คนวัยทองในสังคมญี่ปุ่น/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

คนวัยทองในสังคมญี่ปุ่น

 

อาการ “วัยทอง(更年期)” ของผู้หญิงส่วนใหญ่ เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ ร้อนวูบวาบ เหนื่อยง่าย เป็นต้น มีผลกระทบต่อหน้าที่การงานและชีวิตประจำวันเป็นช่วงเวลาต่อเนื่อง

มีรายงานว่าชายและหญิงญี่ปุ่น วัย 40 – 50 ปี ประมาณ 570,000 คน ต้องลาออกจากงาน เนื่องจากอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน “วัยทอง” จนไม่อาจทำงานถึงวันเกษียณอายุได้ ทั้ง ๆที่เป็นวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายงานที่ฝึกฝนมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว กลายเป็นต้องจำใจ “ลาออกจากงานรับวัยทอง(更年期離職)”

นั่นคือ คนวัยนี้จำต้องหยุดความก้าวหน้าในอาชีพการงานและขาดรายได้ประจำไปอย่างน่าเสียดาย ไม่แต่เพียงเท่านี้ หากคำนวณเป็นจำนวนเงินแล้ว มีผลเสียทางเศรษฐกิจมหาศาลทีเดียว ญี่ปุ่นจึงหันมาใส่ใจปัญหานี้ ทำความเข้าใจอาการต่าง ๆของคนทำงานที่เริ่มเข้าสู่วัยทองและมีผลต่อการทำงาน

อย่าเข้าใจผิดว่า อาการวัยทองเกิดขึ้นเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้ชายก็มีอาการวัยทองด้วย

ช่วงวัยทองของผู้หญิงจะเกิดขึ้น ประมาณ 10 ปี ก่อนหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 40 ปีตอนปลาย ถึง 50 ปีตอนต้น แต่ละคนมีอาการต่างกันไปเกิดจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ลดน้อยลง ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนแรง อารมณ์แปรปรวน เบื่อหน่าย หงุดหงิด เป็นต้น

ส่วนผู้ชาย แม้จะมีกลไกในร่างกายแตกต่างจากผู้หญิง แต่ก็มีช่วงวัยที่ฮอร์โมนเพศลดลง และอาจมีสาเหตุจากความเครียดในหน้าที่การงาน ที่มีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นตามวัยด้วย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 40 – 60 ปี มักเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง แต่มีบางกรณีเริ่มมีอาการเมื่อล่วงเข้าสู่วัย 70 ปีแล้ว เกิดจากการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหรือความเครียดสะสม

จากการสำรวจของเอ็นเอชเคร่วมกับมหาวิทยาลัยสตรีญี่ปุ่น เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงความสูญเสียที่ส่งผลทางด้านเศรษฐกิจ อันเนื่องจาก “การลาออกจากงานรับวัยทอง(更年期離職)” โดยทำการสำรวจชายหญิงวัย 40 – 50 ปี จำนวน 5,300 คน ที่อยู่ในช่วงวัยทอง แต่ละคนมีอาการต่าง ๆกัน และเป็นสาเหตุให้ต้องลาออกจากงาน เป็นผู้หญิง 9% และผู้ชาย 7%

เมื่อลองประเมินดูจากตัวเลขข้างต้นจะพบว่า มีผู้หญิงประมาณ 460,000 คน และผู้ชาย 110,000 คน รวม 570,000 คน ที่เข้าข่ายอาจลาออกจากงาน เนื่องจากอาการในวัยทองได้ ทีนี้ลองคำนวณต่อไปว่า หากคนเหล่านี้ต้องว่างงานประมาณ 1 ปี จะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสักเท่าใด ได้ตัวเลขมาคือ สำหรับผู้หญิง มีความสูญเสีย 4.2 แสนล้านเยน และ สำหรับผู้ชาย มีความสูญเสีย 2.1 แสนล้านเยน รวมกัน 6.3 แสนล้านเยน (1.7 แสนล้านบาท) ทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดการสูญเสีย ในช่วงเวลาสำคัญของชีวิตที่ควรได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งและมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานหลังจากเพียรพยายามทำงานมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว แต่กลับต้องลาออกจากงานเนื่องจากพ่ายแพ้ต่อความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตามวัย และไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนวัยนี้จะหางานใหม่ได้อีก ทำให้ต้องขาดรายได้ จะใช้ชีวิตอย่างไรจนถึงวัยชรา

