รวยรินไร (3) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต นางพิมพิลาไลย(นางวันทอง) กับนางสายทอง (ภาพจากวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย)

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

รวยรินไร (3)

 

เครื่องมือที่ใช้ทำผมนอกจากแหนบที่ใช้ถอนไรแล้ว ยังมี หวีเสนียด และ ไม้สอย ใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยโบราณ

คำว่า ‘เสนียด’ ในที่นี้มิใช่เสนียดจัญไร เลวทราม ไม่เป็นมงคล แต่หมายถึงหวีชนิดหนึ่ง อาจารย์สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ บันทึกไว้ในหนังสือ “เรื่องเล่าจากข้าวของเครื่องแต่งกาย” ว่า

“ในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กอยู่บ้านนอก หวีชนิดแรกที่เห็นก็คือ หวีเสนียด (เขมรเรียกหวีว่าเสนียดเหมือนกัน ทางสุรินทร์เรียกหวีเสนียดว่า กระสะแนง์) หวีเสนียดที่พูดถึงนี้เขาหมายถึงหวีที่มีซี่สองข้างมีแกนตรงกลาง หวีได้ทั้งสองข้าง (ซี่ห่างด้านหนึ่ง ซี่ถี่ด้านหนึ่ง) ทำด้วยไม้ เวลาหวีกวาดเอาขี้รังแคหรือผงไผ่ออกมาหมดทีเดียว หวีชนิดนี้ใครจะทำมาขายก็หาทางสืบไม่ได้เสียแล้ว แต่จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าจะมีตัวหนังสือจีนอยู่ที่แกนหวี พวกอาหรับโบราณก็มีหวีแบบหวีเสนียดใช้เหมือนกัน”

สมัยอยุธยามี ‘หวีเสนียด’ ใช้แล้ว กาพย์ห่อโคลง “นิราศธารโศก” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรบรรยายว่าเมื่อเห็นต้นเกดก็นึกไปถึง ‘เกศ’ หรือผมของนางผู้เป็นที่รัก คำว่า ‘เกด’ (ต้นไม้) ออกเสียงตรงกับ ‘เกศ’ (เส้นผม)

“ไม้เกดคิดเกศเจ้า สดสลวย

ถือเสนียดสางผมมวย เกศแก้

กลิ่นรื่นชื่นหอมรวย ดีหลาก

ว่ากลิ่นเจ้าเปล่าแท้ รุ่มร้อนใจหาย”

นางใช้หวีเสนียดซี่เล็กละเอียดสางผมยามปล่อยผมมวยที่มุ่นไว้ที่ท้ายทอยให้สยายลงมา

 

ใช่จะมีแต่สาวสมัยอยุธยาเท่านั้นที่ใช้หวีดังกล่าว สาวรัตนโกสินทร์ก็ใช้ด้วย “นิราศนรินทร์” รำพันว่า ความโศกเศร้าที่เราสองต้องอยู่ไกลห่างทำให้นางละเลยทุกสิ่ง

“คันฉายคันฉ่องน้อย เสนียดนาง พี่เอย

จากจะลืมเสยสาง สระเผ้า

โศกเสียสิ่งสำอาง อายโอ่ ฤๅแม่

พักตร์จะผัดผจงเกล้า เยี่ยมแย้มแกลคอย”

ทั้งกระจก และหวีเสนียดคงถูกนางทิ้งไว้ไม่ไยดี

อีกทั้งนางใน “นิราศกรุงเก่า” ดูจะจมอยู่กับความเศร้าเอาแต่ร่ำไห้ ผมเผ้าจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง

“คันฉ่องคัดเช็ดหน้า นวลนาง ไฉนแม่

ผ้าจะซรับสุชลตาง ซรับน้ำ

สางเสยเสนียดสาง ศกแสก เสียฤๅ

จะว่างสระคละคล้ำ คลี่ช้องมวยสยาย”

 

นอกจากหวีเสนียดที่ใช้สางผมแล้ว ‘ขนเม่น’ และ ‘ไม้สอย’ คือตัวช่วยชั้นดี ดังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงพรรณนาไว้ใน “กาพย์เห่ชมผลไม้” ว่า

“ผลเกดพิเศษสด โอชารสล้ำเลิศปาง

คำนึงถึงเอวบาง สางเกศเส้นขนเม่นสอย”

‘ขนเม่น’ ในที่นี้คือ ‘ขนของเม่น’ เป็นเส้นแข็งๆ ยาวเรียวแหลม รัชกาลที่ 2 ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงรำพันถึงสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอดว่า ทรงใช้ขนเม่นสางและสอยเส้นพระเกศา

‘ไม้สอย’ ใช้การได้ดีพอๆ กับขนเม่น ลองนึกถึงภาพไม้เหลาแหลมๆ แข็งเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายขนเม่น สำหรับสอยผมทำเป็นไรผม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่” ดังนี้

“ผมบนกระหม่อมนั้น ใช้หวีก็ดูออกจะหนักไป นอกจากจะใช้หวีสางเอารังแคออกเป็นครั้งคราว ตามปกตินั้นจะใส่น้ำมันแล้วเอาไม้สอยซึ่งเป็นไม้แหลม โตกว่าไม้จิ้มฟันเล็กน้อยและมีด้ามยาว สอยผมบนกระหม่อมนั้นทีละเส้น จนเข้าอยู่ในแบบที่ต้องการ”

ขุนช้างแม้อัตคัดเส้นผมก็ยังพึ่งบริการไม้สอยช่วยเกลี่ยผมแผ่ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เอาไม้น้อยสอยเส้นให้รายเรียง เอามุหน่ายป้ายเคียงลงเต็มที่”

สาวเหลือน้อยอย่างนางคันธมาลี มเหสีท้าวสันนุราชยามแต่งตัวขึ้นเฝ้าก็ไม่เบาเหมือนกัน บทละครนอกเรื่อง “คาวี” เล่าถึงนางว่า

“หวีกระจายรายเส้นขนเม่นสอย ผัดหน้านั่งตะบอยบีบสิว”

‘ไม้สอย’ ได้รับความนิยมยาวนาน ใน “โคลงพระราชพิธีแห่โสกันต์” รัชกาลที่ 5 ทรงเล่าถึงทรงผมงามประณีตของสาวงามในขบวนว่าเกิดจากการใช้ไม้สอยผม ใช้ขี้ผึ้งและน้ำมันลูบไล้ เก็บกันไรเป็นระเบียบจนเห็นรอยไร

“คนสวยผมแสกไม้ ผจงสอย

ขิพึ่งยืดหยาดน้ำมนน ลูบไล้

กนนหน้าเก็บเปนรอย วงรยบ

คัดเชอดผมท้ายให้ อ่อนปลาย”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

‘ไม้สอย’ มีทั้งทำด้วยวัสดุพื้นบ้านหาได้ทั่วไป และตกแต่งด้วยวัสดุดีมีราคา นิทานคำกลอนเรื่อง “โคบุตร” เล่าถึงเครื่องมือเสริมสวยข้างกายนางกำนัลที่หลับสนิท

“พระพิศดูเครื่องสำอางที่วางไว้ เสี้ยมไม้ไผ่น้อยๆ มาสอยผม”

“โคลงนิราศกรุงเก่า” กล่าวถึงไม้สอยผมของนางในดวงใจว่า

“ไม้สอยซ่นงางอน งามสรัพ พี่เอย”

ไม่ต่างจากของใช้ส่วนตัวของนางแก้วกิริยาในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” แม้แต่น้อย

“กระจกแจ่มจัดใส่คันฉ่องน้อย ไม้สอยซ่นงางามเกลี้ยง”

‘ซ่น’ เป็นคำโบราณตรงกับ ‘ส้น’ ในปัจจุบัน หมายถึงส่วนท้ายของบางสิ่งบางอย่าง ‘ซ่นงา’ ในที่นี้น่าจะเป็นส่วนปลายไม้สอยทำด้วยงาช้าง

ตัวช่วยเสริมสวยเส้นผมเป็นสิ่งที่ขาดมิได้ทั้งชายหญิง โดยเฉพาะคนที่ผมทุกเส้นมีค่ายิ่งกว่าทองอย่างขุนช้าง ถือว่าเป็นของสำคัญใช้บนบานภูตผีเพื่อให้ได้ครอบครองนางวันทองไวๆ

“ผีพรายปากกล้ามาช่วยกู ทั้งอ้ายผีเจ้าชู้ก็มาด้วย

จะเซ่นไม้สอยผมให้สมรวย น้ำมันตานีหวีด้วยจะแทนคุณ”

ลงทุนขนาดนี้ ผีว่าไง •