ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ชัชชาติบนเส้นทางสู่ประชาธิปไตย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

เข้าเดือนสามแล้วที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และถึงแม้หน้าฝนจะทำให้กรุงเทพฯ น้ำท่วมจนฝ่ายตรงข้ามได้โอกาสแซะชัชชาติไม่หยุด การโจมตีกลับไม่มีผลให้ความนิยมที่คนกรุงเทพฯ มีต่อชัชชาติลดลง หรือถ้ามีก็คงเป็นสัดส่วนที่น้อยมากจนไม่มีใครมองเห็นเลย

แน่นอนว่าคำกระแหนะกระแหนชัชชาติโดย ‘ป๋าเทพ’ เทพ โพธิ์งาม เลอะเทอะจนไม่มีราคา แต่ที่จริงเนื้อหาแบบที่ ‘ป๋าเทพ’ พูดนั้นมีการเผยแพร่ในหมู่ กปปส.และผู้สนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มาต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่มีคนกล้าพูดตรงๆ แบบที่ ‘ป๋าเทพ’ พูดออกมาเท่านั้นเอง

ล่าสุด ‘เสรี วงษ์มณฑา’ ก็ออกมาโพสต์ข้อความแดกดันชัชชาติด้วยประเด็นเดียวกับ ‘ป๋าเทพ’ ซึ่งสรุปสั้นๆ ก็คือชัชชาติไม่เก่ง ไม่มีผลงาน ดีแต่พูด เอาแต่สร้างภาพ

และอย่างเดียวที่เสรียังไม่พูดอย่างที่ป๋าเทพพูดก็คือคนสนับสนุนชัชชาติโง่ๆ เซ่อๆ แห่ตามดูไลฟ์โดยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร

คําถามคืออะไรทำให้คนกรุงเทพฯ สนับสนุนชัชชาติมากจนการปลุกปั่นแบบนี้ไม่มีผลอะไร มิหนำซ้ำยิ่งนานกระแสความนิยมชัชชาติยิ่งลามไปจังหวัดต่างๆ จนหลายจังหวัดอยากได้ผู้ว่าฯ แบบชัชชาติ ต่อให้จะมีเพียงไม่กี่จังหวัดที่เริ่มมีการพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรงก็ตาม

ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ ที่คืนความสุขให้กับประชาชน และตรงข้ามกับคุณประยุทธ์ที่บอกว่าจะใช้อำนาจแบบเผด็จการทำแบบนี้ตั้งแต่ปี 2557 ชัชชาติคืนความสุขให้คน กทม.โดยสร้างเมืองที่มีเสรีภาพจนทุกคนแสดงออกในพื้นที่สาธารณะได้แบบที่ไม่เคยเป็นหลังปี 2557 ถึงแม้จะไม่รวมเรื่อง 112 ก็ตาม

เฟซบุ๊กไลฟ์คือเรื่องที่ฝ่ายต่อต้านชัชชาติโจมตีมากที่สุดว่าเอาแต่ไลฟ์โดยไม่ทำอะไร แต่คนที่ดูไลฟ์จริงๆ ก็จะพบว่าเนื้อหามีแต่เรื่องวิ่งและเรื่องงาน ปัญหาของไลฟ์จึงไม่ใช่เรื่องชัชชาติไม่ทำอะไร แต่ไลฟ์ทำให้เห็นว่าชัชชาติทำอะไรมากขึ้น เป็นผู้ว่าฯ ที่ทำงานทางใดทางหนึ่งเพื่อ กทม.เกือบ 24 ชั่วโมง

ตรงข้ามกับเน็ตไอดอลหรือแม่ค้าออนไลน์ที่ไลฟ์โดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ชัชชาติไลฟ์แทบทุกครั้งโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของเรื่องเกือบตลอด ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เป็นคนตัวเป็นๆ หรือประชาชนที่ประสบปัญหาด้านใดด้านหนึ่งจากการทำงานของ กทม.

สามเดือนที่ชัชชาติทำงานคือสามเดือนที่ชัชชาติเล่าชีวิตคนธรรมดาไว้มากมาย ตัวละครที่เล่ามีตั้งแต่พนักงานเก็บขยะผู้ซื่อสัตย์ที่พหลโยธิน, เจ้าหน้าที่สูบน้ำทำงาน 24 ชั่วโมงสู้น้ำท่วมแถบพัฒนาการ, เจ้าของเรือหางยาวคลองแสนแสบ, คนขับสาย 8 ฯลฯ โดยไม่มีชนชั้นนำหรือผู้มีอันจะกินเลย

นอกจากตัวละครจะเป็นคนธรรมดา ไลฟ์ชัชชาติยังมีแกนเรื่องเป็นชีวิตคนธรรมดาด้วย ชัชชาติไลฟ์ชีวิตคนตึกแถวริมถนน, แม่ค้าตลาดนัด, ร้านคาราโอเกะน้ำเข้าบ้าน, เด็กที่คลองหลังบ้านเหม็นเน่า, คนเดินถนนที่รถขับน้ำกระเด็นใส่จนเปียก

