เทศมองไทย : “ธงแดง” กับการท่องเที่ยวไทย

“ธงแดง” คือเครื่องหมายแสดงความกังวลต่อ “มาตรฐานความปลอดภัย” ในอุตสาหกรรมการบินของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอเคโอ หน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานด้านการบินพลเรือนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครมอนเทรออล ประเทศแคนาดา แสดงเอาไว้ประกอบกับรายชื่อประเทศสมาชิก

ไทยถูกติด “ธงแดง” เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2015 หลังจากทีมตรวจสอบของไอเคโอ พบว่ามาตรฐานความปลอดภัยในการกำกับดูแลสายการบินพลเรือนในประเทศไทยมีข้อชวนให้เกิดความกังวลต่อความปลอดภัยทางการบิน “อย่างมีนัยสำคัญ” ถึง 33 ประการด้วยกัน

ผลของการติดธงแดง กระทบต่อกิจการการบินพาณิชย์โดยรวมทั้งหมด ด้วยเหตุที่ว่า สายการบินต่างๆ ในไทย ทั้งไม่สามารถเปิดเส้นทางการบินใหม่ นอกเหนือจากเส้นทางการบินเดิมที่บินประจำแล้ว สายการบินเหล่านั้นยังต้องถูกตรวจสอบด้านความปลอดภัยเข้มข้นมากกว่าปกติด้วยอีกต่างหาก

บางประเทศที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ก็ถึงกับห้ามสายการบินจากไทยบินเข้า-ออกประเทศตนอีกด้วย

 

ความปลอดภัยทางการบิน มีนัยสำคัญมากเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทย ด้วยเหตุที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ คือหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล มีสัดส่วนสูงถึงราว 12 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในเวลานี้ทั้งหมด

เป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน

ไทยใช้เวลากว่า 2 ปี ดำเนินมาตรการตามข้อเสนอแนะ รวมทั้งคำแนะนำของไอเคโอ จนปลด “ธงแดง” ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งก็กลายเป็นรายงานข่าวไปทั่วโลก ตอกย้ำนัยสำคัญของเรื่องนี้ให้เห็นอีกครั้ง

โอลิเวอร์ สมิธ บรรณาธิการข่าวท่องเที่ยวของเทเลกราฟ แห่งอังกฤษ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนที่นั่น เขียนถึงเรื่องนี้ในทันทีที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ ในวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา

อ้างถ้อยแถลงของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เอาไว้ด้วยว่า การปลดธงแดงถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ พร้อมประกาศจะ “ดำเนินภารกิจต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงมาตรฐานการบินพลเรือนให้ดีขึ้น” อย่างต่อเนื่องต่อไป

ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่น่าสนใจในข้อเขียนของ โอลิเวอร์ สมิธ ที่ว่า ในอดีตที่ผ่านมาในเรื่องของความปลอดภัยทางการบินนั้น ไทยเราอยู่ในสภาพ “ลุ่มๆ ดอนๆ” มาตลอด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ แม้ว่าไอเคโอจะปลด “ธงแดง” เรียบร้อยแล้ว ไทยก็ยังต้องทำอะไรอีกหลายอย่างมาก เพื่อปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินให้ก้าวทันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอื่นๆ ที่รุดหน้าไปไกลมากแล้ว

 

ไม่นานหลังจากที่ไอเคโอติดธงแดงให้กับไทย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) ก็ลด “เกรด” สายการบินของไทยทั้งหมดจาก “แคเทกอรี 1” ลงมาสู่ “แคเทกอรี 2” ห้ามเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ไปสู่จุดหมายปลายทางในสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังคงอยู่เช่นนั้นจนถึงขณะนี้

แม้ โอลิเวอร์ สมิธ จะเห็นว่าการตัดสินใจปลดธงแดงของไอเคโอ คงนำไปสู่การที่สหรัฐอเมริกาจะ “อัพเกรด” สายการบินของไทยทั้งหลายกลับไปสู่ระดับ 1 เหมือนเดิมในอีกไม่ช้าไม่นานก็ตาม

โอลิเวอร์ สมิธ ยังเตือนด้วยว่า “แอร์ไลน์เรตติ้งดอตคอม” ซึ่งเป็นเว็บไซต์อิสระในด้านความปลอดภัยทางการบิน ซึ่งประเมินและจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสายการบินทั่วโลกมากกว่า 400 สายการบิน โดยให้ “ดาว” แก่สายการบินเหล่านั้น มากที่สุด 7 ดาวสำหรับสายการบินที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด

ในการสำรวจตรวจสอบหลังสุดเมื่อเดือนมกราคม 2017 ที่ผ่านมา มีเพียง 148 สายการบินเท่านั้นได้รับการยอมรับให้เป็นสายการบิน 7 ดาว ในขณะที่มีอีกเกือบ 50 สายการบินที่มีดาวเพียง 3 ดวงหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งจัดอยู่ในระดับความปลอดภัยปานกลางจนถึงต่ำ

สายการบินของไทย ที่มีดาวมากที่สุดเป็นการบินไทย ก็แค่ 4 ดาว ที่เหลือส่วนใหญ่เป็น 3 ดาว มี 2 ดาวอยู่ 1 สายการบิน

แม้ว่าจะไม่มีสายการบินใดของไทยกลายเป็น “สายการบินดาวเดียว” เหมือนกับ 14 สายการบินจากอัฟกานิสถาน, อินโดนีเซีย, เนปาล และสุรินาเม ก็ตาม แต่นี่ก็ไม่ใช่มาตรฐานความปลอดภัยทางการบินที่น่ายินดีเท่าใดนัก และจำเป็นต้องปรับปรุงให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นในอนาคต

งานด้านความปลอดภัยทางการบิน จะเรียกว่าเป็นภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุดก็คงได้กระมังครับ