้วยการอ่านเองหรือมีคนอ่านให้ฟัง (แบบทำนองเสนาะ) กระบวนโคลง, ฉันท์, เพลงยาว และเห่เรือ ซึ่งมีกลอนพรรณนา ดังนี้

เคยเอนอิงพิงเขนยดำริสาร เคยสำราญกานท์กลอนกระเษมสันต์

เคยร่ายครวญกระบวนโคลงโอดพัน เคยพากย์ฉันท์เพลงยาวทั้งเห่เรือ

[เพลงยาวเล่าเรื่องเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จากสมุดไทยเลขที่ 20 หมวดวรรณคดี หมู่กลอนเพลงยาว-สังวาส หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ อ้างในบทความเรื่อง “เพลงยาวชาวกรุงเก่า : คำบอกเล่า ‘ความหลัง’ เมื่อครั้งเสียกรุง” ของธนโชติ เกียรติณภัทร (คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) พิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2565 หน้า 54-86]

กลอนเพลงยาวฯ ที่ยกมาได้แสดงตัวตนคนแต่งเป็นผู้ดีมีตระกูลใกล้ชิดราชสำนักอยุธยาสมัยก่อนเสียกรุง แล้วอวดรสนิยมส่วนตัวแบบผู้ดีว่าโปรดปรานอ่านเองหรือฟังคนอื่นอ่านออกเสียงแบบทำนองเสนาะในร้อยกรองประเภทกาพย์กลอนโคลงฉันท์ โดยเฉพาะเห่เรือ ข้อความกลอนเพลงยาวตอนนี้ไม่ใช่คนแต่งไปพากย์โขนหรือร้องทำนองโอดพัน

 

รสนิยมผู้ดีกรุงศรีอยุธยา

ชนชั้นนำซึ่งเป็นผู้ดีกรุงศรีอยุธยามักแสดงตนเป็นผู้ฝักใฝ่ในกาพย์กลอนโคลงฉันท์อันเป็นวิชาชั้นสูง จึงพบคำให้การขุนหลวงหาวัดเล่าว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา “ทรงแต่งกาพย์โคลงฉันท์และคำพากย์…ทั้งสวดสำรวจประสานเสียงโอดพันคร่ำครวญต่างๆ” และมัก “ทรงฟังสวดสำรวจคำหลวง” ซึ่งสอดคล้องกับยวนพ่ายโคลงดั้นยอพระเกียรติว่า

๏ สำเนียงสำนวดแม้น มฤธุรา เรื่อยแฮ

ทำเนียบทำนองกานต์ เลิศล้วน

ทำนองทำนุกภา- ณ ตรองเตรียบ เรียบแฮ

ดำนอกดำนานถ้วน ถ่องกล

ทำนองสวดคำหลวงคงจะเป็นเครื่องแสดงรสนิยมและฐานะทางสังคมด้วย ชาววังทั้งหญิงชายในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาจึงซ้อมสวดคำหลวงเป็นส่วนตัว ดังโคลงกำสรวลสมุทรบทหนึ่งรำพึงถึงนางในจินตนาการว่าขณะนั้นนางกำลังทำอะไร? แต่งตัว, เล่นหมากรุก, เล่นสกา หรืออ่านคำหลวงเป็นทำนอง ดังนี้

๏ ป่านนี้อรเช้าแม่ เกลาองค์ อยู่ฤๅ

ตั้งขดานจตุรงคเมียง ม่ายม้า

ฤๅวางสกาลง ทายบาศก์

ฤๅกล่าวคำหลวงอ้า อ่อนแกล้งเกลาฉันท์

ไม่มีเห่เรือสมัยอยุธยาเมื่อเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค [ภาพพิมพ์โดยนักทำแผนที่ชาวฮอลันดา พ.ศ.2262 ตรงกับแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ จากห้องสมุดส่วนบุคคล ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช พิมพ์ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง สำนักพิมพ์มติชน 2549]

เห่เรือวรรณกรรมคำกาพย์

เห่เรือในเพลงยาวเล่าเรื่องฯ หมายถึงวรรณกรรมกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง ที่มีการคัดลอกลงสมุดข่อยเก็บไว้อ่านเป็นส่วนตัว (แต่ไม่หมายถึงการร้องเห่เรือ เพราะสมัยอยุธยาไม่มีเห่เรือขบวนพยุหยาตราทางชลมารค)

กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งเป็นที่นิยมยกย่องอย่างยิ่งของผู้ดีกรุงศรีอยุธยา (รวมทั้งผู้ดีกรุงรัตนโกสินทร์) เพราะเป็นงานสร้างสรรค์อย่างสากล ด้วยการลดพิธีกรรมที่เคยทำสืบเนื่องมา แล้วเพิ่มเข้าไปในอารมณ์และความรู้สึกแบบสัจนิยมและปัจเจกนิยม