แม้แต่ชัชชาติเองก็ยังอุทานไอ้ห่าหลังโดนแบบนี้บ่อยไป

คุณทักษิณ ชินวัตร เคยบอกว่าคุณประยุทธ์ถูกทุกคนเกลียดทั้งที่ใช้งบประมาณประเทศโฆษณาตัวเองนับร้อยล้าน ส่วนชัชชาติแค่ไลฟ์ก็มีคนตามทั้งประเทศ แต่คุณทักษิณยังไม่เข้าใจถึงจุดที่ตระหนักว่าสาเหตุที่ทำให้คนติดตามชัชชาติคือชัชชาติเล่าทุกเรื่องและทุกตัวละครที่ตอกย้ำความสำคัญคนธรรมดา

ไม่ว่าชัชชาติจะตั้งใจหรือไม่ ไลฟ์ชัชชาติคือการสร้างชุมชนเสมือนจริงของผู้สนับสนุนทางการเมืองที่เหนียวแน่นมากพอจะมาดูชัชชาติวิ่งเฉยๆ หรือลุยน้ำท่วมนับหมื่นคน ยิ่งกว่านั้นคือเนื้อหาของสิ่งที่ชัชชาติทำยังถูกเผยแพร่ในสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเกิดกับนักการเมืองคนไหนเลย

หนึ่งในคำที่ชัชชาติพูดบ่อยในการแสดงวิสัยทัศน์เวทีต่างๆ คือ “แพลตฟอร์ม” และทุกวันนี้ไลฟ์ชัชชาติได้กลายเป็นแพลตฟอร์มการเมืองและการบริหารไปแล้ว คนตามไลฟ์ชัชชาติคือคนที่พร้อมเป็นผู้สนับสนุนทางการเมืองชัชชาติช่องทางอื่น ส่วนชัชชาติเองก็ใช้ไลฟ์ผลักดันการทำงานด้วยเช่นกัน

ควรระบุด้วยว่าชาวบ้านไม่ได้ดูไลฟ์ชัชชาติแบบผู้ตามที่เฉื่อยชา หลายกรณีชาวบ้านใช้ไลฟ์สื่อสารปัญหาตัวเองตั้งแต่ทางเท้าพัง, เทศกิจไถ, รถเมล์มีน้อย, ไรเดอร์ไม่มีที่จอดรับของ, น้ำท่วมขัง, เขตเอาเครื่องสูบน้ำไปจนน้ำท่วม ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดเป็นการกดดันให้ระบบราชการแก้ปัญหาโดยตรง

แม้ชัชชาติในฐานะผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งจะไม่พูดคำว่า “กระจายอำนาจ” หรือ “ปฏิรูประบบราชการ” แต่วิธีทำงานที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางทำให้ข้าราชการต้องปรับตัวหมด การลงพื้นที่ทุกวันอาทิตย์หรือเปิดสวนสาธารณะเป็นตีสี่ครึ่งหมายถึงการเปลี่ยนวิธีคิดของข้าราชการไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

ถึงชัชชาติจะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการ กทม. แต่ข้อเท็จจริงคือคำสั่งไม่สามารถเปลี่ยนข้าราชการที่ทำงานตามความเคยชินให้ทำงานตามประชาชนได้ ความฉลาดของชัชชาติเรื่องนี้คือชัชชาติดึงกลุ่มต่างๆ ในสังคมให้สนับสนุนการทำงานโดยแทบไม่ต้องพึ่งระบบราชการ กทม.เลย

ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ชัชชาติทำงานร่วมกับ “ภาคี” ที่เป็นประชาชนอิสระ, นักธุรกิจ, ประชาสังคม, เอ็นจีโอ และข้าราชการหน่วยงานอื่นๆ มากจนเหลือเชื่อ

ยิ่งกว่านั้นคือชัชชาติสร้างความร่วมมือกับหลายองค์กรที่คนบ้าการเมืองถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามอย่าง สสส., ทีดีอาร์ไอ และองค์กรต้านโกง

ควรสังเกตว่าชัชชาติและ “ภาคี” ล้วนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายบังคับให้ทำงานร่วมกัน นั่นเท่ากับชัชชาติประสบความสำเร็จในการดึงคนเหล่านี้มาร่วมงานโดยไม่ต้องใช้อำนาจ

หรืออีกนัยคือชัชชาติโมเดลเป็นตัวอย่างของการทำงานแนวราบที่สร้างผลงานได้โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจบังคับบัญชา

เหตุผลที่ความสนับสนุนชัชชาติขยายตัวไปเรื่อยๆ ก็เพราะคนจำนวนมากเชี่อว่าชัชชาติทำงานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเหตุผลที่คนเชื่อว่าชัชชาติมีประชาชนเป็นศูนย์กลางก็เพราะชัชชาติทำงานทุกอย่างราวกับเป็นจิ๊กซอว์ของภาพใหญ่เรื่องนี้ทั้งหมดตลอดเวลา