เมื่อเห็นตัวเลขความสูญเสียนี้ จึงไม่อาจนิ่งเฉยได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราต่างเพิกเฉยกับการที่เพื่อนร่วมงาน หรือรุ่นพี่ รุ่นน้อง ต้องออกจากงานในช่วงเวลาสำคัญของหน้าที่การงานจากอาการวัยทอง ด้านสถานประกอบการ องค์กรธุรกิจควรมีหน่วยงานให้คำแนะนำ คำปรึกษา และการตรวจรักษาด้านการแพทย์ เป็นต้น อย่างจริงจัง ส่วนด้านกฎข้อบังคับการทำงานควรยืดหยุ่นให้คนวัยนี้ได้ลาหยุดได้ง่ายขึ้นเมื่อเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้นในช่วงวัยนี้ คนที่มีอาการมากจนส่งผลกระทบต่อการงานก็ควรได้รับการรักษา และได้รับความช่วยเหลือจัดหางานที่เหมาะกับปัญหาสุขภาพ เพื่อป้องกันการสมองไหลของคนวัยทอง

มีตัวอย่างหญิงวัย 52 ปี ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เธอเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนอย่างรุนแรง เกิดขึ้นบ่อย ๆ ระหว่างเดินทางไปทำงาน หรือในขณะปฏิบัติงาน เหนื่อยง่าย ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดลงกว่า 9 ก.ก. เธอใช้วันลาหยุดตามสิทธิ์ที่ลาได้จนหมด และหยุดงานไม่ได้อีกแล้ว ส่วนบรรยากาศในที่ทำงาน ถูกเพื่อนร่วมงานมองว่า หยุดงานบ่อย ๆ ไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นภาระของเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานแทน ตอนที่มีอาการหนัก ๆ แต่ลาหยุดไม่ได้ รู้สึกทรมานมากที่ต้องฝืนสังขารมาทำงาน ในที่สุด จำต้องลาออกจากงานเพราะอาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น

ถ้าบริษัทหรือนายจ้างเข้าใจปัญหานี้ และเห็นใจพนักงานบ้าง ก็จะไม่เกิดความสูญเสียเช่นนี้ อย่างเช่น บริษัทขนส่งแห่งหนึ่งมีพนักงานหญิงประมาณ 80% สหภาพแรงงานพนักงานได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับผลกระทบจากอาการวัยทอง ทำแบบสอบถามพนักงาน 228 คน มีพนักงานที่ต้องเผชิญกับความทุกข์จากอาการวัยทอง 124 คน คิดเป็น 54% ในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งบอกว่าปรึกษาเรื่องนี้กับใครไม่ได้เลย แต่โชคดีของพนักงานหญิงที่มีเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานช่วยต่อสู้เพื่อปรับสภาพการทำงานสำหรับผู้หญิงวัยทองในองค์กร

ในประเทศอังกฤษมีนโยบายช่วยเหลือ ไม่ให้พนักงานต้องลาออกจากงานจากสาเหตุวัยทอง ประมาณ 1 ใน 5 ของบริษัท ผู้บริหารมีการประชุมหารือ กำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือพนักงานหญิงที่อยู่ในช่วงวัยทอง ที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ก็พยายามเข้าใจ พนักงานหญิงบอกว่า เริ่มทุกข์ทรมานจากอาการนอนไม่หลับ รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิ เมื่อปรึกษาหัวหน้าที่เป็นผู้ชาย ก็ได้รับการปรับเวลาการทำงานในระหว่างวัน และให้เปลี่ยนไปทำงานที่ไม่ต้องเร่งรัดให้เสร็จทันเวลา

เมื่อมีแนวทางการช่วยเหลือพนักงานวัยทองอย่างจริงจัง พนักงานที่คิดจะลาออกก็ลดจำนวนลง และพนักงานที่ขาดงานก็ลดลงด้วย มิหนำซ้ำกลับมีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ได้ผลดีทั้งสองฝ่ายคือ บริษัทและพนักงาน

ในอังกฤษกำลังดำเนินการกำหนดระเบียบบังคับด้านกฎหมายแรงงาน ห้ามสถานประกอบการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้มีอาการวัยทองด้วย ให้ความรู้ ความเข้าใจ แก่นายจ้าง มีการจัดตั้งหน่วยงานให้คำแนะนำผู้ที่มีอาการวัยทอง ให้ความช่วยเหลือด้านการรักษา

รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังตื่นตัวในเรื่องเดียวกันนี้เช่นกัน ในปีงบประมาณนี้ จะเร่งทำการสำรวจจำนวนประชาชนทั้งชายและหญิงที่ต้องเผชิญภาวะวัยทอง และผลกระทบที่มีต่องานประจำวันที่ทำ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นาย ฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ด้านงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร โดยตระหนักดีว่า สตรีต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรและยังต้องทำงานนอกบ้านด้วย เพื่อให้สตรีสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ มีชีวิตชีวาและแข็งแรง การช่วยให้สตรีทุกคนมีสุขภาพดีไปตลอดอายุขัยจึงเป็นมาตรการสำคัญยิ่งของรัฐบาล

อย่างนี้ก็อุ่นใจได้ คนวัยทองจะอยู่รับวัยไม้ใกล้ฝั่งให้ได้…