คณะทหารหนุ่ม (4) | วงจรอุบาทว์ “การเมือง-การทหาร”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ระเบิดเวลา

และที่จะบานปลายกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกใหญ่ได้แก่การที่ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยความเห็นชอบของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รักษาการนายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งย้าย พล.อ.โชติ หิรัญยัษฐิติ ออกจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก แล้วเลื่อน พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ จากผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก “ข้ามหัว” เสนาธิการทหารบกขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกแทน

ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นคือ พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการใน 30 กันยายน พ.ศ.2519 พร้อมกับรองผู้บัญชาการทหารบก คือ พล.อ.โชติ หิรัญยัษฐิติ โดยมีผู้อาวุโสลำดับถัดไปในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก คือ พล.อ.เสริม ณ นคร จะขึ้นสืบทอดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกตามแบบธรรมเนียมทหาร

พล.อ.โชติ หิรัญยัษฐิติ ตอบโต้คำสั่งนี้ด้วยการยื่นใบลาออกจากราชการทันที แม้จะไม่มีผลในทางเปลี่ยนแปลงคำสั่งก็ตาม

มีเอกสารซึ่งไม่ปรากฏที่มาแจกจ่ายไปอย่างแพร่หลาย เปิดเผยลำดับอาวุโสในกองทัพบกและแบบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมา อันเป็นการแสดงออกถึงความไม่ถูกต้องและไม่เห็นด้วยกับการโยกย้ายครั้งนี้

รอยร้าวลึกจึงปรากฏขึ้นชัดเจนในกองทัพ ที่ต่างก็มี “พวก” เชียร์ข้างใครข้างมัน…

 

วงจรอุบาทว์ “การเมือง-การทหาร”…

พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร และ ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช ได้ร่วมกันกำหนดเกม “การเมือง-การทหาร” นี้ขึ้น ด้วยการเลือก พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เพื่อสร้างความมั่นใจในฐานกำลังสนับสนุนจากกองทัพสำหรับการกลับมาใหม่หลังเลือกตั้งซึ่งต่างก็มั่นใจว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันอีก

ด้วยเหตุนี้ “การเมือง” กับ “กองทัพ” จึงเข้ามาเกี่ยวกระหวัดกันอีกครั้งหนึ่ง

เป็นการกลับมาของวงจรอุบาทว์ “การเมือง-การทหาร” ของไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ครั้งรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งอีก 16 ปีต่อมา หลายคนที่มองโลกในแง่ดีเชื่อว่า วงจรนี้จะสิ้นสุดลงหลัง ‘ระบอบ ถนอม-ประภาส’ ล่มสลาย

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเป็นจุดเริ่มแห่งวงจรอุบาทว์ “การเมือง-การทหาร” พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร บุตรเขยของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหารนับว่ามีส่วนร่วมอยู่ไม่น้อยในการให้กำเนิดและการฝังรากลึกแห่งวงจรอุบาทว์นี้

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เชี่ยวชาญและช่ำชองเป็นอย่างยิ่งกับยุทธวิธี “ตบ-จูบ”กับฝ่ายทหารมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

 

อำนาจที่ถ่ายเท

หลังการล่มสลายของระบอบ “ถนอม-ประภาส” ผู้นำทหารระดับสูงในขณะนั้นคือกลุ่มของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ก็ยังคงไม่พ้นจากค่านิยมเก่าคือมุ่งสร้างอำนาจเข้าแทนที่กลุ่มอำนาจเดิม

ผู้นำระดับสูงกองทัพยังคงเข้าไปเกาะเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมือง การเมืองก็ยังคงพยายามสร้างประโยชน์ร่วมกับกองทัพในลักษณะต่างตอบแทน

ขณะที่โครงสร้างอำนาจเดิมที่ถูกทำลายก็ยังพยายามฟื้นตัว ผู้นำกองทัพที่มาใหม่จึงอยู่ในสภาพคล้ายสร้างปราสาทจากยอด โดยไม่สนใจกับโครงสร้างส่วนล่าง โดยเฉพาะ “เสาเข็ม”

ซึ่งนั่นก็คือ นายทหารระดับกลางและระดับล่างที่กำลังรวมตัวกันเงียบๆ โดยเฉพาะคณะทหารหนุ่ม

พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ หนึ่งในคณะนายทหารหนุ่ม อธิบายความหมายการแบ่งชั้นของนายทหารว่า “นายทหารระดับสูง”หมายถึง “นายทหารชั้นนายพล” “นายทหารระดับกลาง” หมายถึง “นายทหารชั้นพันเอกลงมาจนถึงพันตรี” และ “นายทหารระดับล่าง” หมายถึง “นายทหารชั้นนายร้อย”

คณะทหารหนุ่มซึ่งยังคงปกปิดการเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวดเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้นำกองทัพด้วยความห่วงใยในอนาคตของกองทัพซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของชาติ

ขณะที่ต่างก็รับราชการ ปฏิบัติตน และเติบโตไปตามขั้นตอนปกติของราชการทหาร แต่ยังคงพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนและตอกย้ำอุดมการณ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้รับความสนใจจากผู้นำในกองทัพที่กำลังวุ่นวายอยู่กับการสร้างอาณาจักรใหม่จากยอดประสาทแต่อย่างใด

อำนาจการควบคุมกำลังรบที่แท้จริงบางส่วนซึ่งยังไม่เบ็ดเสร็จที่ยอดปราสาท จึงค่อยๆ ถ่ายเทลงมาอยู่ในมือของนายทหารระดับกลาง-ผู้บังคับการกรม และผู้บังคับกองพัน

จากกลุ่ม “นินทานาย” ของ จปร.7 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 คณะทหารหนุ่มขยายตัวเติบโตขึ้นทีละน้อยๆ ตามลำดับ โดยไม่เป็นที่สังเกตรับรู้และสนใจจากนายทหารระดับบน

