“ระบบอุปถัมภ์” สร้างเครือข่ายคอร์รัปชั่น ช่วยดัน…ตั้งแต่นายสิบ ถึงนายกฯ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ระบบอุปถัมภ์

สร้างเครือข่ายคอร์รัปชั่น

ช่วยดัน…ตั้งแต่นายสิบ ถึงนายกฯ

 

ข่าวเรื่องผู้หญิง ส.ว. ที่มียศเพียงแค่สิบตำรวจโทหญิง ทำทารุณกรรมทหารทหารรับใช้ยศนายสิบ และเมื่อมีการสืบค้น เจาะลึกถึงที่มาที่ไป ก็ได้สะท้อนสภาพสังคมไทยว่าปัจจุบันยังมีชนชั้น เจ้าขุนมูลนาย มีการใช้ระบบอุปถัมภ์และเส้นสายในการเข้าถึงตำแหน่ง เพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ตั้งแต่ระดับบนลงไปถึงระดับล่าง โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2557

การปกครองไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีลักษณะเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตย ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่ระบบราชการได้ครอบงำการบริหารทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ผู้ปกครองไม่ได้ทำงานเพื่อประชาชน

คณะรัฐประหาร คสช.มีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ตั้งตนเองเป็นหัวหน้าของระบบราชการ จากนั้นระบบอุปถัมภ์ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการแต่งตั้งพวกพ้องเข้าคุมอำนาจ

ในสภาก็เริ่มจากตั้งสภานิติบัญญัติ และต่อมามี ส.ว.แต่งตั้ง ในฝ่ายบริหาร คสช.ควบคุมเอง

ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ก็ได้รับเลือกตั้งจาก ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งมา หรือต่ออายุให้

 

ระบบอุปถัมภ์เป็นต้นตอทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น

สังคมไทยเราปกครองโดยระบบศักดินานานหลายร้อยปี แม้เมื่อเปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นแบบประชาธิปไตย แต่ระบบอุปถัมภ์เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากมานานตั้งแต่สมัยศักดินาและยังคงใช้ต่อเนื่องเพราะอำนาจรวมศูนย์อยู่กับเจ้าขุนมูลนาย ประชาชนธรรมดา ไพร่ พ่อค้าวาณิชจำเป็นต้องพึ่งพาเพื่อความสะดวก เพื่อไม่ต้องการถูกเกณฑ์แรงงาน ต้องการลดภาษี ต้องการฝากฝังลูกหลานให้ได้เป็นข้าราชการ ความจำเป็นเหล่านี้จึงก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ค้ำชู ติดสินบน จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาสืบเนื่องกันมานานจนถึงปัจจุบัน

แต่ระบบนี้เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่ไม่ยุติธรรม โดยมีการแปลงอำนาจให้เป็นเงินทองหรือแปลงเงินทองให้เป็นอำนาจ หรืออภิสิทธิ์ต่างๆ อาจจะเริ่มตั้งแต่ฝากเด็กเข้าโรงเรียนและพัฒนาต่อมาเป็นการฝากเข้าทำงาน หรือการใช้เส้นสายเพื่อไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงโดยที่มีความรู้ความสามารถไม่เหมาะสมแต่เส้นสายดีมีคนฝาก เมื่อมีอำนาจก็ใช้หาประโยชน์ จนพบเห็นเป็นข่าว ยิ่งแก่ตัวไปมีอำนาจมากขึ้น ก็โกงได้มากขึ้น แบบที่เรียกว่า งานเล็กไม่ งานใหญ่แย่งกันโกง

ไม่มีวงการไหนบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทั้งนักการเมือง ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ วงการศึกษาที่เป็นครูสอนคนก็ไม่ยกเว้น วงการศาสนาก็เป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน

และที่ควรเที่ยงตรงคือกระบวนการยุติธรรม กลับทำผิดเสียเอง มีทั้งอัยการ ศาล

ที่น่าตกตะลึงคือมีการยึดทรัพย์เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. 658 ล้าน คนที่มีหน้าที่ป้องกันการคอร์รัปชั่น โดนกล่าวหาเสียเอง

 

การมี ส.ว.จากการแต่งตั้ง

เป็นตัวชี้วัดว่า เรายังอยู่ในระบบอุปถัมภ์

การมีวุฒิสภา ไม่ได้เป็นข้อเสียทั้งหมด ถ้าวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ถ้ามาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจที่ทำการรัฐประหาร ก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้กดขี่ประชาชน

ย้อนดูรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จากนั้น ส.ส.จึงมาเลือกฝ่ายบริหาร คือนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญ 2550 ส.ว.มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง ส.ส.เท่านั้นที่เลือกนายกฯ

รัฐธรรมนูญ 2560 มี 250 ส.ว.จากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจมากกว่า ส.ส.เลือกตั้ง

1. ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้…โดยร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร แต่ ส.ว. 250 คนมาจากกลุ่มเดียวกัน มีจำนวน 1 ใน 3 ของรัฐสภา จึงมีเสียงมากที่สุดในการกำหนดตัวนายกฯ

2. ส.ว.มีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เลือกกรรมการองค์กรอิสระได้ทั้งหมด คือ กกต. 7 คน ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน ป.ป.ช. 9 คน ก.ส.ม. 7 คน คตง. 7 คน ใครจะเป็นกรรมการองค์กรอิสระ แม้ผ่านการสรรหามาแล้ว ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของ ส.ว. ถ้า ส.ว.ไม่เอา ก็คือสอบตก

3. หากมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สาม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 คน หรือหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ส.ว.จึงเป็นผู้มีอำนาจมาก และ ส.ว.หลายคนก็มีอำนาจนี้มานานพอๆ กับ คสช.

(ส.ว.มีเงินเดือน 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท ส.ว.แต่ละคนยังสามารถมีผู้ช่วย 8 คน แบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน มีเงินเดือนเดือนละ 24,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท และผู้ช่วย ส.ว. 5 คน มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท สวัสดิการต่างๆ ก็มีมากมาย เช่น ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท ตั๋วเครื่องบินฟรี เบี้ยเลี้ยงเดินทางไปต่างประเทศ กรณีเบิกเหมาจ่ายไม่เกินวันละ 3,100 บาทต่อคน)

เวลานี้ ส.ว.แต่งตั้ง จึงเป็นจุดเชื่อมโยงของระบบอุปถัมภ์ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และขยายลงไปสู่ระบบราชการ

 

จะแก้ไขระบบอุปถัมภ์และคอร์รัปชั่นอย่างไร?

1.หลักการใหญ่ในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น คือต้องแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ ซึ่งนั่นหมายความว่าเราจะต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง พร้อมกับสร้างระบบยุติธรรมที่ตรวจสอบได้โดยประชาชน

แต่ต้องเริ่มต้นโดยการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. แต่ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องใช้เขตเลือกตั้งระดับประเทศและกำหนดว่าจะมาจากสาขาวิชาการหรืออาชีพใด กี่คน กลุ่มคนที่ได้รับเลือกจากคนทั้งประเทศ ย่อมถือว่าได้มาตรฐานแล้ว

2. การร่างกฎหมาย อย่าให้มีการคอร์รัปชั่นอำนาจ ต้องเริ่มต้นที่มีการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากประชาชน ถ้าให้พวกขี้โกงร่าง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายประกอบ การโกงสามารถเริ่มต้นด้วยการเอารัดเอาเปรียบกันได้ เพราะจะทำให้อำนาจตกเป็นของคนบางกลุ่มมากกว่าคนทั่วไป และใช้ความได้เปรียบอันนี้ไปสร้างความลำบากแก่คนกลุ่มอื่น หรือเข้าสู่อำนาจปกครองและสืบทอดอำนาจต่อไปได้เรื่อยๆ

เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เกิดความได้เปรียบ โดยร่างให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร แล้วเอา ส.ว. 250 คนนั้นไปเลือกนายกฯ และยังให้มีอำนาจรับรองการตั้งกรรมการองค์กรอิสระ เมื่อร่วมกันเขียน เวียนกันแต่งตั้ง ผลัดกันเกาหลัง ก็เหมือนแก๊งผู้มีอิทธิพล กลายเป็นมีอำนาจมากขึ้นยิ่งเหลิงกันไปใหญ่

สุดท้ายก็กล้าใช้อำนาจที่ผิดๆ กันอย่างเปิดเผย ปรากฏการณ์การฝากเพื่อนหญิงเข้ากินเงินเดือนในหลายตำแหน่ง จึงเกิดขึ้น คนไม่มีความรู้ความสามารถแต่ใช้ระบบอุปถัมภ์ฝากฝังกันไป เริ่มตั้งแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนมาถึงวุฒิสภา

3. มีวาระการดำรงตำแหน่งของผู้มีอำนาจทุกฝ่าย และระบบตรวจสอบ

วาระผู้มีอำนาจไม่ควรยาวนานเกินไปถึงแม้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ควรเกิน 8 ปี ยิ่งถ้ามาจากการคัดเลือกแม้จะรับรองโดยสภาที่เลือกจากประชาชนก็ไม่ควรเกิน 4 ปี

สิ่งที่น่าสังเกตคือวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ ยาวนานมากเกินไป แม้รัฐบาลและ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนยังมี วาระแค่สี่ปี แต่กรรมการเหล่านี้กลับมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีบ้าง 9 ปีบ้าง อยู่จนรากและกิ่งก้านแผ่ขยายไปเป็นอาณาจักร ที่จริงตำแหน่งเหล่านี้ควรมีวาระที่สั้นกว่ารัฐบาลหรือไม่เกินสี่ปีตามวาระของ ส.ส. และไม่ควรต่ออายุงาน

ต้องมีระบบตรวจสอบทุกอำนาจ โดยไม่ใช้คนในองค์กรเดียวกันตรวจสอบ แต่ควรมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งมีตัวแทนจากประชาชน จากสภาผู้แทนฯ จากวุฒิสภา จากนักวิชาการเป็นกรรมการตรวจสอบอิสระเมื่อมีการร้องเรียนในข้อขัดแย้งหรือคดีใหญ่ต่างๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เกิดความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนว่าจะไม่มีการวิ่งเต้นล้มคดี ทำให้หมดอายุความหรือเกิดการเอียงข้าง แม้คนตรวจสอบไม่มีหน้าที่ตัดสินแต่สามารถนำข้อเท็จจริงต่างๆ มาเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้

คดี ส.ต.ท.หญิง ผู้ที่เกี่ยวข้องในการผลักดัน ฝากฝังให้ได้ตำแหน่งต่างๆ คงหลบลี้หนีหน้า

แต่กรณีนายกฯ ครบวาระ 8 ปี มีผู้เกี่ยวข้องยังพยายามผลักดันให้นายกฯ อยู่ต่อ

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นนายกฯ ต่อได้ ก็ไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบต่อระบบยุติธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง มากแค่ไหน

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้หลุดจากนายกฯ หวังว่าคงไม่รับตำแหน่งรักษาการต่อ เพราะจะเป็นเรื่องที่น่าอายมาก ที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญจนต้องฟ้องให้ออก แต่แพ้แล้วมารับรักษาการนายกฯ

การตัดสินการครบวาระ 8 ปีของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะชี้วัดความเข้มข้นของระบอบอำมาตยาธิปไตย ว่าจะเก่งกล้าสามารถแค่ไหน กฎหมายรัฐธรรมนูญกับระบบอุปถัมภ์ อันไหนจะนำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศนี้