‘ไอเพฟ’ ข้อเสนอใหม่ จากสหรัฐอเมริกา/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

‘ไอเพฟ’ ข้อเสนอใหม่

จากสหรัฐอเมริกา

 

เมื่อ 8 กันยายนที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐมนตรีการค้าและเศรษฐกิจของ 13 ชาติในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งไทย เริ่มเปิดการหารือกับสหรัฐอเมริกา เพื่อหา “แพลตฟอร์ม” สำหรับทั้ง 14 ประเทศได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทางด้านการค้า, ห่วงโซ่อุปทาน, สิ่งแวดล้อม, การต่อต้านการคอร์รัปชั่น และมาตรฐานแรงงาน

ชื่อของแพลตฟอร์มที่ว่านั้นเรียกว่า “กรอบเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก” (The Indo-Pacific Economic Framework -IPEF) เรียกกันสั้นๆ ว่า “ไอเพฟ”

ประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจา มีออสเตรเลีย, บรูไน, ฟิจิ, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม

เมื่อรวมกับสหรัฐอเมริกาแล้ว ถือว่าใหญ่โตไม่น้อย จีดีพีของทุกชาติรวมกันเข้าคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั้งโลก

 

ไอเพฟถือเป็นการเจรจาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ครอบคลุมทั่วเอเชียซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี และที่แตกต่างออกไปจากการเจรจาอื่นๆ ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมาก็คือ นี่ไม่ใช่การเจรจาเพื่อการจัดทำเขตการค้าเสรี ดังนั้น จึงไม่มีเรื่องของการลดภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้แถลงแนวคิดนี้ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาระหว่างการเดินทางเยือนญี่ปุ่น แล้วก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยว่า ชาติที่เข้าร่วมอาจไม่ได้ประโยชน์อะไรมากมายนัก

แต่การที่ทางการสหรัฐผลักดันจนรุดหน้าเป็นรูปธรรมได้ในครั้งนี้ ในทางหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาต้องการรูปแบบหรือแนวทางอย่างหนึ่งอย่างใดสำหรับใช้เสริมสร้างสัมพันธภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างแท้จริง หลังจากไม่เหลืออะไรอยู่ในมือเลยเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากความตกลงทีพีพี

คำถามสำคัญก็คือ พวกเขาเจรจาอะไรกัน?

 

ไอเพฟมีแกนหลักเป็นกรอบในการเจรจาหรือที่บางคนเรียกว่า “เสาหลัก” อยู่ 4 ประการ หรือจะเรียกว่า กรอบเศรษฐกิจ 4 ด้านก็น่าจะได้

แรกสุดคือ กรอบการหารือเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เชื่อมโยงถึงกัน ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องแรงงาน, สิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจดิจิทัล, การเกษตร, นโยบายแข่งขันทางการค้า และการเอื้ออำนวยความสะดวกทางการค้า

ถัดมาคือกรอบการหารือเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มีภูมิคุ้มกันจากผลกระทบต่างๆ เน้นไปที่การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่จะไม่สะดุดหรือชะงักจากปัจจัยภายนอกทั้งหลาย

ลำดับที่ 3 คือการสร้างเศรษฐกิจสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมถึงเรื่องพลังงาน, การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น

สุดท้ายคือการสร้างเศรษฐกิจที่เที่ยงธรรม การดำเนินการการค้าที่ยุติธรรม ครอบคลุมถึงเรื่องภาษีและการคอร์รัปชั่น

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทั้งหมดนี้ไม่ได้บังคับตายตัวว่าทุกชาติต้องร่วมอยู่ในการเจรจากรอบเศรษฐกิจทั้ง 4 ด้าน หากพอใจ หรือต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนให้เป็นไปตามกรอบใด ก็เข้าร่วมในการเจรจาในกรอบนั้น จะเป็นหนึ่งหรือสองหรือทั้งหมดก็ได้

ที่ชวนคิดก็คือ 4 ด้านที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหมือนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนเท่านั้น แต่ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบรอบด้าน

รอยเตอร์บอกว่า ได้รับคำบอกจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกาว่า นี่ไม่ใช่ข้อเสนอที่เป็น “ทางเลือก” สำหรับชาติสมาชิกให้เลือกทดแทนการรับการลงทุนจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน เป็นแต่เพียงการ “ยืนยัน” ถึง “วาระทางเศรษฐกิจ” ที่สหรัฐมีต่อชาติในภูมิภาค ส่วนใครต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในทางใดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ

แต่เน้นให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความมั่นคง เป็นเสรี เปิดกว้าง เป็นธรรม ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เชื่อมโยงซึ่งกันและกันในหลากหลายมิติ

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามกรอบไอเพฟ ยังเชื่อมโยงอยู่กับยุทธศาสตร์การลงทุนแบบใหม่ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ ที่จะไม่ใช่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (ซึ่งจะมีใครต้องการหรือไม่ก็ไม่รู้) แต่เน้นไปที่การอำนวยให้แต่ละประเทศสามารถมีเงินลงทุนในโครงการที่ต้องการโดยตรง เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนเองไปในทิศทางที่ต้องการ

ชาติที่เข้าร่วมนอกจากจะได้รับเงินทุนช่วยเหลือทางเทคนิคจากสหรัฐแล้ว ยังสามารถระดมทุนจากภาคเอกชน, จากกรอบไตรภาคี สหรัฐ, ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย และถูกกำหนดให้มีมาตรฐานของโครงการสูง

เพื่อให้ไม่กลายเป็น “กับดักหนี้” เหมือนโครงการของจีนในศรีลังกาและหลายๆ ประเทศในเวลานี้