 

ต้องการกองทัพที่เป็นปึกแผ่น…

ทัศนะเริ่มแรกของคณะนายทหารหนุ่ม เมื่อเทียบกับนายทหารรุ่นก่อนอย่าง “คณะ ร.ศ.130” หรือ “คณะสี่ทหารเสือ 24 มิถุนายน 2475” ยังคงไม่ยาวไกลถึงปัญหาความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ แต่จำกัดอยู่เพียงความเป็นปึกแผ่นของกองทัพ เป็นกองทัพของชาติ และเป็นหลักประกันในเอกราชและอธิปไตยของประเทศ

ซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ถ้าโครงสร้างส่วนบนของกองทัพยังคงเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้องเช่นที่ผ่านมาและกำลังเป็นอยู่

ส่วนทางด้านความมั่นคงนั้น กล่าวโดยสรุปแล้ว ความคิดของคณะทหารหนุ่มซึ่งเติบโตมาในยุคสงครามเย็นก็มิได้แตกต่างจากผู้นำกองทัพก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

พวกเขายังคงมองฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูสำคัญต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงในอินโดจีนเมื่อปี พ.ศ.2518 ได้สร้างจินตนาการที่น่าหวาดกลัวไม่เพียงในหมู่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงฝ่ายอนุรักษนิยมที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากที่เป็นอยู่ และยังรวมถึงฝ่ายความมั่นคงที่มีกองทัพเป็นแกนนำหลักอีกด้วย

ยิ่งเมื่อรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปิดฉากสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ยิ่งสร้างความหวาดหวั่นให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

คณะทหารหนุ่มซึ่งล้วนผ่านสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ทั้งที่เวียดนาม ลาวและในประเทศ จึงมีลักษณะเป็น “แนวร่วม” ในประเด็นนี้กับฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้น

ต่อกลุ่มก้าวหน้าที่เคลื่อนไหวอย่างหนัก คณะทหารหนุ่มก็มีแนวความคิดในลักษณะเป็น “แนวร่วม” กับฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายความมั่นคงว่ามีลักษณะสอดคล้องและเอื้ออำนวยต่อฝ่ายสังคมนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ฝ่ายกองทัพกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตศรัทธาจึงไม่สามารถแสดงความไม่พอใจใดๆ ได้ ผู้นำกองทัพก็หมกมุ่นอยู่กับการสะสมอำนาจขึ้นแทนกลุ่มอำนาจเดิม คณะทหารหนุ่มก็ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ จึงยังคงได้แต่ “ซุ่มซ่อนยาวนาน รอคอยโอกาส”

จนกระทั่งเมื่อพลังฝ่ายก้าวหน้าเริ่มเสื่อมถอยในปี พ.ศ.2518 และการก่อกำเนิดของ “ฝ่ายขวา” คณะทหารหนุ่มซึ่งเริ่มมีความเข้มแข็งขึ้นในระดับหนึ่ง

หลายคนขึ้นคุมกำลังระดับกองพันแล้วจึงเริ่มเคลื่อนไหว เริ่มต้นจากประเด็นต่อต้านคอมมิวนิสต์

พร้อมๆ กับขณะที่ยิ่งกระแสฝ่ายก้าวหน้าถดถอยลงเท่าใด กระแสฝ่ายขวาก็เริ่มแข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น โดยมีคณะทหารหนุ่มซึ่งยังคงเคลื่อนไหวทางลับเป็น “แนวร่วม”

 

เคลื่อนไหวครั้งแรก

การเคลื่อนไหวครั้งแรกของคณะทหารหนุ่มที่ยังคงปกปิดตัวเองโดยเข้มงวด แต่เริ่มมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อมีนาคม พ.ศ.2519 ระหว่างรัฐบาลรักษาการของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 4 เมษายน 2519 ได้แก่ การรณรงค์เพื่อคัดค้านการถอนสถานีเรดาร์ที่เกาะคา จังหวัดลำปาง และที่จังหวัดอุดรธานี

พ.อ.จำลอง ศรีเมือง ให้สัมภาษณ์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช ในภายหลัง และปรากฏใน “ยังเติร์ก กับทหารประชาธิปไตย” ว่า ผู้ริเริ่มคือ พ.ต.มนูญ รูปขจร และเป็นผู้ประสานงานร่วมกับ พ.ต.จำลอง ศรีเมือง วัตถุประสงค์หลักในการเคลื่อนไหวก็เนื่องจากการที่สหรัฐอเมริกากำลังถูกกดดันให้ถอนฐานทัพทั้งหมดออกจากประเทศไทยภายในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2519 และการถอนทัพดังกล่าวสหรัฐอเมริกาจะนำเอากระสุนสำรองกลับไปด้วย

การเคลื่อนไหวมีเป้าหมาย 2 ประการคือ ในส่วนที่เกี่ยวกับสถานีเรดาร์ ต้องการให้สาธารณชนได้เข้าใจว่าสถานีเรดาร์เป็นของกองทัพอากาศไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแผนการป้องกันประเทศ มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของฐานทัพสหรัฐซึ่งเพียงให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคเท่านั้น

ส่วนเรื่องกระสุนสำรองนั้นต้องการให้สหรัฐมอบให้แก่กองทัพไทยในรูปของความช่วยเหลือหรือขายให้ในราคาพิเศษ

พ.ต.จำลอง ศรีเมือง เห็นว่า การประท้วงและท่าทีที่แข็งกร้าวของรัฐบาลไทยขณะนั้นทำให้ประเทศต้องเสียประโยชน์ เนื่องจากกองทัพยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองในแง่ของการผลิตกระสุนและอาวุธที่ทันสมัยได้