นอกจากบทเห่เรือ (ชมเรือกระบวน, ชมปลา, ชมไม้) กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งยังมีบทเห่เรื่องกากี, บทเห่สังวาสและเห่ครวญที่แสดงอารมณ์และความรู้สึกทางเพศอย่างหมดเปลือก เหล่านี้ย่อมเป็นที่ถูกอกถูกใจกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการหลุดพ้นจารีตประเพณีเดิมอันเป็นพันธนาการสาหัส แต่ไม่กล้าแสดงออก ดังนั้น การอ่านกาพย์เห่เรือเสมือนทางระบายความอัดอั้นออกไประดับหนึ่ง

ร้องเห่เรือขณะขบวนเรือเคลื่อนที่เป็นประเพณีสร้างใหม่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค มีสาระสำคัญดังนี้

(1.) เห่เรือด้วยต้นเสียงร้องเห่นำ แล้วมีลูกคู่จำนวนหนึ่งร้องคั่นจังหวะ (ตามที่กำหนด) ว่า “ฮ้าไฮ้ๆ” และ “เฮ้-เฮ- – -” และ (2.) เห่เรือขณะขบวนเรือเคลื่อนที่

สมัยโบราณตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาสืบเนื่องถึงสมัยอยุธยา น่าจะมีเห่เรือในพิธีกรรม คือ “เห่เรือไล่น้ำ” ดังนี้

(1.) เห่เรือคนเดียวโดย “หมอขวัญหลวง” (หรือหมอผีหลวง) ในพิธีไล่น้ำ (หรือไล่เรือ) ด้วยการวิงวอนร้องขอให้น้ำลดเพื่อชาวนาได้เกี่ยวข้าวสะดวก

(2.) เห่เรือขณะขบวนเรือจอดนิ่ง แล้วทำพิธีบริเวณที่เป็น “ดินสะดือ” คือมีตาน้ำที่คนสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นทางขึ้น-ลงของพระยานาคผู้ควบคุมน้ำอยู่บาดาล (ใต้ดิน) โดยขอให้พระยานาคดูดน้ำทั้งหมดลงบาดาล

[ข้อมูลอย่างละเอียดมีในหนังสือ เห่เรือและเรือพระราชพิธี มาจากไหน? ของสุจิตต์ วงษ์เทศ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2554) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2562]

 

ขบวนเรือไม่มีเห่เรือ

สมัยอยุธยาไม่มี “เห่เรือ” ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากอยุธยาไปตามแม่น้ำป่าสัก ทวนน้ำถึงท่าเจ้าสนุก (อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา) มีบอกในวรรณกรรมเรื่อง “บุณโณวาทคำฉันท์” (แต่งสมัยพระเจ้าบรมโกศ) ว่ามี “แห่แหน” และ “โห่แห่” ซึ่งไม่ใช่ “เห่เรือ” เพราะต่างกันมากจาก “เห่เรือ” ที่เข้าใจกันทุกวันนี้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงบอกไว้ 3 เรื่องใน “อธิบายตำนานเห่เรือ” ว่า

(1.) เจ้านายและขุนนางมีเรือยาวไปเล่นเรือกับราษฎร “เวลาพายเรือไปก็เห่เรือ”

ตรงนี้ไม่เคยพบหลักฐาน แต่เท่าที่มีประเพณีสืบเนื่องคือ เล่นเพลงเรือ มีลูกคู่ร้อง “ฮ้าไฮ้-เฉียบๆ” ซึ่งเป็นคนละตระกูลกับเห่เรือ

(2.) การเห่เรือเล่นแต่โบราณ “สันนิษฐาน” ว่า “จะคิดบทเป็นกลอนสดเช่นเดียวกับเล่นเพลงและดอกสร้อยสักวา”

เล่นเพลงทุกชนิดเป็น “กลอนท่อง” หรือ “กลอนจำ” หมายความว่ามีครูแต่งบทเป็นกลอนหัวเดียว แล้วคนเล่นเพลงเอาบทไป “ท่องจำ” เมื่อจำได้ขึ้นใจจึงออกเล่นเพลง ทำให้ดูเหมือน “กลอนด้น”

ดอกสร้อยและสักวาเป็นกลอนแปด (กลอนแบบสุนทรภู่) คิดกลอนสดไม่ทันเพราะมีสัมผัสสลับวรรค (ต่างจากกลอนหัวเดียว) และไม่เคยมีใครคิดกลอนสดได้ ที่เล่นดอกสร้อยสักวาล้วนเป็นกลอนท่องจำไว้ก่อนทั้งนั้น

(3.) “บทเห่เรือคงมีมาก แต่หากสูญไปเสียด้วยไม่มีใครจะจดไว้” แท้จริงแล้วบทเห่เรือไม่เคยมี ที่มีคือของเจ้าฟ้ากุ้งเท่านั้นซึ่งไม่เคยใช้เห่เรือสมัยอยุธยา •