ตรงข้ามกับ “ป๋าเทพ” หรือ “เสรี วงษ์มณฑา” ที่พูดจาด้วยน้ำเสียงดูหมิ่นผู้สนับสนุนชัชชาติว่าเป็นพวกไม่รู้เรื่องรู้ราว

ชัชชาติไลฟ์สร้างการเมืองแบบแพลตฟอร์มจนมีผู้สนับสนุนมากถึงขั้นที่สามารถผลักดันให้เกิดงานต่างๆ ที่ทำให้คนกรุงเทพฯ มีความสุขโดย กทม.แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

หนังกลางแปลงและดนตรีเป็นกิจกรรมที่ทำให้ชัชชาติเชื่อมโยงกับประชาชนมากจนอัศจรรย์ เพราะไม่เพียงผู้เข้าร่วมแต่ละงานจะเยอะจนเกินคาด ภาพผู้ว่าฯ ร่างบึกบึนกระโดดเต้นตามจังหวะสามช่าสนั่นฮอลล์พร้อมเด็กๆ ยังกระแทกใจคนจน เป็นหนึ่งในภาพจำชัชชาติที่จะติดตัวไปอีกนาน

ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ ที่สนใจปัญหาคนจนเมือง และถึงแม้อดีตผู้ว่าฯ ทุกคนจะขยันลงชุมชนช่วงที่ต้องการคะแนนเสียงประชาชน ชัชชาติคือผู้ว่าฯ คนแรกที่ลงชุมชนแม้ในวันที่ยังไม่ประกาศเลือกตั้ง มิหนำซ้ำทีมงานชัชชาติหลายคนยังเป็นคนที่ทำงานเรื่องชุมชนและคนจนเมืองมายาวนานจริงๆ

กรุงเทพฯ คือเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะน้อยเกินไป ส่วนพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจล้วนเป็นห้าง, ร้านอาหาร หรือย่านคนมีเงินแทบทั้งสิ้น คนจนหรือคนชั้นกลางจำนวนมากจึงมีชีวิตในเมืองตามห้องเช่าพื้นที่ไม่เกิน 20 ตารางเมตร ขณะที่โรงหนัง, สวนสาธารณะ และดนตรีเป็นของฟุ่มเฟือยตลอดเวลา

ยิ่งทหารยึดอำนาจในปี 2557 พื้นที่สาธารณะใน กทม.ยิ่งถูกทำลายด้วยเหตุผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลานพระรูป, สนามหลวง หรือสวนสัตว์เขาดิน ส่วนการรวมตัวในพื้นที่สาธารณะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายแทบทั้งหมด สุดแท้แต่ผู้มีอำนาจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่เท่านั้นเอง

ไม่ว่าผู้มีอำนาจที่ทำแบบนี้จะตั้งใจหรือไม่ สารที่ผู้มีอำนาจส่งคือเมืองไม่ใช่ของประชาชน กทม.คือเมืองที่คนซึ่งคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของเมืองจะประกาศกติกาการใช้พื้นที่เมืองอย่างไรก็ได้ และการละเมิดกติกาที่ผู้มีอำนาจตั้งตามใจชอบเป็นความผิดทุกกรณี

ทันทีที่ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม. ภารกิจแรกที่ชัชชาติทำคือประกาศพื้นที่ให้ประชาชนชุมนุมได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือการตอกย้ำว่าชุมนุมนอกพื้นที่ไม่มีความผิด จากนั้นคือการเดินขบวนกับกลุ่ม LGTBQ และการจัดแสดงดนตรีในสวนกับหนังกลางแปลง

ด้วยการทำงานแบบนี้ของชัชชาติ เมืองที่อยู่ใต้อุ้งมือผู้มีอำนาจกลายเป็นเมืองที่ประชาชนใช้สอยได้มากขึ้น จะชุมนุมประท้วงหรือเดินขบวนก็ได้ หรือแม้แต่จะรวมตัวเพื่อดูหนังฟังเพลงฟรีในพื้นที่สาธารณะก็ได้เช่นกัน

ชัชชาติพูดหลายครั้งว่าอยากทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน และคนกรุงเทพฯ จำนวนมากก็รู้สึกว่าชีวิตในเมืองมีความสุขขึ้นเมื่อชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ

ความสุขมาจากการคืนเมืองให้ประชาชนยิ่งกว่าในอดีตที่เมืองถูกใช้เพื่อแสดงอำนาจบาตรใหญ่จนเป็นเหมือนคุกที่มองไม่เห็นตลอดเวลา

ชัชชาติกำลังเปลี่ยนกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ ซึ่งในที่สุดจะมีผลต่อการเปลี่ยนประเทศไทยในระยะยาว