มองไทยใหม่ : คำโปรตุเกสในภาษาไทย

หน้าที่หนึ่งของราชบัณฑิตยสภา/สถาน นอกจากเรื่องการทำพจนานุกรมภาษาไทยซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ก็ยังมีอื่นๆ อีกหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องการทับศัพท์หรือการเขียนคำจากภาษาต่างประเทศด้วยอักษรไทยตามอักขรวิธีไทย โดยให้เห็นที่มาของคำตามสมควร

การเผยแพร่หลักเกณฑ์การทับศัพท์รุ่นใหม่เริ่มขึ้นใน พ.ศ.๒๕๓๒ โดยเริ่มจากภาษา อังกฤษ ก่อน ต่อจากนั้นใน พ.ศ.๒๕๓๕ จึงได้เพิ่มขึ้นอีก ๗ ภาษา คือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส มลายู เยอรมัน รัสเซีย สเปน และ อิตาลี

ต่อจากนั้นก็มีการปรับปรุงใหม่เพื่อให้ทันสมัยและตรงตามการออกเสียงของเจ้าของภาษามากยิ่งขึ้น

หลักเกณฑ์ปรับปรุงใหม่ที่เผยแพร่ออกมาแล้วก็คือ หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษา ฝรั่งเศส

นอกจากนี้ ยังมีหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาใหม่ๆ ที่เผยแพร่ออกมาแล้วอีก ๕ ภาษา คือ เกาหลี จีน เวียดนาม อาหรับ และ ฮินดี

หลักเกณฑ์ที่อยู่ในระหว่างเตรียมการเผยแพร่ มี ๓ ภาษา คือ ดัตช์ ฟิลิปปินส์ (ตากาล็อก) และ เมียนมา (พม่า)

ส่วนหลักเกณฑ์ที่อยู่ในระหว่างการจัดทำมี ๒ ภาษา คือ เขมร กับ โปรตุเกส

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ได้นำแง่มุมด้านหลักเกณฑ์ทางภาษาของภาษาต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังหลายครั้งแล้ว

ในครั้งนี้จะขอเล่าเรื่องภาษาโปรตุเกส ภาษาจากประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตอันสวยงามเป็นแห่งแรกในกรุงเทพฯ ด้วยความสัมพันธ์อันยาวนานกว่า ๕๐๐ ปี โดยเริ่มจาก พ.ศ.๒๐๕๔ (ค.ศ.๑๕๑๑) ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา

เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จะมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน แต่ภาษาโปรตุเกสแทบจะไม่มีร่องรอยอยู่ในภาษาไทยเลย

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีคำไม่ถึง ๑๐ คำ ที่สามารถบอกได้ว่ามาจากภาษาโปรตุเกส เช่น กะละแม กัมประโด ขนมปัง เลหลัง สบู่ ซึ่งล้วนแต่ออกเสียงต่างจากภาษาเดิมไปแล้วทั้งสิ้น ส่วนคำโปรตุเกสใหม่ๆ ในปัจจุบันอย่าง ชื่อคน ชื่อเมือง ก็ออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษกันไปแทบทั้งหมด

คณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้จัดประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาโปรตุเกส มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙

โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรม คือ นาย Nuno (อ่านว่า นูนู) มาช่วยให้คำแนะนำตั้งแต่ต้น และยังได้จัดให้มีการประชุมครั้งพิเศษเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องที่สถานทูตเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยที่ให้เกียรติมาเป็นกรรมการก็คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เดมีย์ ระเบียบโลก

ผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านได้ช่วยกันให้ความรู้และคำแนะนำอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอาจารย์สุธาชัยนั้นเล่าประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชื่อบุคคลและสถานที่ได้อย่างสนุกสนาน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์โปรตุเกส ทำให้เราได้รู้ว่าชื่อที่เราออกเสียงเป็นไทยหรือเป็นอังกฤษนั้นออกเสียงในภาษาโปรตุเกสอย่างไร เช่น

อเมริโก เวสปุชชี Americo Vespucio คือ อาแมรีกู วึชปูซียู

บาร์โทโลมิว ไดแอส Bartolomeu Dias คือ บาร์ตูลูเมว ดียัช

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส Cristovao Colombo คือ คริชตอเวา กูลงบู

เฟอร์ดินานด์ เมนเดส ปินโต Fernao Mendes Pinto คือ ฟือร์เนา เม็งดึช ปิงตู

วาสโก ดา กามา Vasco da Gama คือ วัชกู ดา กามา

รายละเอียดอื่นๆ คงต้องคอยอ่านในฉบับสมบูรณ์ จากราชบัณฑิตยสภา ซึ่งคงจะเผยแพร่ในโอกาสอันสมควร

“มองไทยใหม่” ในครั้งนี้ขอรำลึกถึง อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้อุทิศทั้งกายและใจให้แก่งานชิ้นนี้ ซึ่งคงจะเป็นผลงานวิชาการครั้งสุดท้ายที่ทำร่วมกับหนังสือประวัติศาสตร์โปรตุเกส